แบงก์-นอนแบงก์
แบงก์กรุงไทยจับมือกรมทางหลวงให้บริการระบบเก็บเงินอัตโนมัติบนมอเตอร์เวย์


แบงก์กรุงไทยจับมือกรมทางหลวง ให้บริการระบบเก็บเงินอัตโนมัติบนมอเตอร์เวย์ ด้วยบัตร M-PASS สำหรับทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (Motorway) สาย 7 กรุงเทพฯ – ชลบุรี และถนนวงแหวนตะวันออก สาย 9 บางนา – บางปะอิน ลดปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณหน้าด่าน เริ่มวันที่ 31 กรกฎาคมนี้

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การพัฒนาระบบเก็บเงินค่าผ่านทางอัตโนมัติ ถือเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ ในด้านยุทธศาสตร์การยกระดับความคล่องตัว เพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองและการเพิ่มขึ้นของปริมาณรถยนต์ ซึ่งจะช่วยพัฒนาระบบการจราจรและขนส่งให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น

นายชูศักดิ์ เกวี อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า กรมทางหลวง จะเปิดให้บริการระบบเก็บเงินอัตโนมัติด้วยบัตร M-Pass สำหรับทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (Motorway) สาย 7 กรุงเทพฯ – ชลบุรี และ ถนนวงแหวนตะวันออก  และ สาย 9 บางนา – บางปะอิน ในวันที่ 31 กรกฎาคมนี้ ตั้งแต่เวลา 00.01 น. เป็นต้นไป ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการและสามารถแก้ปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณหน้าด่านเก็บเงินได้ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลหรือวันหยุดยาวที่มีปริมาณรถสูงถึง 8,000 คัน/ชั่วโมง แต่ด่านเก็บเงิน สามารถระบายรถได้เฉลี่ยเพียง 400 คัน/ชั่วโมง/จุดบริการ เท่านั้น

แต่หากมีการนำระบบเก็บเงินอัตโนมัติด้วยบัตร M-PASS มาใช้ จะสามารถระบายรถได้ถึง 800 คัน/ชั่วโมง/จุดบริการ ซึ่งจะเพิ่มทางเลือกให้ผู้ใช้บริการในเส้นทางนี้ เดินทางได้สะดวก รวดเร็ว ยิ่งขึ้น นอกจากนี้ กรมทางหลวงยังจะประสานความร่วมมือกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เพื่อทำบันทึกข้อตกลงให้สามารถใช้บริการบัตรร่วมกันได้ในอนาคตอีกด้วย โดยตั้งเป้าว่าจะมีผู้ใช้บริการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองกว่าร้อยละ 30 เปลี่ยนมาใช้บัตร M-PASS

ส่วนการใช้งานระบบเก็บเงินอัตโนมัติด้วยบัตร M-Pass นั้นมีหลักการทำงานด้วยองค์ประกอบหลัก 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 เป็นระบบควบคุมการเก็บเงินอัตโนมัติซึ่งจะติดตั้งอยู่ที่ด่านเก็บเงินช่องขวาสุดของทุกด่าน ส่วนที่ 2 คือ บัตร M-PASS ใน 1 ชุด ประกอบด้วย TAG สำหรับติดหน้ารถ และบัตรสำหรับเติมเงินหรือซื้อสินค้าและบริการต่างๆ โดยมีขั้นตอนการทำงานคือ เมื่อรถวิ่งผ่านช่องเก็บเงินอัตโนมัติแล้วอุปกรณ์ที่ช่องจะตรวจสอบข้อมูลจาก TAG ที่ติดหน้ากระจกรถ หากข้อมูลถูกต้อง ระบบก็จะสั่งให้ไม้กั้นอัตโนมัติเปิดให้รถผ่านได้ โดยระบบจะหักยอดเงินใน TAG เป็นค่าผ่านทางตามอัตราที่กำหนด และแสดงอัตราค่าผ่านทางที่หน้าตู้เก็บเงินให้ผู้ใช้บริการทราบข้อมูล

ด้าน นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า การบริหารจัดการระบบเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติของกรมทางหลวงในครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งความร่วมมือเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้ลูกค้าและประชาชนและเสริมสร้างบริการที่มีคุณค่า ตามวิสัยทัศน์ KTB Growing Together โดยธนาคารได้เริ่มรับสมัครบัตร M-PASS ตั้งแต่วันที่ 7 กรกฏาคมที่ผ่านมา ในระยะแรกผ่านสาขาธนาคารกรุงไทยในห้างสรรพสินค้าทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงสาขาในนิคมอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่บริเวณใกล้กับทางหลวงพิเศษสาย 7 และสาย 9 จำนวน 54 สาขา และในระยะต่อไปลูกค้าสามารถขอสมัครบัตร M-PASS ได้ที่ทุกสาขาทั่วประเทศ รวมทั้งทาง KTB netbank ซึ่งธนาคารจะจัดส่งบัตร M-Pass ให้ลูกค้าทางไปรษณีย์ ซึ่งบัตรมีอายุ 5 ปี

บัตร M-PASS มีการแยก 2 กระเป๋าเงินที่ชัดเจนให้กับลูกค้า คือ กระเป๋าสำหรับชำระค่าผ่านทางและกระเป๋าสำหรับทำธุรกรรมทางการเงิน ทำให้ลูกค้าสามารถแยกใช้บริการตามแต่ละกระเป๋าเงิน สำหรับการเติมเงินในบัตร M-PASS ลูกค้าสามารถเติมเงินได้ 3 ช่องทาง ได้แก่ สาขากว่า 1,200 แห่ง ตู้เอทีเอ็ม 10,000 ตู้ทั่วประเทศ และช่องทาง KTB netbank โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม ซึ่งการเติมเงินสำหรับใช้เป็นค่าผ่านทาง เติมครั้งแรกไม่น้อยกว่า 1,000 บาท ครั้งถัดไปขั้นต่ำ 500 บาท และเพิ่มขึ้นทุกๆ 500 บาท สูงสุดไม่เกิน 5,000 บาทต่อครั้ง และจำกัดวงเงินรวมสูงสุดในบัตรไม่เกิน 10,000 บาท ส่วนการเติมเงินในกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) เพื่อใช้ทำธุรกรรมทางการเงินผ่านเครื่องเอทีเอ็มของธนาคารกรุงไทยและต่างธนาคาร หรือใช้ชำระค่าสินค้าบริการในร้านค้าที่มีสัญลักษณ์ VISA นั้น ขั้นต่ำ 100 บาท จำกัดการเติมเงินและถอนเงินสูงสุดไม่เกิน 30,000 บาท สำหรับยอดเงินคงเหลือในบัตร M-PASS ทั้งสองกระเป๋า ธนาคารกำลังพิจารณามอบผลตอบแทนให้กับลูกค้าผู้ถือบัตร โดยขณะนี้กำลังหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนดำเนินการต่อไป

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 16 ก.ค. 2558 เวลา : 14:34:29
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 9:55 am