แบงก์-นอนแบงก์
SME Bank ร่วมมือ บสย.ช่วย SMEs โครงการสินเชื่อดอกต่ำต่อสายป่านธุรกิจ


เอสเอ็มอีแบงก์ และ บสย. ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือภายใต้โครงการค้ำประกันสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ Policy Loan  ที่ช่วยเหลือลดภาระทางการเงินของผู้ประกอบการ SMEs ขนาดเล็กที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว โดยให้กู้ยืมในอัตราดอกเบี้ยต่ำเพียง 4% ในวงเงินรวม 15,000 ล้านบาท  บสย. ค้ำประกัน 18% ของยอดเงินให้สินเชื่อ คาด บสย.ใช้เวลาพิจารณา 3 วัน ก่อนสามารถเบิกจ่ายเงินได้ภายในกลางเดือนสิงหาคม 58 และเงินถึงมือ SMEs ราวสิ้นเดือนสิงหาคม


 

 

นางสาลินี วังตาล ประธานกรรมการ และ นายสุพจน์ อาวาส กรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) และนายญาณศักดิ์ มโนมัยพิบูลย์ ประธานกรรมการ และนายวัลลภ เตชะไพบูลย์ กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือภายใต้โครงการค้ำประกันสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ Policy Loan
 
โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ Policy Loan เป็นโครงการเพื่อตอบสนองต่อนโยบายรัฐบาลตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2558 ในการช่วยเหลือลดภาระทางการเงินของผู้ประกอบการ SMEs ขนาดเล็กที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว โดยให้กู้ยืมในอัตราดอกเบี้ยต่ำเพียง 4% และให้ บสย.เข้าค้ำประกันเพื่อลดความเสี่ยงของธนาคารผู้ปล่อยกู้ รวมถึงเพื่อเป็นการส่งเสริมผู้ประกอบ การ SMEs ที่จะส่งออก หรือไปลงทุนในต่างประเทศ อีกด้วย  สินเชื่อ  Policy Loan มีวงเงินรวม 15,000 ล้านบาท การค้ำประกันของ บสย. เป็นลักษณะ Portfolio Guarantee Scheme มีเพดานการค้ำประกันสูงสุด 18% ของยอดเงินให้สินเชื่อ
 
คณะกรรมการเอสเอ็มอีแบงก์  ได้กำหนดหลักเกณฑ์สินเชื่อ Policy Loan ดังนี้คือ  1.กรณีวงเงินกู้ไม่เกิน 1 ล้านบาท ลูกหนี้เป็น SMEs ขนาดเล็ก มักไม่มีหลักประกัน จึงให้บสย.ค้ำประกันทั้งจำนวน  2. กรณีวงเงินกู้มากกว่า 1 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 5 ล้านบาท ถ้าผ่านการคัดกรองจากหน่วยงานพันธมิตรที่เซ็น MOU กับเอสเอ็มอีแบงก์ ทาง บสย. จะค้ำประกันให้ทั้งหมด แต่ถ้ากรณีที่ไม่ผ่านการคัดกรองจากหน่วยงานพันธมิตร ให้ใช้ส่วนผสมโดยใช้หลักประกันตามเกณฑ์ปกติของธนาคาร 40% และ บสย. ค้ำประกัน 60% ของยอดสินเชื่อ  3. กรณีวงเงินมากกว่า 5 ล้านบาท ให้ใช้หลักประกันตามเกณฑ์ของธนาคาร
 
ทั้งนี้โครงการ Policy Loan สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ มีอัตราดอกเบี้ยในปีที่ 1 – 3 อัตราดอกเบี้ยเพียง 4% สำหรับวงเงินไม่เกิน 15 ล้านบาทแรก และปีที่ 4-5 วงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ย MLR ต่อปี และถ้าวงเงินเกินกว่า 5 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยตามเกณฑ์ของธนาคาร โดยมีระยะเวลาการกู้สูงสุดไม่เกิน 5 ปี และปลอดชำระหนี้เงินต้นสูงสุดไม่เกิน 6 เดือน
 
นอกจากนี้ ในส่วนของ บสย. จะยกเว้นค่าธรรมเนียมให้ผู้กู้ในปีแรก ส่วนปีที่ 2-3 เก็บค่าธรรมเนียม 1% ของวงเงินค้ำประกัน จากอัตราปกติที่เรียกเก็บ 1.75% โดยกระทรวงการคลังจะชดเชยส่วนที่ขาดให้ บสย. และในปีที่ 4 – 5 จะต้องให้ SMEs จ่ายค่าธรรมเนียมให้ บสย. ตามปกติ คือ 1.75 % ของวงเงินที่ค้ำประกัน
 

 

นางสาลินีกล่าวว่า ผู้ประกอบการ SMEs ให้ความสนใจโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยเป็นอย่างมาก โดยเพียงวันที 15 กค. 2558 ได้มี SMEs มาขอกู้แล้ว 1,217 ราย  รวมเป็นวงเงิน 6,185 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นการขอกู้ของ SMEs ที่ถูกผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ 3,897ล้านบาท (867 ราย) ส่วนที่เหลือเป็น SMEs ขนาดเล็กที่ประสงค์ค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้าน
 
"คาดว่ากระบวนการพิจารณาของบสย.จะไม่เกิน 7-10 วัน ก่อนสามารถเบิกจ่ายเงินได้ ก่อนสามารถเบิกจ่ายเงินได้ภายในกลางเดือนสิงหาคมและเงินถึงมือ SMEs ราวสิ้นเดือนสิงหาคม58 ส่วนดอกเบี้ย 4% ให้กับผู้กู้ไม่เกิน 15 ล้านบาทเท่านั้น"
 
ด้านนายญาณศักดิ์กล่าวว่า " ความร่วมมือในโครงการดอกเบี้ยต่ำนี้จะทำให้ SMEs จะสามารถไปค้ากับต่างประเทศได้ สู้ได้เพราะมีต้นทุนการผลิตและด้านการเงินต่ำและช่วยให้SMEs ผ่านไปได้ กระบวนการของบสย.ที่คุณสาลินีพูดถึงที่ 7-10 วันนั้นจะพยายามทำให้แล้วเสร็จใน 3 วัน ส่วนโอกาสในการขยายวงเงินหลังการเสร็จสิ้นรับคำขอในสิ้นปี 2558 เป็นไปได้ว่า รัฐอาจจะขยาย แต่ยังไม่มั่นใจว่า จะดำเนินการกันทันหรือไม่ เนื่องจากมีSMEs ขอเข้ามาจำนวนมาก
 
สำหรับภาพรวมของธุรกิจ SMEs ในครึ่งหลังของปี 2558 ยังไม่ดีนัก เพราะแม้จะค้าขายได้แต่ยังไม่มากพอ บทบาทของบสย.ทำหน้าที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับธนาคาร เพราะเม็ดเงินที่ลงไปที่ SMEs จะมีผลต่อเศรษฐกิจ ในขณะที่ยอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ NPLs ในครึ่งแรกของปี 2558 ยังไม่สูงมาก แต่ต้องดูแลให้ควบคุมค่าใช้จ่าย ซึ่งบสย.ค้ำประกันสินเชื่อให้เป็นเวลา 5-7 ปี  สำหรับ NPLs ทั้งปีคาดว่าจะอยู่ที่ 3% "

นอกจากนี้ นายญาณศักดิ์ยังกล่าวถึงกรณีที่การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันอังคาร(14ก.ค.58) ได้มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนออนุมัติการปรับปรุงหลักเกณฑ์ และวิธีปฏิบัติในการค้ำประกันสินเชื่อโครงกา รPortfolio Guarantee Scheme (PGS) ระยะที่ 5  ที่กรณีเกิดปัญหาหนี้เอ็นพีแอล ให้ บสย. ค้ำประกันเพิ่มจากร้อยละ 18 ของวงเงินสินเชื่อโครงการ เพิ่มเป็นร้อยละ 30 ของวงเงินค้ำประกันรวมว่า ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)ซึ่งหากยังไม่ดี คงต้องปรับต่อไป  
 
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ ครม. มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนออนุมัติการปรับปรุงหลักเกณฑ์ และวิธีปฏิบัติในการค้ำประกันสินเชื่อโครงการ Portfolio Guarantee Scheme (PGS) ระยะที่ 5  โดยอนุมัติวงเงินงบประมาณเพื่อดำเนินการตามโครงการ PGS ระยะที่ 5 เพิ่มเติมอีกจำนวน 3,805 ล้านบาท และให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เบิกจ่ายตามภาระที่เกิดขึ้นจริงโดยทำความตกลงกับสำนักงบประมาณต่อไป
 
สาระสำคัญในการดำเนินการปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติในการค้ำประกันสินเชื่อโครงการ PGSระยะที่ 5 โดยกำหนดกรอบวงเงินค้ำประกันตามเงื่อนไขเดิมของโครงการ PGS ระยะที่ 5 ไว้ที่จำนวน 2 หมื่นล้านบาท รัฐบาลเป็นผู้รับภาระค่าธรรมเนียมแทนผู้ประกอบการ SMEs ในปีแรก
 
ขณะเดียวกันได้ดำเนินการปรับเงื่อนไขโครงการ PGS ระยะที่ 5 ในวงเงินส่วนที่เหลือจากโครงการ PGS กรอบวงเงินค้ำประกันจำนวนไม่เกิน 80,000 ล้านบาท
 
โดยเงื่อนไขที่ปรับปรุงใหม่กำหนดให้ธนาคารที่เข้าร่วมโครงการคิดอัตราดอกเบี้ยให้แก่ผู้ประกอบการในอัตราไม่เกิน MLR +2 และเพิ่มเงื่อนไขว่า เอสเอ็มอีต้องได้รับการตรวจสอบเครดิตบูโรแล้วเป็นลูกหนี้ปกติตามเกณฑ์ข้อกำหนดของธนาคารแห่งประเทศไทย สามารถกู้เงินไปชำระหนี้กับสถาบันการเงินเดิม (รีไฟแนนซ์) ได้ หรือนำไปใช้ในกิจการได้ โดยไม่ต้องนำเงินกู้ที่ได้ไปลงทุนใหม่เพียงอย่างเดียวตามเงื่อนไขที่เคยกำหนดไว้
 
ขณะเดียวกันการจ่ายเงินชดเชยของ บสย. หากเกิดความเสี่ยงจากปัญหาหนี้เอ็นพีแอล จากการปล่อยสินเชื่อทั้งโครงการทั้งพอร์ตสินเชื่อ บสย. จะค้ำประกันเพิ่มจากร้อยละ 18 ของวงเงินสินเชื่อโครงการ เพิ่มเป็นร้อยละ 30 ของวงเงินค้ำประกันรวม เพื่อลดความเสี่ยงของสถาบันการเงิน
 
ส่วนกรณีการจ่ายค่าชดเชย บสย.ต้องจ่ายชดเชยตามภาระค้ำประกันในแต่ละรายในสัดส่วนร้อยละ 70 ของภาระค้ำประกัน โดยสถาบันการเงินรับภาระร้อยละ 30 เป็นส่วนที่เหลือ จากเดิม บสย.รับภาระทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์เต็ม โดยรัฐบาลชดเชยภาระค่าธรรมเนียมในปีแรกให้ผู้ประกอบการ วงเงิน 1,400 ล้านบาท และชดเชยค่าประกันตลอดอายุสัญญา 7,000 ล้านบาท
 
ส่วนระยะเวลาดำเนินโครงการจะขยายไปอีก 1 ปี จากที่สิ้นสุดเวลารับคำขอค้ำประกันวันที่ 31 ธ.ค. 58 เป็นวันที่ 31 ธ.ค.59
 

 

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 21 ก.ค. 2558 เวลา : 12:51:36
23-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 23, 2024, 3:17 pm