เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
"เศรษฐกิจไทยยังโคม่า" แห่ลดเป้า GDP


ย่างเข้าสู่ไตรมาส 3 ของปีนี้แล้ว แต่เศรษฐกิจไทยยังไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างที่ผู้นำรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้คาดการณ์ไว้ เห็นได้จากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแห่งที่ได้ปรับลดการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลง

 

โดย นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสศค. เปิดเผยว่า ทาง สศค.ได้ปรับประมาณการไทยในปี 2558 เหลือ 3% จากเดิมที่คาดการณ์ว่า ขยายตัวได้ 3.7% เนื่องจากการส่งออกของไทยคาดการณ์ว่าจะติดลบ 4% ในปีนี้ จากเดิมขยายตัวได้ที่ 0.2% ซึ่งเป็นผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลง เหลือเพียง 6.9% จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัวได้ที่ 7%

ส่วนปัจจัยบวกของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ยังมาจากภาคการท่องเที่ยวที่จะขยายตัวได้ดี โดยคาดการณ์ว่า จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามายังประเทศไทยประมาณ 29.9 ล้านคน และการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ จะเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้

 

ทิศทางการส่งออกที่ลดลงของ สศค. สอดคล้องกับมุมมองของกระทรวงพาณิชย์ ที่ นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยเดือน มิ.ย.2558 ยังคงขยายตัวอยู่ในแดนลบ โดยมีมูลค่า 18,161.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 7.87% การนำเข้ามีมูลค่า 18,011.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 0.21% ไทยเกินดุลการค้า 150 ล้านเหรียญสหรัฐ

การส่งออกเดือน มิ.ย.ที่ลดลง 7.87% เป็นการติดลบเป็นเดือนที่ 6 นับจากเดือน ม.ค.2558 และติดลบมากสุดในรอบ 3 ปี 6 เดือน นับจากเดือน ธ.ค.2554 ที่ติดลบ 8.15%

สาเหตุที่ทำให้การส่งออกในเดือน มิ.ย.ลดลง เนื่องจากสินค้าอุตสาหกรรมส่งออกลดลง 7.7% เป็นผลมาจากการส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกอันดับหนึ่งของไทย ลดลงถึง 19.1% จากการลดลงของการส่งออกรถกระบะที่ติดลบ 48.3% เพราะการเปลี่ยนรุ่น แต่รถยนต์นั่งยังเติบโต 0.4% ส่วนสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรลดลง 4.1% จากการลดลงของข้าว 21.1% อาหารทะเลแช่แข็งลดลง 10.5% กุ้งสดแช่แข็งและแปรรูปลดลง 22.1% น้ำตาลทรายลดลง 12.3% แต่ยางพาราซึ่งเป็นสินค้าส่งออกอันดับหนึ่งในกลุ่มเกษตรกลับมาเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 18 เดือน โดยเพิ่มขึ้น 4.4%


 

ขณะเดียวกัน Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ก็ออกบทวิเคราะห์ โดยคาดการณ์ว่า มูลค่าการส่งออกไทยปีนี้จะหด ตัวลงต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โดยการส่งออกไทยได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ การถูกตัดสิทธิพิเศษ GSP ในทุกหมวดสินค้าจากสหภาพยุโรป

อีกทั้งการย้ายฐานการผลิตของกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ออกจากประเทศไทยหลัง ค่าแรงในประเทศปรับสูงขึ้นและทำให้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้าน ราคาซึ่งกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบระยะยาวต่อการส่งออก

 

ทั้งนี้ ปัจจัยที่จะช่วยพยุงการส่งออกของไทยในระยะต่อไปของปีนี้ไม่ให้หดตัวลงรุนแรง จะมาจากทิศทางค่าเงินบาทที่อ่อนลง ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการส่งออกสินค้าที่มีการแข่งขันด้านราคาสูงโดยเฉพาะอย่าง ยิ่งสินค้าเกษตร อีกทั้ง ผลของฐานราคาน้ำมันที่จะกลับมาอยู่ในระดับปกติในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 29 ก.ค. 2558 เวลา : 07:29:46
27-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 27, 2024, 3:40 am