เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
"ท่องเที่ยวไทย" หลังเหตุระเบิดราชประสงค์


หลังเกิดเหตุระเบิดที่แยกราชประสงค์ เมื่อค่ำวันที่ 17 ส.ค. ที่ผ่านมา จนมีผู้เสียชีวิตถึง 20 ศพ และมีผู้ที่ได้รับบาดเจ็บกว่า 108 คน ซึ่งผู้ที่เสียชีวิตมีทั้งที่เป็นคนไทยและชาวต่างประเทศ เหตุการณ์ดังกล่าวจึงนับได้ว่าสร้างความเสียหายให้กับประเทศเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะธุรกิจการท่องเที่ยวที่ปัจจุบันเป็นเครื่องจักรที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปีนี้

 

ซึ่งหลังเกิดเหตุความรุนแรง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ออกมาตรการดูแลนักท่องเที่ยวทันที โดย นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ยอมรับว่า เหตุระเบิดดังกล่าวส่งผลกระทบด้านการท่องเที่ยว แต่ยังเร็วเกินไปที่จะประเมิน ซึ่งคงต้องติดตามสถานการณ์หลังจากนี้ และกระทรวงฯจะจัดตั้งวอร์รูมเพื่อประเมินสถานการณ์และดูแลนักท่องเที่ยวตลอด 24 ชั่วโมง และส่งอาสาสมัครไปประจำจุด เช่น สถานีรถไฟ เพื่ออำนวยความสะดวกและให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่นักท่องเที่ยว ตลอดจนแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ ที่น่าสนใจ ส่วนนักท่องเที่ยวที่บาดเจ็บและญาติที่มาเยี่ยมจะมีกองทุนเยียวยาให้

นอกจากนี้จะมีการทำงานร่วมกันทุกกระทรวง เพื่อประมวลสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ข้อมูลถูกต้อง เชื่อถือได้ อย่างเช่นกระทรวงสาธารณสุข ดูแลเรื่องค่ารักษาพยาบาลทั้งหมด กระทรวงมหาดไทย จะดูแลในส่วนของคนไทยที่บาดเจ็บ โดยกระทรวงการท่องเที่ยว พร้อมมอบเงินช่วยเหลือกรณีเสียชีวิต จำนวน 3 แสนบาท และกรณีค่ารักษาพยาบาลจ่ายตามจริงไม่เกิน 1 แสนบาท ในกรณีที่นักท่องเที่ยวเดินทางมากับบริษัทนำเที่ยว จะได้รับความคุ้มครองจากเงินประกันตามกรมธรรม์ประกันภัยเพิ่มเติม

 

ขณะที่ นายศุกรีย์ สิทธิวนิช รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ททท.ได้ประชุมศูนย์ปฏิบัติการวางแผนท่องเที่ยวและศูนย์ปฏิบัติการในภาวะวิกฤติ (ศวก.) เพื่อทำหน้าที่ประสานงานกับสื่อมวลชนไทยและต่างชาติ และติดตามสถานการณ์ข่าวระเบิดบริเวณแยกราชประสงค์ เพราะสื่อมวลชนไทยและสื่อต่างประเทศให้ความสนใจในเรื่องนี้จำนวนมาก ขณะเดียวกัน ททท. ได้ให้สำนักงานทั่วโลก ให้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นข้อเท็จจริง โดยจะยึดจากแถลงการณ์ที่เป็นทางการของกระทรวงการต่างประเทศเท่านั้น

ส่วนการออกคำแนะนำนักท่องเที่ยว ณ วันที่ 18 ส.ค. สถานเอกอัครราชทูต 23 ประเทศ ที่ออกคำแนะนำนักท่องเที่ยวสำหรับสถานการณ์ดังกล่าว โดยประเทศที่เตือนในระดับ 1 เพื่อให้รับรู้ว่ามีสถานการณ์เกิดขึ้นมี 1 ประเทศ ได้แก่ เนเธอร์แลนด์

เตือนระดับ 2 ให้ใช้ความระมัดระวังตนเองมี 12 ประเทศ ได้แก่ เดนมาร์ก สหรัฐฯ ไต้หวัน ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น เบลเยี่ยม สิงคโปร์ สวีเดน ออสเตรีย มาเลเซีย เกาหลีใต้

เตือนในระดับ 3 ให้ใช้ความระมัดระวังอย่างสูง 9 ประเทศ ได้แก่ สหราชอาณาจักร ไอร์แลนด์ อิตาลี รัสเซีย ออสเตรเลีย เยอรมนี นิวซีแลนด์ แคนาดา จีน

ส่วนระดับ 4 ทบทวนการเดินทาง มี 1 ประเทศ คือ ฮ่องกง (เฉพาะที่มากรุงเทพฯ)

สำหรับการเตือนระดับ 5 ที่ห้ามการเดินทางมาไทย ขณะนี้ยังไม่ปรากฏ

ขณะเดียวกัน สำนักข่าว REUTERS รายงานว่า องค์กรระหว่างประเทศและนานาชาติต่างประณามผู้ก่อเหตุระเบิดกลางกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2558 พร้อมแสดงความเห็นใจต่อเหยื่อและประเทศไทย โดย สภาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ประณามเหตุลอบวางระเบิดและกล่าวว่าสหรัฐฯ ได้ติดต่อกับทางการไทยอย่างใกล้ชิดระหว่างที่ทางการไทยอยู่ระหว่างสืบสวนข้อเท็จจริง

 

ด้าน นายบัน คีมูน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (UN) เผยว่า รู้สึกตกใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นและหวังว่าเจ้าหน้าที่จะสามารถนำตัวผู้ก่อเหตุมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ พร้อมกับแสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้สูญเสีย, ประชาชน และรัฐบาลไทย เช่นเดียวกับ สหภาพยุโรป (EU) ที่ออกมาแสดงความเสียใจต่อเหตุสลดครั้งนี้

ขณะที่ กระทรวงต่างประเทศจีน เผยว่า ทางการจีนได้ออกมาตรการรับมือเบื้องต้นหลังเกิดระเบิด เนื่องจากพื้นที่เกิดเหตุระเบิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชาวจีนเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นยังเรียกร้องให้สถานทูตจีนในไทยหาข้อเท็จจริงของเรื่องที่เกิดขึ้นและช่วยดูแลผู้บาดเจ็บในเหตุการณ์นี้ ส่วนกระทรวงต่างประเทศสิงคโปร์ก็ออกมาตำหนิเหตุอุกอาจครั้งนี้และขอให้ผู้บาดเจ็บอาการดีขึ้นโดยเร็ว


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 18 ส.ค. 2558 เวลา : 18:27:11
27-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 27, 2024, 4:23 am