แบงก์-นอนแบงก์
ธ.ก.ส.คาดสิ้นปี สินเชื่อโต 11.2% มั่นใจคุม "เอ็นพีแอล" ได้ เตรียมตั้งสำรอง 100%


นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธนาคารคาดว่าผลประกอบการสิ้นปีบัญชี 2558 (ณ 31 มี.ค.59) จะมีสินเชื่อขยายตัว 122,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.2% ด้านเงินฝากเพิ่มขึ้น 65,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นอัตรา 5.27% และจะมีผลกำไรสุทธิ 9,835 ล้านบาท ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (ROA) อยู่ที่ 0.70% บีไอเอสอยู่ระดับ 11.86%
   

ส่วนมติคณะรัฐมนตรีที่ให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ นำเงินส่งเข้ากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 0.18% ของเงินฝาก ส่งผลให้ธนาคารต้องนำเงินส่งเข้ากองทุนในปีนี้รวมทั้งสิ้น 1,690 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีมติ ครม. เรื่องให้ธนาคารนำเงินปันผลส่งเข้ากระทรวงการคลัง จากเดิมที่ใช้เงินปันผลสมทบเข้าเป็นเงินเพิ่มทุนว่า ธนาคารเตรียมส่งเงินปันผลปี 2557 เข้าเป็นรายได้แผ่นดินเป็นจำนวนกว่า 3,500 ล้านบาท
   

ทั้งนี้ แนวโน้มที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ เอ็นพีแอลที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ต้องตั้งสำรองสูงขึ้นประกอบกับการให้นำเงินปันผลส่งเข้าคลัง บีไอเอสของธนาคารจึงปรับลดลงเหลือ 11.86 % จากที่อยู่ที่ระดับ 13.15% เมื่อสิ้นปีบัญชีก่อน ซึ่งธนาคารได้ตั้งทีมพิเศษเพื่อศึกษาเรื่องการเพิ่มทุน เบื้องต้นสามารถทำได้ 3 แนวทางคือ1. การขอเงินงบประมาณแผ่นดิน  2.การขอเงินสนับสนุนจากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน และ3.การออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิ์ เพื่อเอามาเพิ่มเงินกองทุนขั้นที่ 2
  

ทั้งนี้ เชื่อว่าจากขนาดของทุนที่มีอยู่กว่า 119,000 ล้านบาท และมีเงินที่ตั้งสำรองไว้ถึง 210,000 ล้านบาท ประกอบกับเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่ 11.86% น่าจะเพียงพอต่อการดำเนินงาน 3- 5 ปี โดยที่ยังไม่มีความจำเป็นต้องเพิ่มทุนใหม่
   

อย่างไรก็ตาม จากการเข้าตรวจสอบฐานะทางการเงินของธปท. แนะนำให้ ธ.ก.ส. สำรองหนี้ที่อาจจะด้อยค่าในอนาคตเพิ่ม ขณะที่หนี้เอ็นพีแอลมีการสำรองไว้ครบ 100 % ส่งผลให้ธนาคารมีการตั้งสำรองไว้สูงกว่า 210,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงกว่าหนี้เสียที่มีอยู่ราว 60,000 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่า 3 เท่าตัว
  

สำหรับกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. จะเข้ามากำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐระยะที่ 1 รวมทั้งสิ้น 6 ด้าน ประกอบด้วย ด้านธรรมาภิบาล การดำรงเงินกองทุน การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง กระบวนการด้านสินเชื่อ การกำกับดูแลลูกหนี้รายใหญ่ และการบัญชี การเปิดเผยข้อมูลโครงการนโยบายรัฐ  โดยในช่วงที่ผ่านมา ธปท.ได้เข้ามาตรวจการดำเนินงานของ ธ.ก.ส. และได้ให้คำแนะนำเพื่อปรับปรุงการดำเนินงานของ ธ.ก.ส. ตามหลักเกณฑ์ของ ธปท.มาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ธ.ก.ส. จึงมีความพร้อมเข้าสู่หลักเกณฑ์ทั้ง 6 ด้านดังกล่าว โดยอาจมีการปรับเปลี่ยนวิธีปฏิบัติให้เหมาะสมบ้างเล็กน้อย

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 21 ต.ค. 2558 เวลา : 17:43:24
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 8:35 am