อสังหาริมทรัพย์
ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ ฟันธงช่วงโค้งสุดท้ายตลาดบ้านปรับตัวดีขึ้น


ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯมั่นใจตลาดอสังหาฯปีนี้โต 10% รับอานิสงส์มาตรการรัฐดันยอดขาย หวั่นปีหน้าตลาดกระเทือนอีกรอบหลังหมดมาตรการ จากราคาประเมินที่ดินเพิ่มและกฎหมายภาษีมรดก

 

นายสัมมา คีตสิน ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ไตรมาสสุดท้ายจะปรับตัวดีขึ้น หลังจากรัฐบาลออกมาตรกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่คาดว่าจะทำให้ตลาดรวมอสังหาริมทรัพย์ปีนี้เติบโตขึ้น10% ทั้งนี้จะทำให้ตลาดคึกคักไปจนถึงไตรมาสแรกปีหน้าด้วย

แต่ขอเตือนประชาชนผู้ซื้อบ้านในช่วงที่ใกล้จะหมดมาตรการเดือนเม.ย.ที่ผู้ซื้ออาจจะรีบร้อนโอนบ้านโดยไม่ได้ตรวจสอบการสภาพบ้านก่อนรับมอบให้ละเอียด เพราะกลัวว่าจะไม่ได้รับประโยชน์จากมาตรการรัฐฯ โดยในช่วงเดือนก.พ.- มี.ค. ศูนย์ข้อมูลฯ จะเตือนประชาชนในเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง

 

สำหรับช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา ตลาดรวมยังชะลอตัว โดยมีบ้านจัดสรรเปิดขายใหม่ 205 โครงการ จำนวนรวม 32,000 ยูนิต ลดลง 10% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีเปิดใหม่ 35,500 ยูนิต แต่มีโครงการเปิดใหม่ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาที่ 203 โครงการ โดยไตรมาส 3 มีโครงการเปิดใหม่ 70 โครงการ รวม 11,900 ยูนิต ด้านมูลค่าโครงการเปิดใหม่ รวม 127,000 ล้านบาท หรือ 70% ของมูลค่าโครงการทั้งปี 57 ที่ 181,500 ล้านบาท และเป็นที่น่าสังเกตว่า ปีนี้ ยังไม่มีบ้านราคาไม่เกิน 1 ล้านบาทเลย โดย 52% เป็นหน่วยราคาระหว่าง 1.1-3 ล้านบาท 27% ราคา 3.1-5 ล้านบาท และ 21% ราคาสูงกว่า 5 ล้านบาท

สำหรับคอนโดมิเนียมที่เปิดขายใหม่ 3 ไตรมาสนี้ ก็ชะลอตัวลงเช่นเดียวกัน โดยมีอาคารชุดเปิดขายใหม่ 105 โครงการ รวม 43,700 และ ซึ่งสัดส่วนคอนโดมิเนียมมีราคาแพงกว่า 5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จาก 9% ปี 2557 เป็น 16% ใน 9 เดือนที่ผ่านมานี้ ขณะที่คอนโดมิเนียม ราคา ไม่เกิน 2 ล้านบาท ก็ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จาก 53% ปี 2557 เป็น 39% ส่วนมูลค่าโครงการรวม 156,100 ล้านบาท คิดเป็น 80% ของมูลค่าโครงการทั้งปี 2557 ที่ 194,700 ล้านบาท เพราะมีต้นทุนสูงมากขึ้น

 

ด้าน นายวโรทัย โกศลพิสิษฐ์กุล รองผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ปัจจัยหนี้ครัวเรือนที่สูง ยังส่งผลกระทบต่อกำลังซื้ออยู่บ้าง โดยเฉพาะการก่อหนี้ใหม่สำหรับการซื้ออสังหาริมทรัพย์ ที่อาจทำได้ยากขึ้น แต่อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยบวกจากดอกเบี้ยระดับต่ำ ยังช่วยกระตุ้นกำลังซื้ออยู่ อีกทั้งเมื่อรัฐมีมาตรการฯ ออกมา ทำให้ภาวะการดูดซับจากเดิมที่ต้องใช้เวลา 21 เดือนจากช่วงต้นปี ลดเหลือเพียง 17 เดือนในปัจจุบัน ซึ่งถือว่าดีขึ้น

ส่วนปัจจัยภายนอกที่มีผลกระทบต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ การปรับราคาประเมินที่ดินใหม่ของกรมธนารักษ์ ที่จะมีผล 1 มกราคม 2559 ที่ทำให้ราคาประเมินเพิ่ม 25% ทั่วประเทศ และภาษีการรับมรดก ที่คาดว่าอาจมีผลบังคับใช้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ที่การรับมรดกส่วนที่เกิน 100 ล้านบาทจะต้องเสียภาษีตามกฎหมายใหม่

นอกจากนี้ สศค.กำลังศึกษาการประกันสินเชื่อที่อยู่อาศัย (มอร์เกจ อินชัวรันส์) และสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (รีเวิร์ส มอร์เกจ) ที่ผู้สูงอายุที่มีบ้านสามารถนำบ้านมาเป็นหลักประกันสินเชื่อ ทำให้มีหลักประกันด้านรายได้ เมื่อเสียชีวิตจะนำบ้านไปจำหน่ายทอดตลาด ถ้ามีเงินเหลือจากการขายบ้านจะตกทอดไปยังบุตรหลาน แต่ถ้าไม่พอ บุตรหลานต้องรับภาระไป ซึ่งจะเสนอให้กระทรวงการคลังนำไปพิจารณาบังคับใช้ในอนาคต


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 28 ต.ค. 2558 เวลา : 15:06:47
27-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 27, 2024, 3:50 am