เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
สภาพัฒน์ ชี้ จีดีพีปี 58 น่าจะโต 2.9% ส่วนปี 59 คาดโต 3-4% ขณะ "ธปท."เผย ตัวเลขจีดีพีใกล้เคียงกับที่ธปท.ประเมินไว้




สภาพัฒน์ คาดจีดีพีปี 58 โต 2.9 % ส่วนปี 59 โต 3-4% หลังการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐที่เร่งตัวขึ้น ขณะที่เงินเฟ้อทั้งปีคาดติดลบ 0.8% ส่วนปี 59 คาดอยู่ที่ 1-2%  ส่วนการส่งออกปี 58 ติดลบ 5% นำเข้าติดลบ 9.8% ขณะที่ปี 59 คาดส่งออกกลับมาฟื้นโต 3% นำเข้าโต 5.4%พร้อมมองเงินบาทจะอ่อนค่าที่ 36-37 บาท/ดอลลาร์ รับเฟดขึ้นดอกเบี้ยต้นปีหน้า ขณะที่ ธปท.เผยตัวเลขจีดีพีใกล้เคียงกับที่ ธปท.มองไว้
   

นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. เปิดเผยว่า แนวโน้มอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพีของไทยในปี 2558 คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.9% โดยมีแรงขับเคลื่อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะสูงกว่า 30 ล้านคน และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมของภาครัฐ ทั้งนี้คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าทั้งปี 58 จะยังติดลบ 5% ขณะที่การนำเข้าคาดว่าจะติดลบ 9.8% เงินเฟ้อทั่วไปติดลบ 0.8%
  

ส่วนแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2559 คาดว่าจีดีพีไทยจะขยายตัวได้ 3-4% โดยมีแรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐที่เร่งตัวขึ้น แรงส่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของเศรษฐกิจโลกและราคาส่งออก แนวโน้มการอ่อนค่าของเงินบาท โดยมองว่าเงินบาทจะอ่อนค่าที่ 36-37 บาทต่อดอลลาร์ รับข่าวธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงต้นปีหน้า รวมถึงการปรับตัวดีขึ้นของราคาสินค้าเกษตร ราคาน้ำมันที่คาดว่าจะยังอยู่ในระดับต่ำ และการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว
  

"ปัจจัยสนับสนุนปีหน้า คือ การเร่งขึ้นของเม็ดเงินจากภาครัฐ ซึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากกรอบการขาดดุลงบประมาณรายง่ายประจำปี 2559 ในวงเงิน 390,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากกรอบงบประมาณปี 2558 ที่อยู่ที่ 250,000 ล้านบาท  และแนวโน้มความคืบหน้าของโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน"นายปรเมธี กล่าว
  

ส่วนดุลการค้าปี 2559 นายปรเมธีกล่าวว่า คาดจะเกินดุลประมาณ 29.6 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดคาดจะเกินดุล 22.2 พันล้านดอลลาร์ 

นายปรเมธีกล่าวถึงปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตามองในระยะต่อไป ได้แก่  การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและประเทศที่มีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอ การอ่อนค่าของสกุลเงินสำคัญในประเทศคู่ค้าคู่แข่ง โดยเฉพาะเงินหยวน ซึ่งมีแนวโน้มอ่อนค่าตามนโยบายการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจและการเงิน การลดลงของทุนสำรองระหว่างประเทศและความจำเป็นในการดูแลสภาพคล่องในประเทศ
  

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งที่มีแนวโน้มรุนแรงต่อเนื่อง ตามสถานการณ์ปริมาณน้ำที่ใช้การได้ในเขื่อนขนาดใหญ่ 4 เขื่อนหลัก
  

สำหรับการส่งออกในปี 2559 คาดว่าจะอยู่ที่ 3% และการนำเข้าอยู่ที่ 5.4% ด้านอัจราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 1-2%


ด้าน นายจิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา โฆษก ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. กล่าวว่า ตัวเลขจีดีพีของไทยในไตรมาสที่ 3 ที่ขยายตัว 2.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และประมาณการใหม่ของ สศช.ที่ประเมินทั้งปี 2558 จีดีพีไทยจะขยายตัวได้ 2.9% และ ปี 2559 ที่ 3.0-4.0% ถือว่าใกล้เคียงกับที่ ธปท.ประเมินไว้ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 4 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่ง กนง.มองว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากเม็ดเงินภาครัฐและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะเข้าสู่ระบบมากขึ้น
  

อย่างไรก็ดี ธปท.จะติดตามแนวโน้มการลงทุนของภาคเอกชนในระยะต่อไป รวมทั้งการส่งออกสินค้าที่ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากภายนอกประเทศ จากทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและเอเชีย ความผันผวนของตลาดการเงินโลก และผลกระทบของปัญหาการเมืองระหว่างประเทศต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ในส่วนภาวะการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนในการประชุม กนง.ครั้งล่าสุด ประเมินว่าภาวะการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนยังเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 16 พ.ย. 2558 เวลา : 18:00:23
27-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 27, 2024, 2:40 am