แบงก์-นอนแบงก์
TMB ตั้งเป้าเป็นธนาคารในใจลูกค้าเอสเอ็มอี พร้อมเดินหน้า "ดิจิตอล แบงก์กิ้ง" เต็มสตรีม มัดใจลูกค้า


TMB ประกาศแผนพร้อมทิศทางการดำเนินงานปีนี้ รุกเป็นธนาคารหลักของลูกค้าเอสเอ็มอี พร้อมพาก้าวเดินสู่การค้าระหว่างประเทศ ตั้งเป้าเป็น “ดิจิตอล แบงก์กิ้ง” เต็มรูปแบบ “ซื้อ ขาย รับ จ่าย” ง่าย สะดวกรวดเร็ว เพียง CLICK เดียว ครอบคลุมทุกผลิตภัณฑ์การเงิน ตั้งเป้าเงินฝากและสินเชื่อโต 8-10% โฟกัสรายได้ค่าธรรมเนียมโต 25-30% พร้อมรักษาNPL คงระดับ 3% มองเฟดขึ้นดอกเบี้ยปีนี้อีก 1% ขณะไทยขึ้นครึ่งปีหลัง 0.25%

 

นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB เปิดเผยทิศทางการดำเนินงานในปี 2559 ว่า ธนาคารจะดำเนินการใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ 1.มุ่งสู่การเป็นธนาคารหลักของลูกค้าเอสเอ็มอีในการดำเนินธุรกิจ 2.พัฒนาสู่การเป็นธนาคารเพื่อการค้าระหว่างประเทศสำหรับเอสเอ็มอี 3.ยกระดับขีดความสามารถของบุคคลากร 4.มุ่งเน้นการพัฒนาดิจิตอล แบงกกิ้ง เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง

โดยการมุ่งเน้นการพัฒนาดิจิตอล แบงก์กิ้ง จะดำเนินการในด้านเข้าใจลูกค้าเอสเอ็มอี เพื่อพัฒนาแผนและระบบดิจิตอลแบงก์กิ้ง พร้อมกับยกระดับช่องทางการให้บริการ ทั้งการทำธุรกรรมด้านสินเชื่อและธุรกรรมซื้อ ขาย รับ จ่าย ที่ง่าย สะดวก รวดเร็ว ทั้งช่องทางอินเตอร์เน็ต และ Mobile device  รวมถึงยกระดับการเข้าถึงอี-คอมเมิรซ์ เพื่อเอสเอ็มอีไทย โดยการร่วมมือกับพันธมิตรทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อพัฒนาช่องทางที่ง่ายและสะดวก รวมถึงให้เงินทุนเพื่อสนับสนุนเอสเอ็มอีเข้าสู่อี-คอมเมิรซ์ ระหว่างประเทศ

สำหรับทิศทาง ดิจิตอล แบงก์กิ้ง ของธนาคารในปีนี้ จะมุ่งเน้นในการสร้างดิจิตอลแพลตฟอร์มที่คำนึงถึงความต้องการของลูกค้าผู้ใช้งานอย่างแท้จริง และมอบสิทธิประโยชน์เพิ่ม เพื่อให้ลูกค้าใช้ชีวิตเต็มที่ในแบบที่ต้องการ ผ่านการสร้างประสบการณ์ที่ดีของลูกค้าในทุกช่องทางการบริการ โดยเน้นที่นวัตกรรรมเครื่องมือทางการเงินที่มีความสามารถหลากหลาย เพื่อให้ลูกค้าบริหารจัดการบัญชีธนาคารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทุกที่ทุกเวลา และมีความปลอดภัยสูง นอกจากนี้จะเสริมความแข็งแกร่งการดำเนินงานด้าน IT Securities โดยการกำกับดูแลที่เข้มงวดและกระบวนการทำงานที่มีประสิทธิภาพ

โดยในส่วนของลูกค้าธุรกิจ จะอัพเกรดเวอร์ชั่นใหม่ของ Business Click และดำเนินการในเรื่อง SME mobile app ส่วนลูกค้าบุคคล จะดำเนินการ ME mobile app พร้อมกับบริการกองทุนรวม “Open Architecture” และ Bancassurance บน TMB Touch

สำหรับทิศทางกลยุทธ์ลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ ในส่วน Digitalization ปี 2559 ธนาคารจะเพิ่มประสิทธิภาพให้ลูกค้าในการประมูลงานภาครัฐผ่านระบบ E-Guarantee เพื่อตอกย้ำความเป็นผู้นำในการให้บริการ พร้อมเปิดประสบการณ์ใหม่กับธุรกรรมดิจิตอล ภายใต้ CLICK เดียว โดยครอบคลุมทุกผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า

ในส่วนของ Supply chain จะเพิ่มความแข็งแกร่งของ Supply chain โดยพัฒนา Standardized Supply chain เพื่อง่ายต่อลูกค้าธุรกิจในการใช้บริการ และนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของ value chain และเพิ่มความสะดวกแก่ value chain โดยการผสมผสาน Supply chain กับการบริหารจัดการทางการเงินให้แก่คู่ค้า
สำหรับในส่วน Trade finance ธนาคารจะเป็นผู้นำในการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับธุรกรรมต่างประเทศและการบริหารจัดการความเสี่ยงที่เหมาะสมตามความต้องการของลูกค้า พร้อมพัฒนากระบวนการในการทำธุรกรรมต่างประเทศที่สะดวก รวดเร็ว ตามความต้องการของลูกค้า

และในส่วน Infrastructure จะพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการทางการเงินให้แก่กลุ่มธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อรองรับการขยายตัวของการลงทุนภาครัฐ พร้อมกับการขยายฐานลูกค้า E-Guarantee แก่ลูกค้าธุรกิจอื่นๆ เพื่อสอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐ

 

นายบุญทักษ์กล่าวต่อถึง เป้าหมายทางการเงินในปี 2559 ว่า ตั้งเป้าเงินฝากเติบโต 8-10% จากปีก่อนอยู่ที่ 6.44 แสนล้านบาท โดยยังมุ่งเน้นความเป็นเลิศทางธุรกรรมทางการเงิน (Transactional Banking) และตั้งเป้าสินเชื่อเติบโต 8-10% เช่นกัน จากปี 2558 ที่ 5.8 แสนล้านบาท  เนื่องจากมีการเติบโตของสินเชื่อในทุกกลุ่มธุรกิจ ทั้งลูกค้ารายใหญ่ รายย่อย และเอสเอ็มอี พร้อมเน้นมาตรการในการดูแลคุณภาพสินทรัพย์

ขณะที่รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยคาดจะเติบโต 25-30% และอัตราผลตอบแทนส่วนผู้ถือหุ้น (ROE) ที่ 13-14% เพื่อรักษาการเติบโตอย่างยั่งยืน และจะพยายามรักษา NPL ให้อยู่ในระดับคงตัวที่ 3% เพราะทิศทาง NPL ทั้งระบบมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นและสูงสุดในช่วงสิ้นปี โดยธนาคารจะตั้งสำรองใกล้เคียงกับปี 2558 ที่ 5,479 ล้านบาท เพื่อคงอัตราสำรองต่อ NPL ให้อยู่ในระดับสูง 140-150%  ทั้งนี้ เป้าหมายการดำเนินงานดังกล่าวอยู่ภายใต้การคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจปีนี้ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 3.5%

"ส่วนรายได้และกำไรสุทธิปีนี้ของธนาคารยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ตอนนี้ เพราะขึ้นอยู่กับรายได้ การเติบโตของค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่าย และการตั้งสำรองจากเศรษฐกิจไทยซึ่งถือว่ายังเปราะบางและอยู่ระหว่างการค่อยๆฟื้นตัว ขณะที่อัตราส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ย (NIM) ปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 3-3.3% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 2.9% เพราะเงินฝากที่ธนาคารใช้เป็นการทำธุรกรรมต่างๆ มีดอกเบี้ยที่ต่ำ และธนาคารได้ยกเว้นค่าธรรมเนียมในการให้บริการแก่ลูกค้า" นายบุญทักษ์ กล่าว

สำหรับทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย นายบุญทักษ์กล่าวว่า ในส่วนของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (เฟด) คาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยปีนี้อีก 2-4 ครั้ง หรือประมาณ 1% จากทิศทางเศรษฐกิจของสหรัฐที่ปรับตัวดีขึ้น ส่วนอัตราดอกเบี้ยในประเทศไทยคาดว่าจะปรับขึ้นในช่วงไตรมาส 3 หรือไตรมาส 4 โดยคาดว่าจะปรับขึ้นอีก 0.25%
    
                


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 22 ม.ค. 2559 เวลา : 20:55:22
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 1:01 pm