แบงก์-นอนแบงก์
"กสิกรไทย" พร้อมรับการเปิดของ AEC เตรียมจัดงานสัมมนาใหญ่เพื่อเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการไทย


กสิกรไทย จับมือ ไฟแนนเชี่ยล ไทม์ จัดงานสัมมนาและจับคู่ทางธุรกิจใหญ่สุดในรอบปี 16 มี.ค.นี้ ที่พลาซ่า แอทธินี แนะนำนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศที่ต้องการลงทุนในกลุ่มประเทศ AEC+3 แบบครบวงจร รวมถึงนำเทคโนโลยีดิจิตอลเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะด้านการทำธุรกรรมทางการเงิน ตั้งเป้าเจรจาจับคู่ธุรกิจได้ 300 คู่ ผู้สนใจลงทะเบียนร่วมงานสัมมนาได้ที่  https://aecplusadvisory.askkbank.com

               

 

นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า การเดินหน้าเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่เริ่มมาตั้งแต่ต้นปี 2559 เป็นการเปิดตลาดที่น่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของโอกาสจากขนาดของธุรกิจ และอัตราการเติบโตของธุรกิจในอนาคต  ประกอบกับกลุ่มประเทศ+3 ซึ่งได้แก่ประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้  มีแนวโน้มการลงทุนในกลุ่มประเทศที่สูงขึ้น ทำให้คาดการณ์ได้ว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2016 ของกลุ่มประเทศ AEC จะเพิ่มขึ้นเป็น 4.9 อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันทางธุรกิจที่สูงขึ้น เช่น คู่แข่งจากต่างประเทศที่จะเข้ามาแย่งชิงตลาดในประเทศเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกมากขึ้น  รวมถึงเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทต่อโครงสร้างธุรกิจ ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว

ดังนั้นภาคธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของตลาดอย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน ธนาคารกสิกรไทย จึงร่วมมือกับไฟแนนเชี่ยล ไทม์ จัดงาน AEC+3 Business Forum 2016 : Reshaping a New Paradigm for Growth ขึ้นในวันที่ 16 มีนาคม 2559  ณ โรงแรมพลาซ่า แอทธินี เพื่อเป็นการเปิดมุมมองและเสริมสร้างศักยภาพของธุรกิจหรืออุตสาหกรรมให้แข็งแกร่ง พร้อมปรับตัว เพื่อเติบโตหรือยืนหยัดในรูปแบบการค้า-การลงทุนแบบใหม่ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งภายในงานจะแบ่งออกเป็น 4 ส่วนหลัก ๆ ได้แก่

1.AEC+3 BUSINESS FORUM 2016 งานสัมมนาครั้งยิ่งใหญ่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย โดยเป็นการรวมตัวของผู้นำองค์กรที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของบริษัทชั้นนำระดับภูมิภาคจากหลากหลายอุตสาหกรรมในภาคพื้นเอเชีย ที่จะมาร่วมแบ่งปันประสบการณ์และแนะนำเกี่ยวการทำธุรกิจ ประกอบไปด้วย 3 หัวข้อหลัก คือ การบริหารทรัพยากรบุคคล การเปลี่ยนแปลงของธุรกิจซึ่งเป็นผลมาจากเทคโนโลยี และกลยุทธ์สาหรับการบริหารธุรกิจในตลาดที่หลากหลาย

2.AEC+3 Business Matching 2016 งานจับคู่ธุรกิจ ที่จะมีผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม วัสดุก่อสร้าง และบริการทางการแพทย์จากประเทศใน AEC+3 ซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรองจากธนาคารพันธมิตรของธนาคาร กสิกรไทยมาร่วมงานกว่า 200 ราย คาดการณ์ไว้ว่าจะมีมากกว่า 300 ดีลการจับคู่ทางธุรกิจที่สำเร็จ

3.AEC+3 Trade & Investment Consulting Booths บริการให้คำปรึกษาโดยตัวแทนจากสาขาและสานักงานตัวแทนของธนาคารกสิกรไทยจากประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และอินโดนีเซีย รวมถึงผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรเกี่ยวกับการลงทุนจากแต่ละประเทศ ที่จะให้คำแนะนาเกี่ยวกับการลงทุนและการค้าระหว่างประเทศสาหรับผู้ที่สนใจทำธุรกิจระหว่างประเทศ

4.AEC+3 Regional Business Matching Collaboration โดยเป็นการลงนามความร่วมมือแบบพหุภาคีกับหน่วยงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศคู่ค้า 8 ประเทศ ส่งเสริมการค้าระหว่างพันธมิตรเพื่อส่งต่อและแนะนำคู่ค้า รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลการลงทุน โอกาสในการลงทุนในภูมิภาคจากประเทศต่าง ๆ ในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และรวมถึงประเทศ ญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้

ด้าน Mr. Jeremy Grant,  Managing Editor, FT Confidential Research, Financial Times เปิดเผยว่า สิ่งที่ผู้ที่เข้าร่วมงาน  AEC+3 Business Forum 2016 จะได้รับจะเป็นเรื่องของการผลักดันธุรกิจให้ประสบความสำเร็จผ่านมุมมองของผู้บริหารจากองค์กรระดับโลกที่ประสบความสำเร็จและเป็นที่ยอมรับในแง่มุมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนากลยุทธ์การตลาดในระดับภูมิภาค การบริหารจัดการพนักงานที่มีประสิทธิภาพ การนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาจัดการกับรูปแบบธุรกิจ รวมถึงกรณีศึกษาขององค์กรที่ผลักดันจากธุรกิจในประเทศของตัวเองจนกลายเป็นที่รู้จักในตลาดระดับภูมิภาค

โดย Business Forum จะเริ่มต้นจากการจะแบ่งปันประสบการณ์ในการปฏิวัติธุรกิจการบินที่เปลี่ยนแปลงจากในอดีตอย่างสิ้นเชิง จากการเข้ามาของสายการบินต้นทุนต่ำ โดย Tony Fernandes, Group CEO of AirAsia ต่อด้วยการขับเคลื่อนองค์กร ผู้นำจากบริษัทข้ามชาติต่างๆ จะมาแชร์แง่มุมในการจัดหาและเลือกทรัพยากรบุคคลในภูมิภาคต่างๆ ที่จะเข้ามาทำงานให้กับองค์กรในภูมิภาคนั้นๆ จาก Achal Agarwal กรรมการบริหาร จาก Kimberly Clark Asia Pacific, Chan Park ผู้จัดการทั่วไปจาก Uber และ Maurizio Bussi ผู้อำนวยการจาก International Labour Organization เพื่อให้การดำเนินงานภูมิภาคเป็นไปอย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถสูงขึ้น สามารถต่อยอดและพาองค์กรไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ การพัฒนาทางเทคโนโลยี ยังมีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำธุรกิจ โดย Rohan Mahadevan จาก PayPal จะมาบอกเล่าเรื่องราวในการพัฒนาทางเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดการใช้จ่ายรูปแบบใหม่ นำมาซึ่งการปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมของผู้บริโภค เพื่อให้ทุกองค์กรเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดที่ถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีมากขึ้น รวมถึงการแข่งขันที่สูงขึ้นตามไปด้วยต่อด้วยพูดถึงการใช้นวัตกรรมในการสร้างธุรกิจจากผู้บริหารบริษัทชั้นนำจากต่างประเทศ ที่จะมาแบ่งปันวิธีการบริหารจัดการ ข้อมูลในด้านต่างๆ เพื่อใช้ในการตัดสินใจของ การออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ และกลยุทธ์ทางการตลาด, การขายและ การเปิดตัวผลิตภัณฑ์ รวมถึงการสร้างวัฒนธรรมองค์กร ให้เป็นองค์กรของความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม ไปจนถึงการเตรียมพร้อมขององค์กรให้พร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจที่จะต้องขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีมากขึ้น

สุดท้ายกับกรณีศึกษาในเรื่องราวสำเร็จขององค์กรที่สามารถขยายธุรกิจไปสู่ความสำเร็จในระดับนานาชาติ จากผู้บริหารขององค์กรชั้นนำในภูมิภาคในการสร้างธุรกิจในตลาดต่างประเทศ อาทิ Yoshiaki Ito, กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ Haier Asia Group บริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าชั้นนำจากจีน ที่จะมาพูดถึงการพัฒนาการผลิตและการตลาดไปยังฐานลูกค้าที่กว้างขึ้นไปทั่วทั้งภูมิภาค Aloke Lohia ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ อินโดรามาเวนเจอร์ส ของไทย ที่จะมาพูดถึงกลยุทธ์ในการเพื่อขยายธุรกิจเข้าไปในสหรัฐอเมริกา ยุโรปและตลาดเกิดใหม่หลายแห่งจากในการเข้าซื้อกิจการต่างๆ และ Athur Tan ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Integrated Microelectronics Inc. (IMI) และกรรมการผู้จัดการอาวุโสของ Ayala Corp ที่จะมาพูดคุยเกี่ยวกับความสำเร็จที่เกิดจากการร่วมทุนของ IMI กับ Ayala Corp  ที่เข้าร่วมทุนกับ Resins Inc ในสหรัฐอเมริกายุโรปและเอเชีย

 

 

นายพิพิธ เอนกนิธิ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า เอเซียนจะก้าวมาเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุน การผลิตและบริโภคแห่งใหม่ของภูมิภาค โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV ที่น่าจับตามองเป็นพิเศษ ซึ่งเห็นได้จากสัดส่วนตัวเลขของการลงทุนจากต่างชาติที่ย้ายฐานการผลิตเข้ามาในอาเซียน รวมถึงยอดการค้าระหว่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และด้วยความมุ่งมั่นของธนาคารกสิกรไทยในการที่จะก้าวสู่การเป็นสถาบันการเงินชั้นของภูมิภาคอาเซียน+3 จึงได้วางกลยุทธ์ในการมุ่งเน้นในการพัฒนาใน 3 แกนทางธุรกิจได้แก่

1.จัดตั้งสาขาหรือสำนักงานตัวแทนของธนาคารเพื่อรองรับการขยายตัวทางธุรกิจในอนาคต ซึ่งปัจจุบันมี ธนาคารท้องถิ่น 1 แห่ง ตั้งอยู่ที่ สปป.ลาว สาขาต่างประเทศ 7 แห่ง ได้แก่ สาขาเซินเจิ้น สาขาย่อยหลงกั่ง สาขาเฉิงตู สาขาฮ่องกง สาขาพนมเปญ สาขาลอสแองเจิลลิส และสาขาหมู่เกาะเคย์แมน สำนักงานผู้แทน 8 แห่ง ได้แก่ สำนักงานผู้แทนปักกิ่ง สำนักงานผู้แทนเซี่ยงไฮ้ สำนักงานผู้แทนคุนหมิง สำนักงานผู้แทนย่างกุ้ง สำนักงานผู้แทนฮานอย สำนักงานผู้แทนโฮจิมินห์ สำนักงานผู้แทนจาการ์ตา และสำนักงานผู้แทนโตเกียว นอกจากนี้ภายในปี 2559 ธนาคารได้เตรียมการเพิ่มสาขาแห่งที่ 2 ณ กรุงเวียงจันทน์ สปป.ลาว

2.พัฒนาระบบเทคโนโลยีต่างๆ ในเรื่องการทำธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศ การโอนเงินข้ามประเทศ เพื่อรองรับการขยายตัวทางธุรกิจที่เพิ่มสูงขึ้น

3.สร้างความแข็งแกร่งเครือข่ายพันธมิตรของธนาคารในประเทศต่างๆ ซึ่งปัจจุบันทางธนาคารได้มีการลงนามความร่วมมือในเรื่องของผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจากต่างชาติมากกว่า 40 องค์กร

นอกเหนือจากบริการทางการเงินที่ธนาคารได้มุ่งมั่นพัฒนาเพื่อตอบสนองทางการค้าการลงทุนระหว่างประเทศแล้ว ธนาคารยังเล็งเห็นถึงความสำคัญของการส่งมอบข้อมูลความรู้ที่จะเป็นประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ AEC+3 เพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่ทั้งนักลงทุนไทยที่จะก้าวเข้าสู่ตลาดต่างประเทศรวมไปถึงนักลงทุนจากประเทศอื่นๆ ผ่านบริการ AEC+3 Advisory โดยทีมงานผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงการให้ข้อมูลผ่านเว็บไซต์ https://aecplusadvisory.askkbank.com  นอกจากนี้ยังมีบริการแนะนำการจับคู่ทางธุรกิจกับคู่ค้าที่ผ่านการคัดกรองแล้วจากพันธมิตรของธนาคารฯ ในกลุ่ม AEC+3 เพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนทั้งในประเทศ (inbound) และต่างประเทศ (outbound) แก่ลูกค้าธนาคารฯ  ซึ่งธนาคารกสิกรไทยเป็นธนาคารแห่งเดียวที่ให้บริการแบบครบวงจรด้านจับคู่ธุรกิจข้ามประเทศ  

ทั้งนี้เพื่อตอบสนองในการค้าการลงทุนระหว่างประเทศนั้น ทางธนาคารฯ จึงได้จัดตั้งสายงานธุรกิจข้ามประเทศขึ้นเพื่อเป็นตอบโจทย์ความต้องการในทุกกลุ่มของลูกค้าธนาคารตั้งแต่ธุรกิจขนาดใหญ่ไปจนถึงลูกค้ารายย่อย ซึ่งการที่ก้าวไปถึงความสำเร็จนั้นได้ธนาคารจะต้องมุ่งเน้นพัฒนาใน 3 ด้าน ซึ่งประกอบไปด้วย

1.การเตรียมความพร้อมของโครงสร้างทางการเงินของธนาคาร

2.การพัฒนาแพลตฟอร์มใหม่ๆด้านธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้รองรับพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค

3.บุคคลกรของธนาคาร ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญที่สุด โดยเฉพาะพนักงานที่มีความสามารถทางด้านภาษาต่างประเทศ อาทิ ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น และมีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านการธนาคาร โดยพนักงานเหล่านี้สามารถอำนวยความสะดวกต่าง ๆ แก่ลูกค้าชาวต่างประเทศได้ และเปิดรับบุคลากรจากกลุ่มประเทศอาเซียนบวกสาม จาก 300 คนเป็น 400 คน เพื่อรองรับการบริการลูกค้าและขยายสาขา เพื่อครอบคลุมทุกพื้นที่ในการให้บริการแก่ลูกค้า

ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงาน AEC+3 Business Forum 2016 : Reshaping a new paradigm for growth ที่ https://aecplusadvisory.askkbank.com ตั้งแต่วันพุธที่ 17 กุมภาพันธ์ 2559 เป็นต้นไป


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 16 ก.พ. 2559 เวลา : 20:19:13
24-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 24, 2024, 9:48 am