เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
EU จับตา "อังกฤษ" ลงประชามติสมาชิกภาพ 23 มิ.ย.นี้


ความท้าทายที่กำลังเป็นที่จับตาของประชาคมโลกในช่วงกลางปีนี้ คงหนีไม่พ้นการลงประชามติเกี่ยวกับอนาคตของสหราชอาณาจักร (UK) ในการเป็นสมาชิกในสหภาพยุโรป หรือ อียู

 

โดยผลการประชุมสุดยอดผู้นำสหภาพยุโรป (อียู) ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ได้ข้อสรุปว่า ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์มอบสถานะพิเศษให้แก่อังกฤษ พร้อมระบุเห็นชอบกับนโยบายดังกล่าว

 

 

โดย นายเดวิค คาเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ จะนำข้อตกลงนี้เข้าประชุมกับคณะรัฐมนตรี เพื่อเตรียมแผนโน้มน้าวให้ประชาชนสนับสนุนการเป็นสมาชิกอียูต่อไปในการทำประชามติ ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 23 มิ.ย.นี้

 

นางแองเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี กล่าวว่า ข้อบรรลุนี้เป็นการประนีประนอมที่สมเหตุผล และไม่คิดว่าอียูให้อังกฤษมากเกินไป เช่นเดียวกับ นายฟรังซัวส์  ออลลองด์ ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ที่ยืนยันว่าไม่มีการให้สิทธิพิเศษใดๆ ในข้อตกลงร่วมกับอังกฤษ

อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายวิเคราะห์ว่านายคาเมรอนจะเผชิญหน้ากับความกดดันอย่างหนัก โดยผลสำรวจความคิดเห็นจากไอทีวีนิวส์ ระบุว่า ประชาชนที่คัดค้านและสนับสนุนการถอนตัวจากอียูมีจำนวนใกล้เคียงกันมาก ที่ร้อยละ 49 ต่อ 41  ยังไม่รวมถึงคณะรัฐมนตรี และสมาชิกพรรคอนุรักษนิยมบางส่วนที่ต้องการให้อังกฤษถอนตัว

ทั้งนี้ ข้อตกลงซึ่งทำให้อังกฤษมีสถานะพิเศษ มีสาระสำคัญบางส่วนรวมถึงการระงับสวัสดิการบางอย่างแก่แรงงานผู้อพยพในอังกฤษเป็นเวลานาน 7 ปี และการออกกฎหมายเพื่อปกป้องนครลอนดอนจากข้อบังคับทางการเงินของกลุ่มสมาชิกยูโรโซน

 

นายคาเมรอน กำหนดการทำประชามติเพื่อตัดสินว่า สหราชอาณาจักรจะออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) หรือไม่  หรือที่เรียกว่า Brexit  (British Exit)  ในวันที่ 23 มิ.ย. 2559  หลังจากได้บรรลุการเจรจาต่อรองกับผู้นำประเทศอื่นๆ ใน EU เพื่อเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขสมาชิก เมื่อวันที่ 19 ก.พ. ที่ผ่านมา

โดยในเรื่องดังกล่าว ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (อีไอซี) ได้วิเคราะห์ เรื่องความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลก หากเกิด Brexit โดยระบุว่า ความเสี่ยงที่ UK จะออกจาก EU ทำให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงินในระยะสั้น แต่ยังมีความรุนแรงน้อยกว่าในกรณีของกรีซ เพราะหลังการประกาศกำหนดการทำประชามติค่าเงินปอนด์อ่อนตัวลงถึง 2.3% ต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ต่ำที่สุดในรอบ 7 ปี  แต่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอังกฤษยังไม่ได้รับผลกระทบ

อีไอซี ยังมองว่าโอกาสที่ผลประชามติที่ UK จะออกจาก EU นั้นมีต่ำ เนื่องจากความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่จะตามมา
         

 

สำหรับผลกระทบต่อค่าเงินบาทและส่งออกไทยมีจำกัด โดยมูลค่าการส่งออกจากไทยไป UK อยู่ที่ประมาณ 2% ของส่งออกทั้งหมด ดังนั้นในระยะสั้นผลต่อการค้าของไทยมีจำกัด อีกทั้งผลกระทบต่อค่าเงินบาทต่อเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ก็มีไม่มากเช่นกัน

อย่างไรก็ดี ต้องจับตาดูท่าทีของผลประชามติต่อไป เนื่องจากกรณีของ Brexit จะทำให้เศรษฐกิจทั้งยุโรปและ UK มีความเสี่ยงต่อสภาวะถดถอยได้ และจะกระทบต่อภาคส่งออกไทยเป็นวงกว้าง (รวม 12% ของส่งออกทั้งหมด)


LastUpdate 24/02/2559 13:03:00 โดย : Admin
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 2:29 am