ไอที
ก.ไอซีทีเดินหน้าสร้างกลไกในกระบวนการรับรองมาตรฐานซอฟต์แวร์


นางสาวรัจนา เนตรแสงทิพย์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยว่า ในโลกยุคเศรษฐกิจดิจิทัล การประกอบการค้าธุรกิจและบริการมีอัตราการแข่งขันสูง ซึ่งผู้ประกอบการไทยจะสามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ต้องมีสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ และมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผลิตภัณฑ์หรือบริการที่องค์กรได้พัฒนาขึ้น

 

 

ทั้งนี้ ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์มีมาตรฐานวิศวกรรมซอฟต์แวร์สำหรับองค์กรขนาดเล็ก ISO/IEC 29110 ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลที่มีความเหมาะสมทั้งด้านขนาดขององค์กรและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ และเป็นมาตรฐานที่ริเริ่มโดยคนไทยเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เพื่อใช้กับบริษัทซอฟต์แวร์ขนาดเล็กทั่วโลก ซึ่งการนำมาตรฐานสากลมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ เป็นสิ่งสำคัญในการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับซอฟต์แวร์หรือบริการซอฟต์แวร์ที่องค์กรได้พัฒนาขึ้น

 

ดังนั้น กระทรวงไอซีที ซึ่งมีภารกิจในการพัฒนาและยกระดับมาตรฐาน ICT ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล จึงได้ร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดำเนินการยกร่างเกณฑ์การกำกับดูแลการรับรองระบบมาตรฐานซอฟต์แวร์ (Scheme Owner) สำหรับมาตรฐาน ISO/IEC 29110 ขึ้น เพื่อสร้างกลไกในกระบวนการรับรองมาตรฐานให้เป็นระบบและครบวงจร รวมทั้งเป็นการสร้างกลไกในการส่งเสริม ผลักดันมาตรฐาน และสร้างความเข้าใจระหว่างผู้ประกอบการ และผู้ตรวจประเมินให้ตรงกัน ซึ่งล่าสุดได้มีการประชุมระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อพิจารณาร่างเกณฑ์การกำกับดูแลการรับรองระบบมาตรฐานซอฟต์แวร์ (Scheme Owner)

โดยกระทรวงฯ ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ หน่วยงานภาครัฐที่ได้อบรมเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเชิงลึกเกี่ยวกับกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ตามมาตรฐานวิศวกรรมซอฟต์แวร์ ISO/IEC 29110 ที่กระทรวงฯ จัดขึ้นเพื่อคัดเลือกหน่วยงานที่มีความสนใจ และมีความพร้อมในการเข้าร่วมประเมินมาตรฐานจำนวน 5 หน่วยงาน ได้แก่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กรมสรรพากร การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การประปาส่วนภูมิภาค และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หน่วยงานภาคเอกชนที่เป็นผู้ตรวจประเมินมาตรฐาน ISO/IEC 29110 และหน่วยงานผู้ตรวจประเมินตามมาตรฐานอื่นๆ โดยร่วมกันพิจารณาความครบถ้วน สมบูรณ์ และการเสนอข้อคิดเห็นอันจะเป็นประโยชน์ เพื่อก่อให้เกิดการดำเนินการอย่างเป็นระบบตามมาตรฐานสากล เพื่อประโยชน์สูงสุดในการกำกับดูแลหน่วยงานที่เป็นผู้ตรวจประเมินมาตรฐาน ISO/IEC 29110

สำหรับตัวอย่างที่เห็นประโยชน์ชัดเจน เช่น กองทัพเรือ เป็นหน่วยงานภาครัฐที่เป็นต้นแบบในการนำมาตรฐานสากล ISO/IEC 29110 มาใช้ในการแก้ปัญหาการทำประมงสากลของไทย จากการขาดการรายงานและไร้การควบคุม ไม่สามารถสรุปจำนวนทะเบียนเรือประมงและจำนวนแรงงานประมงได้ โดยได้พัฒนาระบบทะเบียนเรือสากลแบบบูรณาการขึ้น และได้นำมาตรฐาน ISO/IEC 29110 มาควบคุมในขั้นตอนกระบวนการการพัฒนาระบบ เพื่อให้สามารถมั่นใจได้ว่าระบบที่พัฒนาขึ้นมีขั้นตอนการพัฒนาที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่งจะทำให้สินค้าด้านประมงของไทยไม่ถูกกีดกัน

 

“กระทรวงไอซีทีจะดำเนินการปรับปรุงร่างการกำกับดูแลการรับรองระบบมาตรฐานซอฟต์แวร์ (Scheme Owner) สำหรับมาตรฐาน ISO/IEC 29110 ให้มีความสมบูรณ์ เพื่อผลักดันให้การรับรองตามมาตรฐาน ISO/IEC 29110 ของไทยมีศักยภาพมากยิ่งขึ้น และเป้าหมาย คือ ผู้ประกอบการที่มีคุณภาพผ่านมาตรฐานสากล ISO/IEC 29110 จะเป็นตัวขับเคลื่อนในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล สามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้” นางสาวรัจนา กล่าว


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 29 ก.พ. 2016 เวลา : 10:57:11
16-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 16, 2024, 10:19 am