เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ธปท.ผ่อนคลายหลักเกณฑ์ตามแผนแม่บทเงินทุนเคลื่อนย้ายระยะ 2 เพิ่มเติม


 


ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกประกาศและหนังสือเวียนเพื่อผ่อนคลายหลักเกณฑ์ตามแผนแม่บทเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ ระยะที่ 2 เพิ่มเติม ซึ่งจะมีผลบังคับใช้วันที่ 18 เมษายน 2559 
 
 
 

ตามที่ ธปท. เคยประกาศแผนแม่บทเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ (แผนแม่บทฯ) ระยะที่ 2 เพื่อผ่อนคลายหลักเกณฑ์การโอนเงินออกนอกประเทศ เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2558 นั้น ธปท. ขอสรุป การผ่อนคลายที่ได้ดำเนินการไปแล้วในปี 2558 และการออกประกาศเพื่อผ่อนคลายเพิ่มเติมภายใต้ แผนแม่บทฯ ระยะที่ 2 สรุปได้ ดังนี้
 
 
 
I. สรุปการผ่อนคลายหลักเกณฑ์ที่ดาเนินไปแล้วในปี 2558
1. ขยายวงเงินให้บุคคลในประเทศซื้อเงินตราต่างประเทศเพื่อฝากกับสถาบันการเงินในประเทศได้โดยเสรี โดยมียอดคงค้างไม่เกิน USD 5 ล้าน (จากเดิมไม่เกิน USD 5 แสน)
2. ขยายวงเงินให้บุคคลในประเทศโอนเงินออกเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ ได้ไม่เกินปีละ USD 50 ล้าน (จากเดิมไม่เกินปีละ USD 10 ล้าน)
3. เพิ่มช่องทางให้บุคคลในประเทศสามารถลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศผ่านธนาคารพาณิชย์ได้
4. ผ่อนคลายการประกอบธุรกิจของศูนย์บริหารเงิน (Corporate treasury center)

ธปท. ได้ออกประกาศและหนังสือเวียนเพื่อผ่อนคลายเพิ่มเติม ซึ่งจะมีผลบังคับใช้วันที่18 เมษายน 2559 สรุปได้ ดังนี้

1. ธนาคารพาณิชย์ออกและเสนอขายตราสารทางการเงินที่อ้างอิงกับอัตราแลกเปลี่ยนได้คล่องตัวมากขึ้น เพื่อให้ผู้ลงทุนไทยมีโอกาสกระจายการลงทุน และทำความคุ้นเคยกับตราสารทางการเงินที่มีการเคลื่อนไหวไปกับอัตราแลกเปลี่ยน ดังนี้
1.1 ให้ธนาคารพาณิชย์ออก Structured product สกุลเงินบาทที่อ้างอิงกับอัตราแลกเปลี่ยน เช่น จ่ายผลตอบแทนอ้างอิงอัตราแลกเปลี่ยน USD/THB หรือให้สิทธิลูกค้าซื้อเงินตราต่างประเทศ ได้ไม่เกิน USD 5 ล้าน เทียบเท่าต่อราย โดยนับรวมเงินตราต่างประเทศที่ลูกค้าฝากกับธนาคารพาณิชย์แบบ ไม่มีภาระผูกพันด้วย (จากเดิมอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์สามารถออกขายตราสารดังกล่าวให้เฉพาะกับลูกค้าที่มีความเสี่ยง (exposure) จากอัตราแลกเปลี่ยนเท่านั้น เป็นการออกขายให้ลูกค้าเป็นการทั่วไป)

1.2 ให้ธนาคารพาณิชย์ออก Structured product สกุลเงินตราต่างประเทศที่อ้างอิงกับ ตัวแปรต่างประเทศ เช่น ให้สิทธิลูกค้าในการขายเงินตราต่างประเทศเป็นเงินบาท หรือแลกเปลี่ยนเป็น เงินสกุลอื่นได้ (จากเดิมที่อนุญาตให้ ธนาคารพาณิชย์สามารถออกขายตราสารดังกล่าวเป็นสกุลเงินบาทเท่านั้น)

1.3 ให้ธนาคารพาณิชย์ทำธุรกรรมอนุพันธ์ (Derivatives) อ้างอิงอัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่เกี่ยวกับ เงินบาท เช่น อัตราแลกเปลี่ยน USD/YEN กับลูกค้าได้เป็นการทั่วไป (จากเดิมอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์สามารถทำได้เฉพาะกับลูกค้าที่มีความเสี่ยง (exposure) จากอัตราแลกเปลี่ยนเท่านั้น)

2. การผ่อนคลายคุณสมบัติและหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจของตัวแทนโอนเงินระหว่างประเทศ (Money transfer agent) เพื่อขยายคุณสมบัติผู้ยื่นขออนุญาตประกอบธุรกิจโอนเงินรายย่อย และผ่อนคลายหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจเพิ่มเติม รวมทั้ง สนับสนุนให้การโอนเงินเข้าสู่ระบบมากขึ้น และเพิ่มทางเลือกให้แก่ลูกค้าในการใช้บริการโอนเงินไปต่างประเทศผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น การโอนเงินแรงงานกลับประเทศ เป็นต้น

2.1 เพิ่มคุณสมบัติผู้ขออนุญาตเป็น Money Transfer Agent ได้แก่

1) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจบริการชาระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-payment)
2) ผู้ประกอบธุรกิจโทรคมนาคม
3) บุคคลรับอนุญาต (Money changer) และ
4) บริษัทที่มี Money changer เป็นผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของผู้ถือหุ้นทั้งหมด

ทั้งนี้ ผู้ขออนุญาตตามคุณสมบัติข้างต้นต้องมีทุนจดทะเบียนเรียกชำระแล้วไม่ต่ากว่า 100 ล้านบาท รวมทั้งต้องมีเครือข่ายที่ให้บริการโอนเงินระหว่างประเทศที่เชื่อถือได้

2.2 ให้ผู้ประกอบการสามารถให้บริการโอนเงินระหว่างประเทศทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ เช่น website, application ผ่านโทรศัพท์มือถือ
2.3 ขยายวงเงินการโอนเงินออกของลูกค้าต่อคนต่อวัน เป็นไม่เกิน 200,000 บาทต่อคนต่อวัน (จากเดิมไม่เกิน USD 2,000 ต่อคนต่อวัน)
3. การประกอบธุรกิจเงินตราต่างประเทศของบริษัทหลักทรัพย์

การอนุญาตให้บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) สามารถประกอบธุรกิจซื้อขายเงินตราต่างประเทศกับลูกค้า เป็นเรื่องที่ต้องออกเป็นหลักเกณฑ์และประกาศที่เกี่ยวข้อง ซึ่งใช้เวลาในการศึกษาแนวทางการอนุญาต ดังนั้น เพื่อให้ บล. สามารถให้บริการแก่ลูกค้าในการซื้อขายเงินตราต่างประเทศกับธนาคารพาณิชย์ได้คล่องตัวมากขึ้น ธปท. จึงเห็นควรอนุญาตให้ บล. ที่ประสงค์จะให้บริการเป็นตัวแทนลูกค้าไทยหรือลูกค้าต่างชาติ ในการซื้อขายเงินตราต่างประเทศกับธนาคารพาณิชย์ สามารถยื่นขออนุญาตต่อ ธปท. เป็นรายกรณี เพื่อขอหักกลบ (netting) รายการซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศที่เกี่ยวกับการลงทุนในหลักทรัพย์ของลูกค้า ก่อนที่ บล. จะซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศกับธนาคารพาณิชย์ในไทยตามยอดสุทธิจากการหักกลบ โดย บล. สามารถส่งหนังสือยื่นขออนุญาตต่อ ธปท. ได้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ซึ่ง ธปท. ได้มีหนังสือดังกล่าวแจ้ง ก.ล.ต. และสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ แล้ว
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 01 เม.ย. 2559 เวลา : 15:40:20
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 3:11 am