เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
นายจ้างรับมือขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ




 


ใกล้วันแรงงานแห่งชาติในเดือนหน้า  สิ่งจะต้องมีการกล่าวถึงในทุกปีที่ผ่านมา   หนีไม่พ้นเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ   ซึ่งนายธนวรรธน์   พลวิชัย   ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย    ให้ความเห็นในเรื่องดังกล่าว  โดยอ้างถึงว่า   ผลสำรวจค่าครองชีพไทยแพงจริงหรือไม่ในภาวะภัยแล้ง และเงินเฟ้อติดลบ จากตัวอย่าง 1,356 รายทั่วประเทศ พบว่าจากปัญหาภัยแล้ง เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่ซึมอย่างต่อเนื่อง  
 
 

ขณะที่ผลสำรวจรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนในปี 2558 อยู่ที่ 26,915 บาท รายจ่าย 21,157 บาท และ 75.2% มีหนี้สินครัวเรือนเฉลี่ย 156,770 บาท ส่งผลให้ประชากรส่วนใหญ่มองว่า   มีรายได้น้อยกว่ารายจ่าย  โดยเฉพาะในกลุ่มเกษตรกรและกลุ่มรับจ้างรายวัน ทำให้ต้องกู้ยืมเงินทั้งในและนอกระบบ คิดเป็นสัดส่วน 62% เป็นสาเหตุของหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งคาดว่าปัญหาภัยแล้งจะยาวนานถึงเดือน ก.ค. ส่งผลให้เม็ดเงินหายจากระบบ 1.2 แสนล้านบาท
 

ดังนั้นรัฐบาลและคณะกรรมการไตรภาคีจึงน่าจะพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำใน อัตรา 5-7% หรืออยู่ที่อัตรา 310-315 บาท/วัน    หลังจากที่ไม่ได้ปรับขึ้นค่าแรง มา 3 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบัน    แต่การพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำต้องพิจารณาความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ด้วย
 
 

ทั้งนี้การปรับขึ้นค่าแรงต้องหารือในคณะกรรมการไตรภาคี แต่มองว่าหากขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในอัตรา 3-5%  น่าจะยอมรับได้ ทั้งยังช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชน ซึ่งขณะนี้มีความรู้สึกว่าของแพงขึ้น  ขณะที่รายได้ไม่เพิ่มมา 3 ปี  

ด้านม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง(บอร์ดค่าจ้าง)   กล่าวถึงผลสำรวจค่าครองชีพของผู้ใช้แรงงานของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย  ซึ่งพบว่าควรจะขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรายวัน 5-7% หรือประมาณ 15-21 บาท ภายในปีนี้ว่า    เรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ จะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการค่าจ้างในเดือนพ.ค.นี้   เพื่อประกอบการพิจารณาร่วมกับรายงานสถานการณ์ค่าครองชีพของอนุกรรมการค่าจ้าง ที่รวบรวมมาจากแต่ละพื้นที่
 
 
 

แต่จากรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันยังพบว่า  ไม่มีผลกระทบที่ร้ายแรงจนต้องปรับขึ้นค่าจ้างในทันที   แต่ผลการศึกษาดังกล่าวน่าจะเป็นเกณฑ์อ้างอิงหนึ่งในการพิจารณาการปรับขึ้นค่าจ้างหลังเดือนมิ.ย. ตามมติบอร์ดค่าจ้างที่ให้คงอัตราค่าจ้างขั้น     ต่ำประจำปี 2559 เป็นระยะเวลา 6 เดือน
 

ขณะที่น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) กล่าวว่า   ผลวิจัยของนักวิชาการที่บอกให้รัฐบาลปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 15-21 บาท นั้นถือว่ายอมรับได้   แม้จะไม่เท่ากับข้อเสนอของ คสรท. ที่ขอให้ปรับเป็น 360 บาทเท่ากันทั่วประเทศก็ตาม เพราะเข้าใจถึงสถานการณ์และสภาพเศรษฐกิจในขณะนี้ แต่อย่างน้อยก็ขอให้รัฐบาลนำไปพิจารณาและขอให้ปรับขึ้นบ้าง เนื่องจากที่ผ่านมาคงอัตราค่าจ้างวันละ 300 บาท มากว่า 4 ปีแล้ว
 
 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 21 เม.ย. 2559 เวลา : 08:33:02
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 3:06 pm