แบงก์-นอนแบงก์
"แบงก์ออมสิน" เดินหน้าลุย 4 ภารกิจหลัก ช่วยเหลือประชาชนรากหญ้า พร้อมเปิดตัว "ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ธุรกิจและเศรษฐกิจฐานราก"


"ธนาคารออมสิน" ตั้งเป้าสินเชื่อปีนี้โต 6 - 8%  เงินฝากโต  4 - 6% พร้อมคาดมีกำไรสุทธิ 17,800 ล้านบาท เผยผลดำเนินงานไตรมาสแรกกำไรสุทธิ 1,656 ล้านบาท เหตุนำส่งเงินเข้ากองทุน SFI กว่า 800 ล้านบาท พร้อมเดินหน้าเป้าหมายปีนี้ตามยุทธศาสตร์สู่ GSB New Era : Digital Trasformation Banking ลุย 4 ภารกิจหลัก เทิดพระเกียรติสถาบันพระมหากษัตริย์-ช่วยเหลือประชาชนและเศรษฐกิจฐานราก-ส่งเสริมการออม-ตอบสนองนโยบายรัฐ พร้อมเปิดตัวศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ธุรกิจและเศรษฐกิจฐานราก


 

 

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของธนาคารออมสินในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้  มีกำไรสุทธิ 1,656 ล้านบาท เนื่องจากต้องหักเงินนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFI) 0.18% หรือประมาณกว่า 800 ล้านบาท ซึ่งส่วนสำคัญของกำไรสุทธิมาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 14,041 ล้านบาท และรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิ 1,129 ล้านบาท โดยมาจากธุรกิจบัตรและบริการอิเล็กทรอนิกส์ โดยยอดบัตรอิเล็กทรอนิกส์มีจำนวนเพิ่มขึ้นมาเป็น 5,335,387 บัตร บริการโมบายแบงก์กิ้ง ภายใต้แบรนด์ MyMo  กว่า 540,000 ราย อินเทอร์เน็ต แบงก์กิ้ง กว่า 136,869 ราย และผลิตภัณฑ์ใหม่ล่าสุด ”บัตรเครดิตธนาคารออมสิน” ซึ่งเปิดตัวไปเมื่อ 1 เมษายน 2559 มียอดสมัครแล้ว 11,000 บัตร โดยบัตรเดบิตและเอทีเอ็มปีนี้ตั้งเป้าไว้ 2.5 ล้านบัตร

 

สำหรับภาพรวมเงินให้สินเชื่อแก่ลูกค้ายังคงขยายตัวจากสิ้นปีก่อน แต่เนื่องจากเป็นช่วงการชำระคืนเงินกู้ของลูกหนี้รายใหญ่ ทำให้สินเชื่อรวมลดลงสุทธิ 17,569 ล้านบาท โดยมาตรการของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้สินเชื่อของธนาคารขยายตัวได้ โดยเป็นการให้สินเชื่อที่ครอบคลุมทุกกลุ่มประเภท ได้แก่ สินเชื่อพื่อพัฒนากลุ่มอาชีพ สินเชื่อเคหะ สินเชื่อภาครัฐ รัฐวิสาหกิจและสถาบันการเงิน(โครงการเงินกู้ซอฟท์โลน์) สินเชื่อเพื่อสังคมและชุมชน (กองทุนหมู่บ้าน) และสินเชื่อกลุ่มเศรษฐกิจฐานราก สินเชื่อโครงการบ้านประชารัฐ เป็นต้น โดยสินเชื่อคงเหลือ ณ 31 มีนาคม 2559 อยู่ที่ 1,902,000 ล้านบาท ลดลงประมาณ 0.9% จากสิ้นปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ 1,919,659 ล้านบาท

“ไตรมาสแรกของทุกปี สินเชื่อสถาบันการเงินไม่ได้เติบโตมากนัก เนื่องจากเป็นช่วงโลว์ซีซั่นของปี และถึงแม้จะมีการปล่อยสินเชื่อใหม่กว่า 100,000 ล้านบาท แต่ก็มียอดสินเชื่อคงค้างติดลบไปประมาณ 10,000 ล้านบาท เนื่องจากมีลูกหนี้รายใหญ่มาชำระคืนสินเชื่อ (Replay) ด้วย และขณะนี้เพิ่งจะผ่านมาได้เพียง 1 ไตรมาสเท่านั้น โดยธนาคารออมสินยังคงเป้าหมายการเติบโตด้านสินเชื่อของปีนี้โตที่ 6-8% โดยหากไม่รวมสินเชื่อกลุ่มอาชีพคาดว่าจะขยายตัว 6.6% และคาดว่าจะมีกำไรสุทธิประมาณ 17,800 ล้านบาท โดยเงินฝากตั้งเป้าโต 4-6% ซึ่งจะดูแลให้เป็นไปตามภาวะตลาด เพื่อรักษาฐานลูกค้าไว้ เนื่องจากปัจจุบันยังมีสภาพคล่องเหลือประมาณ 3 - 4 แสนล้านบาท พอร์ตสินเชื่อ 1.9  ล้านล้านบาท ถึงแม้ปล่อยสินเชื่อเยอะ ก็มี Replay มากอยู่ดี ส่วนแนวโน้มข้างหน้าในฐานะที่เป็นแบงก์รัฐต้องทำหน้าที่ประคองเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกลุ่มฐานรากเป็นสำคัญ”นายชาติชายกล่าว

 

นายชาติชายกล่าวต่อไปว่า แม้ภาพรวมสินเชื่อ ธนาคารออมสินจะอยู่อันดับ 4  โดยมีส่วนแบ่งการตลาด 12.86% แต่สินเชื่อรายย่อย ธนาคารออมสินมีส่วนแบ่งการตลาดมากเป็นอันดับ 1 ถึง 20.72% ขณะที่มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ณ สิ้นไตรมาส 4 ปี 2558 เพียง 1.61% เทียบกับภาพรวมเฉลี่ยของระบบธนาคารพาณิชย์ 2.69% และเฉลี่ยธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 4 แห่ง 2.84% และเฉลี่ยสถาบันการเงินเฉพาะกิจ 5.20% จึงถือได้ว่าธนาคารออมสินสามารถบริหารหนี้ได้ดีระดับหนึ่ง เพราะสินเชื่อที่ธนาคารมีอยู่ต้องยอมรับว่ามีความเสี่ยงระดับหนึ่ง แต่ธนาคารก็ยังบริหารได้ดี

 

“ในปีนี้คาดจะมีปริมาณความต้องการสินเชื่อของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ธนาคารออมสินสามารถเสนอผลิตภัณฑ์ภายใต้เงื่อนไขที่ตรงกับความต้องการของลูกค้า พร้อมทั้งดำเนินโครงการตามนโยบายของรัฐบาลต่อเนื่องจากช่วงปลายปีจนถึงปัจจุบันได้ อาทิ โครงการสินเขื่อดอกเบี้ยต่ำให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี วงเงิน 150,000 ล้านบาท โครงการบ้านประชารัฐ 30,000 ล้านบาท กองทุนร่วมลงทุนกิจการเอสเอ็มอี โครงการบรูณาการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบปัญหาวิกฤตภัยแล้งปี 2558/2559 โครงการใหญ่ๆ อย่าง SMEs Startup”ผู้อำนวยการธนาคารออมสินกล่าว

 

สำหรับทิศทางการดำเนินงานในปีนี้ นายชาติชายกล่าวว่า จะดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์สู่  GSB New Era : Digital Trasformation Banking หรือ “มุ่งพัฒนาสังคมไทยทุกระดับสู่ชีวิตดิจิตอล” ด้วยแนวคิด “ ออมสิน ธนาคารแห่งพระราชปณิธาน ส่งเสริมการออม เสริมสร้างเศรษฐกิจและสังคมไทย” เดินหน้าภารกิจหลัก 4 ด้านสำคัญ คือ เทิดพระเกียรติสถาบันพระมหากษัตริย์ ช่วยเหลือประชาชนและเศรษฐกิจฐานราก ส่งเสริมการออม และตอบสนองนโยบายรัฐบาล ซึ่งธนาคารออมสินในฐานะที่เป็นสถาบันที่พระราชทานกำเนิดขึ้นโดยสถาบันกษัติรย์ โดยองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6  และในปีนี้เป็นปีสำคัญของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ธนาคารออมสินจึงนำเสนอกิจกรรมต่างๆ ที่เสริมสร้างความจงรักภักดีของพสกนิกรชาวไทยที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชย์สมบัติครบ 70 ปี และทรงพระเจริญพระชนมายุครบ 88 พรรษา ในวันที่ 5 ธันวาคม 2559

ในเดือนพฤษภาคมนี้ จะเปิดฉายเพลงสรรเสริญพระบารมี ที่ธนาคารออมสินได้ผลิตพร้อมฉายในโรงภาพยนตร์เครือเมเจอร์ และเครือ SF รวมแล้วกว่า 1.2 ล้านรอบ และในเดือนมิถุนายนนี้จะจัดทำกระปุกออมสินเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงครองสิริราชย์สมบัติครบ 70 ปี และในปลายปีจะเผยแพร่สารคดีโทรทัศน์เฉลิมพระเกียรติ “สายธารพระราชไมตรี” เป็นต้น

ขณะที่ภารกิจด้านการช่วยเหลือประชาชน และเศรษฐกิจฐานราก ส่งเสริมการออม และตอบสนองนโยบายรัฐบาล นั้น ธนาคารออมสินยังคงมุ่งมั่นที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในระดับฐานรากและชุมชนให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืน ด้วยการสร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและบริการทางการเงิน การแก้ไขปัญหาหนี้สิน รวมถึงการส่งเสริมการ ออม การสร้างวินัยทางการเงินให้แก่เยาวชนและประชาชน การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ ตลอดจนสนับสนุนการดำเนินโครงการตามนโยบายรัฐ

“ยุทธศาสตร์ที่มุ่งให้บริการลูกค้าและประชาชนอย่างเต็มกำลังนั้น ในปีนี้มีหนึ่งบริการสำคัญที่ธนาคารออมสินจะเดินหน้า คือ e-payment  ตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้ประชาชนใช้ระบบชำระเงินที่ไม่ต้องถือเงินสด โดยจะออกแบบให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชนผู้มีรายได้น้อย ในรูปแบบบัตรประชาชนผู้มีรายได้น้อย People Card ซึ่งเป็นบัตรกดเงินสดสำหรับประชาชนผู้มีรายได้น้อย รวมถึงการให้สินเชื่อวงเงินฉุกเฉินผ่านโมบายแบงก์กิ้ง MyMO ซึ่งสินเชื่อเหล่านี้จะอยู่ในกรอบความคิดตามนโยบายรัฐ คือความพอเพียง มีวินัยทางการเงิน เพื่อให้เศรษฐกิจได้รับการพัฒนาสู่ความยั่งยืนต่อไป”ผู้อำนวยการธนาคารออมสินกล่าว

 

นายชาติชายกล่าวต่อไปว่า เพื่อเป็นการสนับสนุนงานวิเคราะห์และวิจัยเชิงลึกแก่หน่วยงานภายในธนาคารออมสิน และใช้เป็นสัญญาณเตือนสำหรับหน่วยงานภาครัฐเพื่อให้รับรู้ปัญหาและแนวทางป้องกัน ตลอดจนเป็นแนวคิดในด้านเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ ธนาคารออมสินจึงเปิด “ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ธุรกิจและเศรษฐกิจฐานราก ธนาคารออมสิน” โดยศูนย์วิจัยฯดังกล่าวจัดตั้งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่สนับสนุนงานวิจัยเชิงลึกด้านเศรษฐกิจ ธุรกิจและเศรษฐกิจฐานราก ตลอดจนให้บริการข้อมูลข่าวสาร/ผลการวิเคราะห์วิจัย โดยที่มีจุดมุ่งหมายที่จะเป็นหน่วยงาน Think Tank ด้านเศรษฐกิจฐากรากของประเทศ ซึ่งเป็นการสนองนโยบายของรัฐที่ให้ธนาคารออมสินเป็นที่พึ่งของประชาชนฐานราก

ทั้งนี้ ในระยะเริ่มต้น ธนาคารออมสินได้ร่วมมือกับศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เพื่อใหเข้ามาช่วยเป็นที่ปรึกษาในการออกแบบและพัฒนาแบบจำลองเศรษฐกิจมหภาครายไตรมาสของธนาคารออมสิน เพื่อใช้ติดตามภาวะเศรษฐกิจและธุรกิจ วิเคราะห์ผลกระทบ ตลอดจนพยากรณ์แนวโน้มของเศรษฐกิจและธุรกิจ รวมทั้งใช้ประกอบการจัดทำรายงานต่างๆ เพื่อเผยแพร่ให้กับหน่วยงานภายในธนาคารและประชาชนทั่วไป

ขณะเดียวกันก็ได้ออกแบบและจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานรากขึ้นมา โดยข้อมูลที่ใช้สร้างดัชนีดังกล่าวได้มาจากการสอบถามความคิดเห็นของประชาชนในระดับฐานรากในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภาวะเศรษฐกิจ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต รายได้ที่จะได้รับในอนาคต การออมทั้งในปัจจุบันและอนาคต การก่อหนี้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต และสถานการณ์การจ้างงานและการใช้จ่ายทั้งในปัจจุบันและอนาคต เพื่อให้ธนาคารออมสินตลอดจนหน่วยงานอื่นๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนใช้ติดตามภาวะเศรษฐกิจฐานราก และใช้เป็นสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้า เพื่อที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้รับรู้ปัญหา และสามารถหาแนวทางในการป้องกัน/แก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที

นอกจากกิจกรรมสำคัญที่ศูนย์วิจัยฯวางแผนว่าจะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การประมาณการภาวะเศรษฐกิจมหภาค และจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งจะเผยแพร่ในรูปแบบการแถลงข่าวในทุกเดือน พร้อมกับ      เอกสารเผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ นอกจากนั้นยังจะมีการจัดทำรายงานภาวะเศรษฐกิจและธุรกิจ รายงานภาวะเศรษฐกิจฐานราก รวมทั้งบทวิเคราะห์/บทความ/ผลการสำรวจความคิดเห็น ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจฐานราก
โดยหากประชาชนทั่วไปสนใจ สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารผ่านทางเว็บไซต์ WWW.gsb.or.th ของธนาคารออมสินได้


บันทึกโดย : วันที่ : 07 พ.ค. 2559 เวลา : 21:09:29
27-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 27, 2024, 2:06 am