เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
'พิโค ไฟแนนซ์' แนวทางแก้หนี้ฐานราก




 


ปัญหาหนี้นอกระบบยังเป็นสิ่งที่รัฐบาลให้น้ำหนักในการแก้ไขมาอย่างต่อเนื่อง   แม้ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลจะออกมาตรการต่างๆ  เพื่อดูแลผู้ที่เป็นหนี้ให้เข้ามาอยู่ในระบบ  แต่สถานการณ์ระดับหนี้นอกระบบก็ยังอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง  

และล่าสุดกระทรวงการคลัง มีก็แนวคิดและหาแนวทางในการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้มีรายได้น้อย  โดยนายกฤษฎา   จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)   เปิดเผยว่า    สศค.เตรียมเสนอแพคเกจการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้ระดับนโยบายและคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา   โดยจะมีเสนอตั้งพิโคไฟแนนซ์ (Pico) ซึ่งเล็กกว่านาโนไฟแนนซ์   เพราะกำหนดเงินทุนจดทะเบียนเพียง 5 ล้านบาท ขณะที่นาโนฯทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท
 
 
 

แต่พิโค ไฟแนนซ์ จะกำหนดขอบเขตการปล่อยกู้ว่าทำได้เฉพาะจังหวัดหรือเขตนั้นๆ และปล่อยสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 5 หมื่นบาท   อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 36% ต่อปี อัตราดอกเบี้ยเท่านาโน  ไฟแนนซ์

พิโคไฟแนนซ์จะเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ สามารถปล่อยแบบไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยผู้ประกอบการจะต้องปล่อยสินเชื่อในพื้นที่ที่มีการจดทะเบียน เช่น หากจดทะเบียนในจังหวัดใด ก็ปล่อยสินเชื่อในจังหวัดนั้น นอกจากนี้จะเสนอให้สถาบันการเงินทั้งรัฐ เอกชน และบริษัทประกัน สามารถทำธุรกรรมสินเชื่อบ้านสำหรับผู้สูงอายุได้ โดยเป็นนวัตกรรมทางการเงินประเภทหนึ่งที่รองรับสังคมสูงอายุในอนาคต

แนวทางดังกล่าวยังได้รับการสนับสนุนจาก  นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)  ที่เห็นว่า  พิโค ไฟแนนซ์ ซึ่งมีหลักเกณฑ์การให้กู้รายละไม่เกิน 5 หมื่นบาท   เป็นการปล่อยกู้คนละตลาดกับนาโนไฟแนนซ์ เพราะพิโคจะเป็นการเงินท้องถิ่น   ภายในแต่ละจังหวัด ซึ่งผู้ให้กู้หรือผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตสามารถให้สินเชื่อได้ในจังหวัดนั้นๆ เป็นการตอบโจทย์รายย่อยให้เข้าถึงสินเชื่อ
 
 
 
ซึ่งเรื่องดังกล่าว ธปท. จะเข้าดูแลร่วมกับกระทรวงคลัง   โดยอาจจะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปร่วมเป็นกรรมการในการกำกับดูแล    แต่เจ้าภาพหลักอยู่ที่กระทรวงการคลัง

นายกฤษฎา   ยังได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า    ผู้ประกอบการหรือเอกชนที่จะมาขอตั้งพิโคน่าจะเป็นคนที่อยู่ในชุมชนนั้น     และน่าจะมีการลงทะเบียนผ่านหน่วยงาน เช่น คลังจังหวัด ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ส่วนเรื่องที่ธนาคารออมสินเตรียมปล่อยกู้รายไม่เกิน 1 แสนบาทก็ทำได้ ซึ่งทั้งหมดจะรวบรวมเสนอเป็นแพ็กเกจเสนอให้ ครม.พิจารณา
         
สำหรับมาตรการเพิ่มเติมที่อยู่ในมาตรการแก้ไขหนี้นอกระบบ ประกอบด้วย การคุมเจ้าหนี้นอกระบบต้องคิดดอกเบี้ยอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้  ผ่านแก้ไขเพิ่มเติม ร่าง พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. ...ที่เสนอโดยกระทรวงยุติธรรม ที่เพิ่มโทษทางอาญาแรงขึ้น   ซึ่งกำหนดลักษณะความผิดฐานเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราเกิน 15% เพื่อควบคุมเจ้าหนี้นอกระบบที่มีพฤติกรรมรุนแรงและช่วยป้องกันการเอารัดเอาเปรียบจากประชาชน หากผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  
         
ขณะเดียวกัน จะมีมาตรการสินเชื่อผ่านสถาบันการเงินของรัฐ (แบงก์รัฐ) ทั้งธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. เบื้องต้นธนาคารออมสินจะให้ประชาชนที่มีหนี้นอกระบบเข้ามาขอสินเชื่อผ่านโครงการธนาคารประชาชน ที่คิดดอกเบี้ยเพียง 0.75-1% ต่อเดือน วงเงินรายละไม่เกิน 2 แสนบาท โดยไม่ต้องมีบุคคลค้ำประกัน




 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 13 พ.ค. 2559 เวลา : 10:31:22
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 5:28 am