เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ทริสฯสะท้อนแนวโน้มภาพรวมอุตสาหกรรมของไทยปี2559


 


บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด โดยนางสาววัฒนา ถิรานุชิต กรรมการผู้จัดการ ได้จัดแถลงข่าวเพื่อสรุปภาพรวมเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของไทย รวมทั้งมุมมองของทริสเรทติ้งเกี่ยวกับอุตสาหกรรมที่น่าจับตามองในปี 2559 พร้อมทั้งสรุปผลงานให้บริการจัดอันดับเครดิตของทริสเรทติ้งประจำปี 2558 ซึ่งเป็นปีที่ 22 ที่ทริสเรทติ้งได้ให้บริการมาตั้งแต่ปี 2536 

สรุปภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2558 และแนวโน้ม 2559
          
เศรษฐกิจไทยในปี 2558 ขยายตัวต่ำกว่าคาดด้วยอัตรา 2.8% แม้ว่าจะเป็นอัตราการขยายตัวที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2557 แต่ยังคงเป็นอัตราการขยายตัวที่ต่ำกว่าศักยภาพของประเทศเมื่อพิจารณาจากอัตราการขยายตัวที่แท้จริงของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product - GDP) โดยเฉลี่ยที่เคยเท่ากับ 4.5% ต่อปีในระหว่างปี 2543-2555 เปรียบเทียบกับอัตราการขยายตัวโดยเฉลี่ยที่เท่ากับเพียง 2.1% ในระหว่างปี 2556 ถึง 2558 
          
การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2558 ได้รับการสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นของการเกินดุลการค้าสินค้า (คิดเป็น 40%) การเกินดุลการค้าบริการ (27%) และการขยายตัวของการลงทุนจากภาครัฐ (18%) ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของดุลการค้าบริการสอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ อย่างไรก็ดี การเพิ่มขึ้นของดุลการค้าสินค้าระหว่างประเทศนั้นกลับเป็นผลสะท้อนมาจากการลดลงของการนำเข้าเป็นส่วนใหญ่ ทั้งจากการลดลงของราคาน้ำมัน และลดลงของการนำเข้าสินค้า ซึ่งเป็นผลมาจากสภาพเศรษฐกิจที่อ่อนแอของประเทศไทย ในส่วนของปัจจัยลบที่ทำให้เศรษฐกิจไทยไม่ขยายตัวเท่าที่ควรได้แก่การลดลงอย่างต่อเนื่องของมูลค่าการส่งออก ราคาพืชผลเกษตรที่ตกต่ำที่ทำให้รายได้ในภาคการเกษตรลดลง การชะลอตัวของการบริโภคในประเทศ และความล่าช้าของการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ภาครัฐ
          
ทริสเรทติ้งพบว่าภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวด้านเศรษฐกิจของไทยในปี 2558 ประกอบด้วยการค้าส่งค้าปลีก ธุรกิจที่อยู่อาศัย การผลิตและจำหน่ายรถยนต์ ผู้ผลิตสินค้าเกษตร นอกจากนี้ สินค้าเกษตรซึ่งเน้นการส่งออกเป็นสำคัญ ได้แก่ กลุ่มอาหารทะเล เช่น ปลาทูน่า และกุ้ง ก็ได้รับผลกระทบจากปัญหาด้านผลผลิตจากการระบาดของโรคติดต่อ รวมทั้งมาตรการกีดกันทางการค้าที่เพิ่มขึ้นในรูปของมาตรฐานการนำเข้าที่สูงขึ้นจากประเทศผู้นำเข้าที่สำคัญ แม้ว่าราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก เช่น น้ำตาล และยางธรรมชาติ เริ่มมีการฟื้นตัว แต่ความต้องการในตลาดโลกยังคงอ่อนตัว ประกอบกับการแข่งขันที่รุนแรงจากผู้ส่งออกรายอื่น ๆ
          
ดัชนีทางเศรษฐกิจของไทยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2559 แสดงถึงการฟื้นตัวเล็กน้อยของการบริโภคของภาคเอกชนและการเพิ่มขึ้นของผลผลิตและราคาสินค้าเกษตร อย่างไรก็ดี มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐยังคงมีความจำเป็นเพื่อกระตุ้นการบริโภค และการลงทุนของภาคเอกชน ในขณะที่ผลประกอบการที่อ่อนตัวลงของธุรกิจในต่างจังหวัด แต่สินเชื่อส่วนบุคคลกลับมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ยังคงเป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นถึงการอ่อนตัวของกำลังซื้อในภาคเกษตรและความต้องการสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้นมาก ซึ่งควรจะต้องมีการบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสมเพื่อป้องกันการเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์ด้อยคุณภาพในระยะปานกลางและระยะยาว 
          
ภาวะเศรษฐกิจไทยสำหรับปี 2559 คาดว่าจะยังคงอ่อนตัว โดยมีอัตราการขยายตัวระหว่าง 2.7%-3.0% โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากมาตรการของรัฐบาลในการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ และการลงทุนโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชน รวมทั้งการฟื้นตัวของราคาสินค้าเกษตรที่จะส่งผลต่อรายได้ของเกษตรกร ในขณะที่ปัจจัยลบที่ยังคงอยู่ได้แก่การฟื้นตัวที่ต่ำกว่าคาด ของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่สำคัญของประเทศไทยโดยเฉพาะ จีน อาเซียน และญี่ปุ่น ในขณะที่มาตรการที่มีลักษณะเป็นการกีดกันทางการค้าสินค้าเกษตรส่งออกของไทยโดยอเมริกาและยุโรปมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมทั้งผลกระทบจากภาวะภัยแล้งและสภาพภูมิอากาศที่อาจกระทบต่อผลผลิตในประเทศ

ภาพรวมอุตสาหกรรมของไทยในปัจจุบันและแนวโน้มในปี 2559

 
ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ แนวโน้มคงที่ถึงลบ 

ในปี 2559 คาดว่าอัตราการเติบโตของสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ยังคงชะลอตัวต่อเนื่องจากปี 2558 และความสามารถในการทำกำไรมีแนวโน้มทรงตัวถึงลดลงจากปีก่อน อันเป็นผลจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2556 รวมถึง ภาระหนี้ภาคครัวเรือน และภาคธุรกิจที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดหนี้เสียเพิ่มขึ้นจำนวนมาก และความสามารถในการทำกำไรของธนาคารพาณิชย์ลดลงจากภาระการสำรองหนี้สูญที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ใน Q1 ปี 2559 ผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์เอกชนที่ยังไม่สอบทานก็ยังคงบ่งบอกแนวโน้มของการลดลงในความสามารถทำกำไรอย่างต่อเนื่อง 
          
ยอดคงค้างสินเชื่อรวมของระบบธนาคารพาณิชย์จากรายงานของธนาคารแห่งประทศไทย มีอัตราเติบโตชะลอตัวลงจาก 11% ในปี 2556 เป็น 5% และ 4% ในปี 2557 และ 2558 ตามลำดับ โดยในปี 2558 สินเชื่อแก่ธุรกิจขนาดใหญ่แทบไม่เปลี่ยนแปลงจากปี 2557 ขณะที่สินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและย่อม และสินเชื่อรายย่อยยังมีอัตราเติบโตประมาณ 6% อัตราสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพิ่มขึ้นจาก 2.2% ในปี 2557 เป็น 2.6% ในปี 2558 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของ NPL ในสินเชื่อที่ให้แก่ทั้ง 3 กลุ่ม โดยมีอัตรา NPL ในระดับ 1.6%, 3.5% และ 2.6% ตามลำดับ
          
ผลประกอบการปี 2558 ของธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 11 แห่ง ในฐานข้อมูลของทริสเรทติ้ง มีอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้เฉลี่ย 1.65% ลดลงต่อเนื่องจาก 1.98% ในปี 2556 และ 1.86% ในปี 2557 เนื่องจากต้นทุนด้านเครดิตเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น จาก 0.7% ในปี 2557 เป็น 1% ในปี 2558 อย่างไรก็ตาม ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนในระดับเพียงพอรองรับความเสี่ยงในอนาคต
          
ทริสเรทติ้งคาดว่า การขยายตัวของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ในปี 2559 จะมีอัตรา 3%-5% สอดคล้องกับการขยายตัวเศรษฐกิจและได้รับผลบวกจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล รวมถึงการขยายการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและระบบคมนาคมขนส่ง ส่วนความสามารถในการทำกำไรของธนาคารพาณิชย์ยังได้รับแรงกดดันจากภาระการสำรองหนี้สูญที่เพิ่มขึ้น การถดถอยลงของคุณภาพสินทรัพย์ ยังเป็นปัจจัยที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดต่อไป
          
ณ วันที่ 11 พ.ค. 2559 ธนาคารพาณิชย์ ที่จัดอันดับเครดิตโดยทริสเรทติ้งมีทั้งสิ้น 6 ราย มีอันดับเครดิตตั้งแต่ระดับ "A-" ถึง "AAA" ได้แก่ ธ. กรุงศรีอยุธยา (AAA/Stable) ธ. เมกะสากลพาณิชย์ (AA+/Stable) ธ. ธนชาต (AA-/Stable) 
          
ธ. ทิสโก้ (A/Stable) ธ. เกียรตินาคิน (A-/Stable) และ ธ. แลนด์แอนด์เฮ้าส์ (A-/ Positive Alert) ส่วนบริษัทโฮลดิ้งของธนาคารพาณิชย์ ได้แก่ บมจ. ทุนธนชาต (A+/Stable) และ บมจ. ทิสโก้ (A-/Stable)
 

ธุรกิจสินเชื่อเช่าซื่อรถยนต์ แนวโน้มคงที่ 
          
ในปี 2559 คาดว่าอุตสาหกรรมนี้จะยังคงชะลอตัวต่อเนื่องจากปี 2558 จากผลกระทบของโครงการรถยนต์คันแรก (1.25 ล้านคัน) ที่กระตุ้นให้เกิดความต้องการซื้อรถยนต์เกินอัตราที่แท้จริง เกิดเป็นการก่อหนี้ภาคครัวเรือนในระดับสูงและเกิดปัญหาอุปทานส่วนเกินในรถยนต์มือสองจนกระทั่งราคารถยนต์มือสองลดลงอย่างต่อเนื่องมากถึง 30%-35% เป็นนานถึง 2 ปีตั้งแต่กลางปี 2556 เมื่อรวมกับผลจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2556 ส่งผลให้เกิดหนี้เสียเพิ่มขึ้นจำนวนมาก และความสามารถในการทำกำไรของผู้ประกอบการลดลง จากภาระการสำรองหนี้สูญที่เพิ่มขึ้น
          
ยอดคงค้างสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ของผู้ประกอบการรายใหญ่ 20 รายในฐานข้อมูลของทริสเรทติ้ง มีมูลค่ารวม 1.9 ล้านล้านบาท ฟื้นตัวขึ้น 0.6% ในปี 2558 จากที่หดตัวลง 1.8% ในปี 2557 เทียบกับที่ขยายตัวเกินจริงถึง 38% ในปี 2555 และ 21% ในปี 2556 ในขณะเดียวกัน คุณภาพสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ก็ถดถอยลงอย่างต่อเนื่องในปี 2555 ถึง 2557 โดยอัตราสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพิ่มขึ้นจาก 1.2% ในปี 2556 เป็น 2.2% ในปี 2557 และทรงตัวในระดับ 2.2% ในปี 2558
          
จากภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวต่อไปในปี 2559 รวมทั้ง ราคารถยนต์มือสองฟื้นตัวเพียงเล็กน้อย 
          
ทริสเรทติ้งจึงมองว่าทิศทางการขยายตัวของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์จะยังคงจำกัด ในขณะที่คุณภาพสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์น่าจะมีทิศทางที่ทรงตัวถึงลดลงหลังจากที่ผู้ประกอบการได้ตัดหนี้สูญออกไปจำนวนมากและมีภาระต้นทุนทางเครดิตในการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นในอัตราสูงในช่วงปี 2557-2558 ซึ่งกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรในช่วงดังกล่าว อย่างไรก็ตาม การถดถอยลงของคุณภาพสินทรัพย์ยังเป็นปัจจัยที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดต่อไป
          
ณ วันที่ 11 พ.ค. 2559 ผู้ประกอบการเช่าซื้อรถยนต์ที่จัดอันดับเครดิตโดยทริสเรทติ้งมีทั้งสิ้น 8 ราย มีอันดับเครดิตตั้งแต่ระดับ "BBB-" ถึง "AAA" โดยรายใหญ่เป็นธนาคารพาณิชย์ 3 ราย ได้แก่ ธ. ธนชาต (AA-/Stable) ธ. ทิสโก้ (A/Stable) และ ธ. เกียรตินาคิน (A-/Stable) นอกจากนี้ ยังมี บจก. โดโยต้าลีสซิ่ง (หุ้นกู้มีค้ำประกัน AAA/Stable) บมจ. อยุธยา แคปิตอล ออโต้ลีส (AA-/Stable) บมจ. เอเซียเสริมกิจลีสซิ่ง (BBB+/Stable) บมจ. ราชธานีลีสซิ่ง (BBB+/Stable) และ บมจ. ไมด้าลีสซิ่ง (BBB-/Stable) 

          
ธุรกิจการเกษตร แนวโน้มคงที่ถึงลบ 
          
เริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวในบางกลุ่มหลังจากที่กำไรของบริษัทต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมลดลงจากราคาตกต่ำในช่วงที่ผ่านมา ในส่วนของ ธุรกิจน้ำตาล นั้น ราคาน้ำตาลเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2558 ภาวะเอลนิโน่ส่งผลให้ผลผลิตอ้อยและน้ำตาลของประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ เช่น ไทย จีน และอินเดีย ลดลงในปี 2558/2559 ขณะที่บราซิลผู้ผลิตน้ำตาลอันดับหนึ่งของโลกผลิตน้ำตาลน้อยลงเพราะฝนตกหนักและยังคงนำอ้อยไปผลิตเอทานอลในสัดส่วนที่มากขึ้น ทำให้ปี 2558/2559 จะเป็นปีแรกในรอบ 6 ปีที่เกิดภาวะขาดดุลน้ำตาล (Deficit) ในตลาดโลก อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตน้ำตาลในประเทศไทยยังเผชิญความท้าทายจากปัญหาสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกทำให้ผลผลิตอ้อยและผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยลดลง คาดว่าผลผลิตน้ำตาลของไทยในปี 2558/2559 จะลดลงราว 10% เหลือประมาณ 10 ล้านตัน จากปีก่อนที่ผลิตน้ำตาลได้ 11.34 ล้านตัน ทำให้การฟื้นตัวของกำไรและกระแสเงินสดอาจจะเป็นไปอย่างจำกัดจากปัญหาต้นทุนเพิ่มและผลผลิตน้ำตาลที่ลดลง 
          
ปัจจุบันทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจน้ำตาล 3 ราย ได้แก่ บจก. น้ำตาลมิตรผล (A+/Stable) บมจ. น้ำตาลขอนแก่น (KSL -- A/Stable) และ บมจ. น้ำตาลบุรีรัมย์ (BRR -- BBB-/Stable)
          
ในส่วนของ ธุรกิจไก่และหมู นั้น ปัญหาอุปทานล้นตลาดส่งผลให้ธุรกิจเข้าสู่วงจรตกต่ำตามวัฏจักรอีกครั้งในปี 2558 สำหรับปี 2559 คาดว่าผู้ประกอบการในธุรกิจสัตว์บกจะได้รับประโยชน์จากต้นทุนอาหารสัตว์ที่ลดลงและการฟื้นตัวของราคาเนื้อสัตว์บก ปัจจัยบวกสำหรับธุรกิจไก่ยังคงมาจากความต้องการส่งออกที่เพิ่มขึ้น โดยในช่วงปี 2558 ประเทศไทยมีการส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่รวม 681,073 ตัน เติบโต 17.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน คาดว่าผู้ประกอบการจะมีความสามารถในการทำกำไรที่ดีขึ้นและมีผลกำไรที่ดีขึ้นในปี 2559
ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตให้แก่ผู้ประกอบที่ดำเนินธุรกิจสัตว์บก 2 ราย ได้แก่ บมจ. เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF -- A+/Stable) และ บมจ. เบทาโกร (A/Stable)
          
ในส่วนของ ธุรกิจอาหารทะเล นั้น ยังคงต้องจับตาเรื่องการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (IUU) ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการตรวจสอบจากสหภาพยุโรป หากสหภาพยุโรปตัดสินว่าการประมงของไทยไม่เป็นไปตามเกณฑ์ IUU หรือการแก้ไขปัญหาทางด้านประมงของประเทศไทยให้เป็นไปตามมาตรฐานของสหภาพยุโรปยังไม่คืบหน้าอย่างชัดเจน สหภาพยุโรปจะประกาศห้ามนำเข้าอาหารทะเลจากประเทศไทย การห้ามนำเข้าอาจรวมถึงผลิตภัณฑ์กุ้งซึ่งใช้ปลาป่นที่จับจากเรือประมงในการเลี้ยง ดังนั้นการส่งอาหารทะเลรวมถึงกุ้งไปสหภาพยุโรปมูลค่า 20,791 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 10% ของการส่งออกสินค้าประมงไทย ในปี 2558 ได้รับผลกระทบ ทางด้านปัจจัยบวกในธุรกิจนี้จะเป็นเรื่องปัญหาโรคกุ้งตายด่วนที่คลี่คลายลงเป็นลำดับ คาดว่าผลผลิตกุ้งจะเพิ่มขึ้นประมาณ 10% เป็น 290,000 ตันในปี 2559 แต่ผู้ประกอบการอาจเจอความท้าทายทางด้านการหาตลาดทดแทนตลาดสหภาพยุโรปหลังจากสหภาพยุโรปได้ยกเลิกสิทธิประโยชน์ภาษีสำหรับกุ้งนำเข้าจากไทยภายใต้ GSP ตั้งแต่ปี 2557-2558 
          
ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับอาหารทะเล 2 ราย ได้แก่ บมจ. ไทย ยูเนี่ยนกรุ๊ป (TU – AA-/Stable) และ บมจ. ซีเฟรชอินดัสตรี (BBB/Stable) ซึ่งคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากปัญหา IUU ไม่รุนแรงหากทาง EUประกาศยกเลิกการนำเข้าอาหารทะเลรวมถึงกุ้งจากไทยเนื่องจากมีตลาดและฐานการผลิตในประเทศอื่นช่วยลดความเสี่ยง 

ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ แนวโน้มคงที่ถึงลบ
         
 สภาพตลาดค่อนข้างอิ่มตัว โดย ณ สิ้นปี 2558 จำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในทุกระบบอยู่ที่ 83.0 ล้านเลขหมาย ลดลงจาก 97.0 ล้านเลขหมาย ณ สิ้นปี 2557 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลกระทบมาจากการลงทะเบียนซิมโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบเติมเงิน ส่วนอัตราการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ต่อประชากรอยู่ที่ 123.5% ทั้งนี้ พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ประกอบกับราคาโทรศัพท์มือถือที่ลดลง ทำให้มีการขยายตัวมากขึ้นของการใช้บริการด้านข้อมูล ซึ่งส่งผลให้สัดส่วนรายได้จากการให้บริการด้านข้อมูลผ่านโทรศัพท์มือถือ (Non-Voice Services) เพิ่มขึ้น ในอนาคตการใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อวัตถุประสงค์อื่นนอกจากการสื่อสารปกติทั่วไป (เช่น เพื่อความบันเทิง การซื้อขายสินค้าผ่านออนไลน์ การทำธุรกรรมทางการเงิน) จะยังคงเติบโตต่อไป
          
ภายใต้สภาวะที่จำนวนผู้ใช้บริการที่ค่อนข้างอิ่มตัว และการที่ผู้ใช้บริการมีความอ่อนไหวด้านราคา ทำให้การแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการยังคงรุนแรง โดยผู้ประกอบการได้ออกโปรแกรมส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง เพื่อแย่งผู้ใช้บริการมาจากคู่แข่ง นอกจากนั้น ความต้องการใช้ข้อมูลที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วทำให้ผู้ประกอบการเร่งสร้างความพร้อมของเครือข่าย ซึ่งสะท้อนได้จากการประมูลใบอนุญาตการใช้คลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ และ 900 เมกะเฮิรตซ์ ที่มีการแข่งขันที่รุนแรงจนทำให้ราคาใบอนุญาตสูงเกินกว่าที่คาดไปมาก 
          
เมื่อมองไปข้างหน้าผู้ประกอบการจะยังคงมีภาระต้นทุนค่าใบอนุญาตในระดับสูง การลงทุนขยายโครงข่ายอย่างต่อเนื่อง และภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ผลประกอบการจะถูกกดดันจากการแข่งขันที่สูง และข้อกำหนดของทางการที่ควบคุมราคาค่าบริการ 
          
ทั้งนี้ ปัจจุบันทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตให้แก่บริษัทในกลุ่มธุรกิจนี้ 4 บริษัท ได้แก่ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (AA+/Stable) บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (AA+/Stable) บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น (BBB+/Stable) และ บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (BBB+/Stable)


ธุรกิจที่อยู่อาศัย แนวโน้มคงที่ 
          
ทริสเรทติ้งยังคงแนวโน้ม "คงที่" สำหรับธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในปี 2559 โดยยอดขายที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลอาจเติบโตได้เพียงเล็กน้อยในขณะที่ความต้องการในต่างจังหวัดยังคงได้รับผลกระทบเชิงลบจากภาวะภัยแล้งและราคาพืชผลทางการเกษตรที่ตกต่ำ กลุ่มผู้ประกอบการที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตจากทริสเรทติ้งยังคงเน้นกลุ่มลูกค้าและนักลงทุนที่มีรายได้ค่อนข้างสูงในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทั้งนี้ เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ยังคงค่อนข้างเข้มงวดในการปล่อยกู้ให้แก่กลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ต่ำโดยธนาคารยังมีความกังวลเกี่ยวกับภาระหนี้ครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ความพยายามของภาครัฐในการกระตุ้นความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยโดยการให้ธนาคารของรัฐปล่อยสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำแก่ผู้ซื้อบ้านหลังแรกสำหรับที่อยู่อาศัยที่มีราคาต่ำกว่า 1.5 ล้านบาทน่าจะช่วยกระตุ้นตลาดได้ในระยะสั้นถึงปานกลาง อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งมองว่าการลงทุนของภาครัฐในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานน่าจะเป็นปัจจัยหลักที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศและกระตุ้นความต้องการซื้อบ้านในระยะยาว 
          
ในส่วนของราคาที่อยู่อาศัยนั้นยังคงมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเขตเมือง เนื่องจากราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญแม้ราคาวัสดุก่อสร้างและค่าแรงจะทรงตัวก็ตาม อัตรากำไรของผู้ประกอบการหลายรายมีแนวโน้มที่จะปรับลดลงจากการให้ส่วนลดหรือมีการส่งเสริมการขายเพื่อกระตุ้นยอดโอนเพิ่มมากขึ้น การแข่งขันน่าจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นในสินค้าที่อยู่อาศัยทุกระดับราคา โดยการเติบโตของยอดขายบ้านที่มีราคาค่อนข้างต่ำยังชะลอตัวอยู่ ในขณะที่อุปทานที่อยู่อาศัยราคาสูงมีเพิ่มมากขึ้น ผู้ประกอบการบางรายที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตจากทริสเรทติ้งจึงหันไปเน้นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่เป็นชาวต่างชาติในประเทศต่าง ๆ เช่น ไต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์ และจีน
          
ปัจจุบัน ทริสเรทติ้งมีการจัดอันดับเครดิตให้แก่ผู้ประกอบการในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทั้งสิ้น 19 ราย โดยมีอันดับเครดิตอยู่ระหว่าง "BB+" ถึง "A+" ยอดจองซื้อ (Pre-sale) ที่ค่อนข้างสูงในช่วงปี 2555-22556 ส่งผลให้การรับรู้รายได้ของผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงเติบโตในปี 2558 อย่างไรก็ตาม ตัวเลขอัตราส่วนทางการเงินของผู้ประกอบการในธุรกิจนี้มีแนวโน้มที่อ่อนตัวลง โดยผู้ประกอบการหลายรายมีอัตรากำไรที่ลดลงในขณะที่ภาระหนี้สินอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง ยอดขายสะสมคงเหลือ (Pre-sale) ณ สิ้นปี 2558 ของผู้ประกอบการทั้ง 19 รายอยู่ที่ระดับประมาณ 240,000-250,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีแนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" ทริสเรทติ้งปรับลดอันดับเครดิตผู้ประกอบการ 1 รายในปี 2558 และสำหรับไตรมาสที่ 1 ของปี 2559 ทริสเรทติ้งปรับลดอันดับเครดิตผู้ประกอบการ 2 รายและปรับเพิ่มอันดับเครดิต 1 ราย 

          
ธุรกิจการท่องเที่ยว แนวโน้มเป็นบวก 
          
การท่องเที่ยวของไทยมีศักยภาพในการเติบโตที่ดีเนื่องจากมีแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณภาพในขณะที่ค่าครองชีพไม่สูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศรอบข้าง การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในเอเชียโดยเฉพาะจีนกระตุ้นให้ความต้องการท่องเที่ยวเติบโตสูงมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งช่วยลดทอนผลกระทบบางส่วนจากปัญหาด้านเศรษฐกิจ การเมือง และภัยธรรมชาติในประเทศ รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติขยายตัวอย่างรวดเร็วจากที่เคยคิดเป็นสัดส่วน 5% ของ GDP ในปี 2553 เพิ่มเป็น 11% ในปี 2558 จำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ เพิ่มขึ้นเป็น 30 ล้านคนในปี 2558 โดยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนนี้เป็นนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน
          
รายได้ของผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมส่วนมากขยายตัวขึ้นในปี 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2557 ซึ่งเป็นปีที่ได้รับผลกระทบในเชิงลบจากปัญหาการเมือง ผู้ประกอบการที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีรายได้รวมสูงขึ้น 8% ในขณะที่อัตรากำไรจากการดำเนินงานค่อนข้างทรงตัวโดยอยู่ที่ 21% ในปี 2558 อัตราหนี้ต่อทุนขยับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 0.87 เท่า 

          
จากการลงทุนต่อเนื่องของผู้ประกอบการรายใหญ่ 
          
ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม 3 ราย ได้แก่ บมจ. ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT -- A+/Stable) บมจ. โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา (CENTEL-- A/Stable) และ บมจ. ดุสิตธานี (DTC -- BBB+/Stable)

          ผลงานให้บริการอันดับเครดิตในปี 2558 และ 2559
          กรรมการผู้จัดการทริสเรทติ้งกล่าวว่า ในช่วงปี 2558 ทริสเรทติ้งให้บริการจัดอันดับเครดิตให้แก่ลูกค้าใหม่จำนวน 29 ราย เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่ 20 ราย โดยปัจจุบัน มีลูกค้าที่ใช้บริการจัดอันดับเครดิตทั้งประเภทองค์กรและตราสารหนี้ซึ่งเป็นลูกค้าทั้งภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจที่ให้ทริสเรทติ้งเปิดเผยผลดับเครดิตต่อสาธารณชนรวม 141 ราย 
          มูลค่าการออกตราสารหนี้ใหม่ภาคเอกชนในปี 2558 เท่ากับ 572,424 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 568,887 ล้านบาทในปี 2557 ส่วนในช่วงสี่เดือนแรกของปี 2559 มูลค่าการออกตราสารหนี้ใหม่ภาคเอกชนเท่ากับ 202,371 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 48% เมื่อเทียบกับ 136,834 ล้านบาทในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2558 สำหรับปี 2559 ทริสเรทติ้งคาดว่า มูลค่าการออกตราสารหนี้ใหม่ภาคเอกชนจะอยู่ในช่วง 550,000-580,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำยังคงกระตุ้นให้ผู้ประกอบการออกตราสารหนี้เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนระยะยาวที่มีต้นทุนต่ำเพื่อใช้สำหรับขยายกิจการหรือการชำระคืนหนี้เดิม โดยอุตสาหกรรมที่มีการออกตราสารหนี้มากที่สุดได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ สื่อสาร วัสดุก่อสร้าง อาหาร ขนส่ง รวมถึงธนาคารและสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร




 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 16 พ.ค. 2559 เวลา : 09:55:12
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 12:32 am