เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
จับตาความยั่งยืนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย




 


เศรษฐกิจไทยกำลังผ่านพ้นครึ่งแรกของปี 2559  ไปในอีกไม่ช้า  แต่ทิศทางเศรษฐกิจก็ยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง   แม้คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะประกาศตัวเลขเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสแรก ที่ขยายตัวได้ถึง 3.2%  ซึ่ง        นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการ สศช.  เชื่อว่าตัวเลขดังกล่าว แสดงถึงพัฒนาการที่ดีขึ้นต่อเนื่องและยังเป็นอัตราที่สูงสุดในรอบ 3 ปี   โดยมีแรงสนับสนุนจากหลายส่วนทั้งการท่องเที่ยว การใช้จ่ายภาครัฐ การใช้จ่ายภาคครัวเรือน

และหากเทียบกับหลายๆ ประเทศ ที่เศรษฐกิจส่วนใหญ่ชะลอตัวลง  โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาต่ำสุดใน 8 ไตรมาส  จีนก็ต่ำสุดในรอบ 6-7 ปี จึงเป็นสัญญาณที่ดีของไทย ที่จะทำให้นักลงทุนในโลกมีความมั่นใจ   และหันมาดูโอกาสลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น
 

ด้านนายสมคิด   จาตุศรีพิทักษ์    รองนายกรัฐมนตรี ก็ระบุว่า   เศรษฐกิจที่โต 3.2% มีความหมายมาก ถือว่าเป็นข่าวดีและเป็นจุดพลิกผันสำคัญด้านความเชื่อมั่นต่อประเทศไทยว่าขณะนี้เศรษฐกิจเริ่มพลิกฟื้นแล้ว   ส่วนแนวโน้มตลอดปีนี้น่าจะฟื้นตัว แต่ยังต้องเฝ้าการส่งออก ทั้งนี้รัฐบาลให้ความสำคัญกว่าคือการปฏิรูปต่อเนื่อง เพื่อให้การเติบโตยั่งยืน
 
 

 
แต่สำหรับผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักเศรษฐศาสตร์ที่มีต่อสถานะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ของกรุงเทพโพลล์   พบว่า  อยู่ที่ระดับ 36.15 เพิ่มขึ้นจากการสำรวจครั้งที่ผ่านมา ที่อยู่ในระดับ 33.93   และเป็นการเพิ่มขึ้น 4 ไตรมาสติดต่อกัน  แต่ค่าดัชนีที่อยู่ในระดับต่ำกว่า 50 สะท้อนให้เห็นถึงสถานะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันที่ยังอ่อนแอเป็นอย่างมาก

ส่วนมุมมองของหน่วยงานภาคเอกชน นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย   เปิดเผยว่า สัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจากตัวเลขของสภาพัฒน์ เป็นการฟื้นตัวอย่างอ่อนและไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนและผู้บริโภคที่ยังเปราะบาง ในไตรมาส 2  ก็จะยังไม่เห็นการฟื้นตัวที่โดดเด่น คาดว่าในครึ่งปีแรกจีดีพีน่าจะขยายตัวได้ 3% ขึ้นไป และจะเห็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนในครึ่งปีหลัง
 

ขณะที่ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (อีไอซี) ระบุว่า จากตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสแรกที่โต 3.2% จึงได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้เป็น 2.8% จากเดิม 2.5% แต่เศรษฐกิจไทยยังคงมีความเสี่ยงจากกำลังซื้อครัวเรือน รวมทั้งการจ้างงานและชั่วโมงทำงานที่ลดลง
         
นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เริ่มเห็นสัญญาณการบริโภคขยายตัวมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการบริโภคด้านการท่องเที่ยว ขณะที่งบกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐมีการเบิกจ่ายดีขึ้น คาดว่าจะทำให้มีการจ้างงาน ผู้ประกอบการมียอดขายสินค้าเพิ่มขึ้น
 
         
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 20 พ.ค. 2559 เวลา : 19:14:31
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 4:39 pm