แบงก์-นอนแบงก์
EXIM BANK เร่งพัฒนาบริการครบวงจรเพื่อผู้ส่งออก SMEs-ลั่นไม่แข่ง/ไม่แย่งลูกค้าแบงก์พาณิชย์


 

กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK ชูนโยบายทำงานร่วมกับพันธมิตร ไม่แข่งขันกับธนาคารพาณิชย์ เป็นศูนย์กลางให้บริการทางการเงินและคุ้มครองความเสี่ยงการค้าการลงทุนของไทย โดยเฉพาะใน CLMV และประเทศยุทธศาสตร์ของรัฐบาล พร้อมเดินหน้าสร้างประเทศไทย 4.0 ที่มีศักยภาพและแข่งขันได้ในโลกยุคดิจิทัลและนวัตกรรม รวมทั้งตั้งเป้าขยายจำนวนรายฐานลูกค้าเอสเอ็มอีให้มากขึ้น
 

นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกยังอยู่ในทิศทางไม่สดใส เนื่องจากประเทศเศรษฐกิจหลักของโลกหลายแห่งยังเผชิญปัญหาเศรษฐกิจภายใน ขณะที่จีนซึ่งเคยเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจโลกชะลอความร้อนแรงลง ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยซบเซาอย่างต่อเนื่องไปด้วย ประกอบกับภาคการส่งออกที่เคยเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยังหดตัวมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2556-2558 โดยมีสาเหตุมาจากปัญหาเศรษฐกิจโลกและราคาน้ำมัน ตลอดจนสินค้าโภคภัณฑ์ปรับลดลงมาก แต่ปัญหาหลักของภาคการส่งออกของไทยคือ โครงสร้างการผลิตสินค้าส่งออกของไทยยังไม่สามารถแข่งขันได้ในตลาดระดับบน ขณะที่การแข่งขันด้านราคาในตลาดล่างก็สู้ไม่ได้ ทางออกของประเทศไทยคือ การปฏิรูปเศรษฐกิจไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (Valued Based Economy) หรือประเทศไทย 4.0 และ EXIM BANK พร้อมจะเข้าไปมีบทบาทสนับสนุนการปฏิรูปเศรษฐกิจดังกล่าว
 
 
 
 
 กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK เปิดเผยต่อไปว่า EXIM BANK กำลังเร่งพัฒนาบริการเบ็ดเสร็จเพื่อ SMEs โดยใช้สินเชื่อควบคู่กับประกันการส่งออกและลงทุนเป็นเครื่องมือขยายธุรกิจและบุกตลาดของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะการค้าการลงทุนของไทยใน CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) และประเทศตลาดใหม่ตามยุทธศาสตร์ของรัฐบาล พร้อมทั้งขยายความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร เพื่อให้เกิดช่องทางใหม่ๆ ที่จะให้แพ็กเกจบริการทางการเงินของ EXIM BANK เข้าถึงผู้ประกอบการไทยที่ต้องการยกระดับประสิทธิภาพการผลิตและขยายตลาดในโลกการค้ายุคใหม่ได้อย่างยั่งยืน แข่งขันได้ด้วยคุณภาพและเอกลักษณ์ของแบรนด์ไทย รวมถึงการทยอยเปิดสำนักงานตัวแทนใน CLMV โดยคาดว่าจะสามารถเปิดที่เมียนมาได้เป็นแห่งแรกภายในปีนี้ 
 
 
กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK เปิดเผยต่อไปว่า EXIM BANK มุ่งเน้นการสร้างกลุ่มผู้ประกอบการทุกขนาดธุรกิจที่แข็งแรง โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายกลางและรายย่อย (SMEs) ดังนี้ 1. Smart Start Up หรือผู้เริ่มต้นทำธุรกิจที่ใช้นวัตกรรมในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและบริการ เพื่อการเติบโตทางการตลาดอย่างก้าวกระโดด 2. Advanced S หรือกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กที่มีศักยภาพสูง มียอดขายและเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง พร้อมขยายการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ 3. Amazing M หรือกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางที่เข้มแข็ง 4. ผู้ประกอบการทั้งรายเล็ก กลาง และใหญ่ที่ต้องการการสนับสนุนจาก EXIM BANK เพื่อเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพแต่ยังแข่งขันในตลาดระดับบนไม่ได้ EXIM BANK พร้อมจะให้การสนับสนุนเงินทุนเพื่อปรับโครงสร้างการผลิต ปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและเทคโนโลยี วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ย้ายฐานการลงทุนไปยังต่างประเทศ รวมทั้งรับประกันความเสี่ยงทางการค้าและการเข้าไปลงทุนในต่างประเทศด้วย 

 
นายพิศิษฐ์ กล่าวว่า บทบาทใหม่ของ EXIM BANK คือ การทำหน้าที่เป็นทีมสนับสนุนการขยายการค้าการลงทุนของไทยในตลาดโลก ใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินและพันธมิตรของเราเป็นแนวร่วมนำพาประเทศไทยขยายธุรกิจการค้าการลงทุนเข้าไปในประเทศยุทธศาสตร์ของรัฐบาล โดยใช้จุดแข็งของบริการที่แตกต่างจากสถาบันการเงิน ได้แก่ บริการประกันการส่งออกและลงทุน ควบคู่กับแพ็กเกจการเงินที่ตอบสนองความต้องการของ SMEs ได้อย่างเบ็ดเสร็จ เพื่อช่วยให้การค้าการลงทุนระหว่างประเทศขยายตัวได้แม้ในปัจจุบันที่ภาวะเศรษฐกิจโลกยังชะลอตัว และขยายตัวได้เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในโลกการค้ายุคใหม่
 
 

นายพิศิษฐ์กล่าวว่า เฉพาะลูกค้าประกันการส่งออกของเอ็กซิมแบงก์ในปัจจุบันที่เป็นผู้ส่งออกไทยจะมีประมาณ 300 ราย ขณะที่เป็นผู้ซื้อสินค้าในต่างประเทศปลายทางที่ธนาคารดูแลใน 230 ประเทศ มีประมาณ 3,800 ราย ที่หากผู้ซื้อเหล่านี้ไม่จ่ายเงิน ธนาคารต้องจ่ายเงินแทนให้ลูกค้าที่ซื้อประกันการส่งออก ซึ่งมีเป้าหมายเพิ่มในสิ้นปีนี้ให้ได้ 450 ราย  และปีหน้าเป็น 600 ราย

สำหรับปี 2558 ที่ผ่านมา มียอดเคลมประกันการส่งออกประมาณ 10 กว่าล้านบาท จากยอดผู้ทำประกันการส่งออก 300 ราย คิดเป็นยอดที่รับประกันส่งออก 6.3 หมื่นล้านบาท โดยเป้าหมายปีนี้ยอดรับประกันส่งออกจะเพิ่มเป็น 6.9 หมื่นล้านบาท

"ประมาณปลายเดือนนี้ จะเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่สินเชื่อควบคู่ประกันการส่งออก และภายในปีนี้จะเปิดสำนักงานตัวแทนในเมียนมา เพื่อสนับสนุนธุรกิจไทยที่ไปลงทุนที่เมียนมา และใช้เป็นจุดติดต่อและปล่อยสินเชื่อพร้อมจัดทำเอกสาร ก่อนที่จะขยายไปอีก 2 ประเทศใน  CLMV ในปีหน้า"กรรมการผู้จัดการใหญ่เอ็กซิมแบงก์กล่าวและว่าส่วนการเปิดสำนักงานตัวแทนที่ประเทศอิหร่าน ในหลักการธนาคารพร้อมที่จะไป แต่กำลังพิจารณาเรื่องรายละเอียดบางประการอยู่ รวมถึงเรื่องผลกระทบด้านต่างๆ เช่น  เรื่องแซงชั่น และเรื่องความเสี่ยง รวมถึงการเปิดสำนักงานตัวแทนที่รัสเซียด้วย
 

กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวด้วยว่า โลกวันนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและก้าวกระโดด เราต้องก้าวตามให้ทันและทำงานอย่างเกื้อกูลกัน EXIM BANK จะไม่แข่งขันกับธนาคารอื่นๆ แต่จะทำงานร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เราพร้อมรับความเสี่ยงและบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนเติมเต็มช่องว่างทางการเงินในระบบ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยก้าวข้ามอุปสรรคทางการค้าในโลกยุคใหม่ได้ ขยายธุรกิจได้อย่างไร้พรมแดน และประสบความสำเร็จในระยะยาว

นายพิศิษฐ์ ย้ำว่า ผลิตภัณฑ์ที่ถือเป็นเรือธงของเอ็กซิมแบงก์ต่อจากนี้ไป คือ ประกันการส่งออก ไม่ใช่สินเชื่อที่จะต้องไปแข่งกับธนาคารพาณิชย์

"เราไม่มีนโยบายที่จะแข่งขันกับธนาคารพาณิชย์หรือไปแย่งลูกค้ามา แต่เราจะขยายความร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์และหน่วยงานอื่นเพื่อช่วยส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้มีความแข็งแกร่งขึ้น เช่น ร่วมมือกับธนาคารเอสเอ็มอีแบงก์ หากลูกค้าเริ่มที่จะส่งออกได้แล้ว เราก็จะร่วมมือกับธนาคารเอสเอ็มอีในการเข้าไปรับประกันการส่งออก รวมทั้งร่วมมือกับหน่วยงานอื่นที่รับผิดชอบดูแล อาทิ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) สภาอุตสาหกรรมฯ สภาหอการค้าไทย,กระทรวงพาณิชย์,กระทรวงอุตสาหกรรม และบีโอไอ เป็นต้น "นายพิศิษฐ์กล่าว

นายพิศิษฐ์กล่าวต่อไปว่า เป้าหมายหลักหลังเข้ามารับตำแหน่งเอ็มดีใหม่ของเอ็กซิมแบงก์ จะเน้นเพิ่มจำนวนรายลูกค้าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้มากขึ้น โดยเน้นเป็นวงกว้าง เพื่อจะได้ช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้มากขึ้นตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งจริงๆ ตั้งเป้าเพิ่มจำนวนรายให้มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 20% แต่ช่วงแรกในปีนี้ขอขยายให้ได้ 10% ก่อน และปีหน้าเพิ่มเป็น 15% ก่อนที่จะเป็น 20% ในปีที่ 3

"เดิมเอ็กซิมแบงก์มีจำนวนรายน้อย ต่อไปเราจะกระจายจำนวนรายให้มากขึ้นจะช่วยลดเรื่องความเสี่ยงลงไปได้มาก เพราะฐานจำนวนรายจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยปัจจุบันจำนวนรายเอสเอ็มอีมีสัดส่วนประมาณ 40 % ซึ่งภายใน 2 ปีนี้จะขยายเพิ่มเป็น 80-90%

ปัจจุบันเอ็กซิมแบงก์มีลูกค้าทั้งหมด 2 พันราย แต่เป็นลูกค้าที่แอ็กทีฟประมาณ 1.2-1.3 พันราย ซึ่งตั้งเป้าหมายเพิ่มอีกเท่าตัว หรือประมาณ 4 พันราย และลูกค้าแอ็กทีฟ 2.5 พันราย

"จริงๆ แล้ว เป็นเป้าหมายที่จะทำให้ได้ภายใน 5 ปี แต่ท่าน รมว.คลัง อยากร่นระยะเวลาให้เร็วขึ้นภายใน 3 ปี "นายพิศิษฐ์กล่าว

สำหรับการบริหารต้นทุน เนื่องจากเอ็กซิมแบงก์ไม่ใช่ธนาคารที่รับเงินฝากได้ ฉะนั้นเป้าหมายของผมอีกประการที่ต้องการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับลูกค้ามากขึ้น จึงจำเป็นต้องบริหารต้นทุนให้แมชชิ่งกันมากขึ้น คือ กู้สั้นปล่อยกู้สั้นมากขึ้น โดยจะปรับเปลี่ยนเงินกู้ที่ธนาคารไปกู้มาปล่อยต่อ ให้เป็นระยะสั้นมากขึ้น เพื่อลดต้นทุนทางการเงิน และให้สอดคล้องกับกลุ่มลูกค้าที่เราจะเน้นปล่อยเงินกู้ที่เป็นกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีที่ไม่ได้ต้องการเงินกู้ระยะยาวมากนัก


 

LastUpdate 13/06/2559 16:53:01 โดย : Admin
24-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 24, 2024, 3:49 am