วิทยาศาสตร์
ก.วิทย์ สวทช. ผนึก ซิป้า ชวนผู้ประกอบการสมัครขอรับรองมาตรฐาน CMMI ดันมาตรฐานซอฟต์แวร์ไทย


 

กระทรวงวิทย์ฯ สวทช. ผนึก ซิป้า ชวนผู้ประกอบการสมัครขอรับรองมาตรฐาน CMMI ดันมาตรฐานซอฟต์แวร์ไทย ก้าวไกลสู่สากล


(13 กรกฎาคม 2559) ณ โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ นนทบุรี - กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(วท.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) (โดยซอฟต์แวร์ปาร์คและ ITAP) ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ     ซิป้า (SIPA) กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จัดงานแถลงข่าวและเปิดตัวโครงการ “ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการได้รับมาตรฐาน CMMI” ประจำปี 2559 เพื่อเสริมความเข้มแข็งทางธุรกิจให้ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทย ทำงานได้อย่างมีระบบมาตรฐานและมีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมยกระดับภาพลักษณ์สินค้าและอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยก้าวสู่การยอมรับในระดับสากล

 
 
นายศุภชัย จงศิริ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ กล่าวว่า SIPA เล็งเห็นความสำคัญของกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ให้ได้ระดับมาตรฐานสากล   จึงได้ผลักดันให้มีโครงการ SPI@ease และ CMMI โดยร่วมมือกับ สวทช. อย่างต่อเนื่องในการส่งเสริมผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทยให้ได้มาตรฐาน CMMI ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติจนถึงปัจจุบัน ทั้งสองหน่วยงานได้ผลักดันประเทศไทยเป็นประเทศที่มีบริษัทซอฟต์แวร์ผ่านการรับรองมาตรฐาน CMMI สูงเป็นลำดับที่ 15 ของโลก และครองอันดับที่ 1 ของภูมิภาคอาเซียนต่อเนื่องกัน 4 ปีซ้อน ปรากฎการณ์ดังกล่าวถือเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือ ความเชื่อมั่น และภาพลักษณ์ ตลอดจนเป็นความภาคภูมิใจที่จะทำให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยเป็นที่ยอมรับและแข่งขันในตลาดโลกได้ และหวังว่าผลจากการดำเนินโครงการดังกล่าว จะเป็นแรงผลักดันที่สำคัญ ที่จะทำให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของประเทศไทยมีความเข้มแข็ง และมีความพร้อมที่จะเข้าสู่ตลาดซอฟต์แวร์ระดับสากลมากขึ้น
 
 

นายเฉลิมพล ตู้จินดา ผู้อำนวยการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(วท.) กล่าวว่า “กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้แก่ เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (ซอฟต์แวร์พาร์ค) และโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (SIPA) เล็งเห็นและตระหนักถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ จึงร่วมมือกันผลักดันอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยอย่าง

ต่อเนื่อง โดยเริ่มก่อตั้งโครงการ SPI@ease ขึ้นในปี พ.ศ. 2550 ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น “โครงการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการได้รับมาตรฐาน CMMI” ในภายหลัง นับจากวันนั้นโครงการฯ ได้มีส่วนผลักดันให้ประเทศไทยมีบริษัทซอฟต์แวร์ที่สามารถพัฒนากระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ตามมาตรฐาน CMMI (Capability Maturity Model Integration) และผ่านการประเมินในระดับต่างๆ เพื่อกระตุ้นผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทยทำการปรับปรุงกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ และขอรับรองมาตรฐาน CMMI อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทัดเทียมกับต่างประเทศ และช่วยให้ผู้ประกอบการก้าวตามความต้องการของตลาดต่างประเทศได้ทัน เสริมความเข้มแข็งทางธุรกิจ 

อย่างไรก็ตามขณะนี้คณะทำงานได้ดำเนินโครงการฯ ผ่านไปแล้ว 4 โครงการและ สามารถผลักดันให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยได้รับการรับรอง CMMI แล้วสูงถึง 70 ราย จากจำนวนบริษัทในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองทั้งสิ้น 118 ราย สำหรับในปี พ.ศ.2559 นี้ โครงการฯ เปิดรับสมัครบริษัทเข้าร่วมโครงการ ขอการรับรองมาตรฐาน CMMI ทั้ง CMMI for development และ CMMI for services ในระดับที่ 2 และ 3 เพื่อยกระดับและปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและการบริหารจัดการคุณภาพของซอฟต์แวร์ ตลอดจนการบริการด้านซอฟต์แวร์ให้มีศักยภาพที่จะเติบโตและขยายกิจการเป็นที่ยอมรับในระดับสากลได้

ดร.ฐิตาภา สมิตินนท์ ผู้อำนวยการโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) กล่าวว่า การดำเนินงานด้วยความตั้งใจของทุกฝ่ายในโครงการฯ เกิดจากความร่วมมือระหว่าง SIPA และ สวทช. โดย ITAP และ ซอฟต์แวร์ปาร์คเด่นชัดมากขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า ยกระดับกระบวนการผลิตซอฟต์แวร์ให้มีคุณภาพด้วยการทำงานที่มีกระบวนการตามมาตรฐาน CMMI อันเป็นมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล และเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างศักยภาพ ลดความเสี่ยงด้านการบริหารบุคลากร โดยทำงานร่วมกันเป็นทีมและสามารถเปลี่ยนถ่ายงานภายในทีมงานได้ง่าย ทำให้สามารถส่งมอบงานที่มีคุณภาพได้ครบถ้วนตรงตามกำหนดเวลา ภายใต้งบประมาณที่กำหนด 

ทั้งนี้มาตรฐาน CMMI ดังกล่าวยังช่วยยกระดับภาพลักษณ์สินค้าและอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยให้ก้าวขึ้นไปสู่การยอมรับในระดับสากลด้วย สำหรับความร่วมมือในการดำเนินโครงการในปี พ.ศ.2559 นี้ จะเป็นการตอกย้ำความมั่นใจว่า ภาครัฐพร้อมที่จะส่งเสริมและผลักดันไทยให้เป็นอีกหนึ่งประเทศที่สามารถพัฒนาซอฟต์แวร์ที่มีคุณภาพออกสู่ตลาดสากลในระดับเท่าเทียมกับนานาประเทศได้ โดยมุ่งหวังว่าผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทยจะมุ่งพัฒนาและนำบริษัทเข้าสู่การประเมินในระดับที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมสร้างอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยให้มีความเติบโต และเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ตามที่โครงการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการได้รับมาตรฐาน CMMI  ได้ตั้งใจไว้


 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 13 ก.ค. 2559 เวลา : 12:18:13
24-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 24, 2024, 10:26 am