เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ส่งออกครึ่งปีหลังยังไม่ฟื้น หวังพึ่งสหรัฐ และ CLMV : TMB Analytics


 


ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics คาดการส่งออกไทยในครึ่งปีหลังจะชะลอตัวต่อเนื่องร้อยละ 1.9 ทำให้ทั้งปี 2559 นี้จะหดตัวลงร้อยละ 1.8  จากอุปสงค์โลกที่ยังอ่อนแอและราคาสินค้าเกษตรที่อยู่ในระดับต่ำต่อไป อย่างไรก็ตามยังมองว่าการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ และ CLMV ยังสามารถเติบโตได้ในสินค้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และสินค้าอุปโภคบริโภค ตามลำดับ
ถึงแม้ทองคำที่ส่งออกมากในช่วงต้นปีช่วยให้มูลค่าการส่งออกกระเตื้องขึ้นในช่วงไตรมาสแรกของปี แต่หากมองในครึ่งปีแรกยังพบว่ามูลค่าส่งออกยังคงติดลบร้อยละ 1.6 ด้วยผลจากภาวะราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก และสินค้าโภคภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งทำให้ดัชนีราคาสินค้าส่งออกติดลบร้อยละ 1.5 และด้วยภาวะเศรษฐกิจของตลาดคู่ค้าสำคัญที่ฟื้นตัวได้ช้า ได้แก่ ตลาดสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น จีน อาเซียน 5 ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันคิดเป็นร้อยละ 46 ของการส่งออกรวม ส่งผลให้การนำเข้าไปเพื่อการบริโภคมีทิศทางชะลอตัวอยู่

อย่างไรก็ตาม ในครึ่งหลังของปีนี้จากแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่คาดว่ากระเตื้องขึ้นได้อย่างช้าๆ บวกกับปัจจัยเสี่ยงของผู้ประกอบการที่ถูกกระทบในเรื่องการกีดกันการค้า ภาวะการแข่งขันสูงในตลาดโลก และปัญหาโครงสร้างการผลิตของไทยที่ปรับตัวไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของตลาดโลก ทำให้ทางศูนย์วิเคราะห์ฯ คาดการณ์การขยายตัวของการส่งออกในครึ่งปีหลังปีนี้จะหดตัวร้อยละ 1.9 จากผลกระทบด้านราคาสินค้าส่งออกที่คาดว่าจะหดตัวต่อไปได้อีกแต่เป็นอัตราที่น้อยกว่าครึ่งปีแรก จากราคาสินค้าเกษตรที่เริ่มกระเตื้องขึ้นเป็นลำดับจากไตรมาสแรกของปี แม้ว่าจะพบว่าปัจจัยอุปทานมากขึ้นในตลาดโลก ในสินค้ามันสำปะหลังและยางพาราที่ถูกแรงกดดันด้านราคาจากอุปทานที่ยังล้นตลาดและความต้องการที่ลดลงจากจีน ส่วนสินค้าข้าวถูกคู่แข่งจากอินเดียและเวียดนามกดราคา

ถึงแม้ว่าภาพรวมการส่งออกในครึ่งปีหลังจะยังไม่สดใส แต่เราพบว่ายังมีตลาดส่งออกที่เติบโตได้ดี คือ ตลาดสหรัฐฯ และตลาด CLMV โดยการส่งออกไปสหรัฐอเมริกา คาดว่าปีนี้จะเพิ่มขึ้นได้ร้อยละ 1.9 จากสินค้าหมวดชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1) จากอุปสงค์ในสหรัฐที่ยังมีสูง ในขณะที่การส่งออกไปตลาด CLMV คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.2 จากสินค้าในหมวด อาหารเครื่องดื่ม สินค้าอุปโภคบริโภคประจำวัน น้ำมันเชื้อเพลิง (เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8) 

หากมองถึงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยด้วยการส่งออกในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จะพบว่าการส่งออกไทยยังคงอ่อนไหว และพึ่งพาเศรษฐกิจโลกในระดับสูง โดยเฉพาะจากตลาดจีน ญี่ปุ่น อาเซียน และมีลักษณะโครงสร้างการผลิตที่อยู่ในระดับต้นน้ำซึ่งมีมูลค่าเพิ่มต่ำ เป็นผู้รับจ้างผลิตมีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นและไม่สอดคล้องกับแนวโน้มการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานโลก ดังนั้น ทางออกที่ยั่งยืนของการส่งออกไทยในอนาคตที่จะช่วยให้มีการเติบโตอย่างมั่นคงและลดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาในตลาดโลก คือ การเน้นพัฒนาห่วงโซ่นี้ให้ก้าวสู่ระดับโลก ซึ่งปัจจุบันรัฐได้มีมาตรการส่งเสริม R&D ในกลุ่มอุตสาหกรรมหรือคลัสเตอร์ที่มีศักยภาพ อาทิ กลุ่มเคมีภัณฑ์ อาหารแปรรูป และอุปกรณ์การแพทย์และเวชภัณฑ์ยา เป็นต้น และการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีการเชื่อมต่อการผลิตตั้งแต่ระดับต้นถึงปลายน้ำ หรือที่ถูกเรียกกันว่า Industry 4.0 
 


 

LastUpdate 19/08/2559 15:23:44 โดย : Admin
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 5:38 am