เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ปฎิรูปสถาบันการเงินเฉพาะกิจรับ 3 ปัจจัยเสี่ยง


 


สถาบันการเงินเฉพาะกิจหรือแบงก์รัฐ (SFIs)   มีความสำคัญต่อประเทศมาอย่างยาวนาน  โดยเฉพาะการมีบทบาทเป็นเครื่องมือของรัฐบาลในทุกยุคทุกสมัย   เพื่อดำเนินนโยบายต่างๆ  ในการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของประเทศ   แต่เมื่อสถานการณ์ของโลกและสิ่งแวดล้อมต่างๆได้เปลี่ยนแปลงไป   บทบาทของSFIs  ควรจะเป็นอย่างไร   ดร.วิรไท   สันติประภพ  ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้กล่าวอย่างน่าสนใจในบางช่วงบางตอน  ของการเปิดสัมมนา”พลิกโฉมSFIsกับภารกิจที่ตอบโจทย์และตรงจุด  เพื่อเศรษฐกิจไทยเติบโตต่อเนื่อง”
 
 

โดยยอมรับว่า   SFIs มีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจการเงินไทยมาโดยตลอด สินทรัพย์ของSFIsในวันนี้มีขนาดสูงกว่า 5 ล้านล้านบาท  หรือคิดเป็นประมาณ 25% ของระบบสถาบันการเงินไทย   มีจำนวนสาขาเกือบ 2,500  แห่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ    ซึ่งสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นเป็นการเพิ่มขึ้นกว่า 1 เท่าตัวในช่วงเวลาแค่ 7 ปี
 
ขณะเดียวกันก็ปฎิเสธไม่ได้ว่าในทุกประเทศที่เป็นประชาธิปไตย   เรื่องการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะสั้นเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างมาก  จนทำให้การพัฒนาอย่างยั่งยืนถูกลดความสำคัญลง และบางโอกาสSFIs ยังถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อตอบสนองนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น  โดยไม่คำนึงถึงการบริหารความเสี่ยงอย่างรัดกุม  จนก่อให้เกิดความเสียหายต่อฐานะการดำเนินงานของ SFIs  และสร้างภาระการคลังให้แก่ประเทศในระยะยาว 
 
ดังนั้นในการสร้างความยั่งยืนให้กับ SFIs ในความเห็นของผู้ว่าการธปท. มีปัจจัยหลัก 4 ประการ ที่ต้องให้ความสำคัญ  ได้แก่  1. ฐานะการเงินที่มั่นคง  2.  ความสามารถของฝ่ายจัดการ  ซึ่งรวมถึงความสามารถในการสรรหาพนักงานที่มีความรู้ และมีอุดมการณ์ในการพัฒนาที่ยั่งยืน  3. ความเป็นเลิศในระบบปฎิบัติงาน  โดยเฉพาะการบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายใน  และปัจจัยสุดท้ายเรื่องความมั่นใจและความไว้วางใจจากประชาชน ผ่านการดำเนินการที่โปร่งใสตรวจสอบได้  และให้บริการที่เป็นธรรม 

ดังนั้นการปฎิรูปหรือการยกระดับศักยภาพของSFIs  จึงเป็นเรื่องสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว     และมีหลายมิติที่หลายหน่วยงานต้องเร่งทำงานร่วมกัน   เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วของโลก   โดยมีความท้าทายอย่างน้อย 3 ประการที่ SFIs และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องให้ความสำคัญ  ได้แก่   ความท้าทายที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3  ปีที่ผ่านมา  และจะรุนแรงมากขึ้นในอนาต   คือความผันผวนในระบบเศรษฐกิจการเงินโลก  ไม่ว่าจะเป็นความผันผวนเรื่องอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ  อัตราดอกเบี้ย  อัตราแลกเปลี่ยน   ราคาสินค้าโภคภัณฑ์    ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ   ซึ่งจะมีผลต่อรายได้ของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย  โดยเฉพาะSMEs    ผู้ส่งออกและเกษตรกร  
 

ความท้าทายประกาศที่ 2  ได้แก่ พัฒนาการของเทคโนโลยี   เพราะจะเป็นโอกาสของลูกค้าที่จะสามารถเลือกช่องทางการเข้าถึงบริการทางการเงินได้หลากหลาย  ง่ายขึ้น  ในราคาที่เหมาะสม  ขณะที่สถาบันการเงินจะเน้นการใช้เทคโนโลยีเพิ่มขึ้น  เพื่อลดต้นทุนในการปฎิบัติงาน   ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่ง ที่SFIs จะต้องพัฒนาระบบฐานข้อมูลทั้งของลูกค้าและข้อมูลที่เกี่ยวกับสภาวะแวดล้อมภายนอก   เพื่อให้การบริหารความเสี่ยงของSFIs  และลูกค้ามีประสิทธิภาพมากขึ้น

และประการที่ 3  เป็นความท้าทายจากกฎกติกาใหม่ๆที่จะเกิดขึ้น    ทั้งจากการกำกับดูแลของธปท.เอง   กฎเกณฑ์กติกาใหม่ๆ  การปฎิรูปรัฐวิสาหกิจ   มาตรฐานการบัญชีใหม่ๆ  หรือกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน  ซึ่งSFIs  จะต้องเตรียมความพร้อมทั้งความรู้ความเข้าใจของหน่วยปฎิบัติ    พนักงานที่มีอยู่ทั่วประเทศ  และความพร้อมของระบบงานที่เกี่ยวข้อง

 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 28 ส.ค. 2559 เวลา : 07:02:33
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 2:33 am