แบงก์-นอนแบงก์
กรุงเทพฯ คว้าแชมป์เมืองจุดหมายปลายทางโลกของมาสเตอร์การ์ด ประจำปี 2559


 


การสำรวจสุดยอดจุดหมายปลายทางโลกของมาสเตอร์การ์ดปีที่ 6 (Mastercard Global Destinations Cities Index) ประกาศผลวันนี้ว่า กรุงเทพมหานครคว้าแชมป์อันดับหนึ่งเมืองที่มีผู้เดินทางมาเยือนมากที่สุดในโลก ทั้งนี้เมือง 5 แห่งในเอเชียที่ติดอันดับเมืองสุดยอดของโลก ได้แก่  กรุงเทพมหานคร สิงคโปร์ กัวลาลัมเปอร์ โตเกียวและโซล ส่วนอีก 7 เมืองติดอันดับเมืองจุดหมายปลายทางที่มีการเติบโตสูงสุดคือ โอซากา เฉิงตู โคลอมโบ โตเกียว ไทเป ซีอานและเซียะเหมิน

 
การสำรวจดังกล่าวไม่เพียงจัดอันดับ 132 เมืองทั่วโลกที่มีผู้มาเยือนมากที่สุดเท่านั้น แต่ยังเป็นการคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวและการใช้จ่ายในปีปฏิทิน 2559 พร้อมกับนำเสนอข้อมูลที่ทำให้เข้าใจรูปแบบการเดินทางและการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยวทั่วโลกในเชิงลึกอีกด้วย ผลการสำรวจยังระบุด้วยว่าการเดินทางระหว่างประเทศและการใช้จ่ายยังเติบโตอย่างต่อเนื่องในอัตราที่รวดเร็วกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมทั่วโลก ชี้ให้เห็นว่าเมืองต่างๆ ยังคงเป็นพลังขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวม

 
ในปี 2559 กรุงเทพฯ ซึ่งคว้าตำแหน่งจุดหมายปลายทางอันดับหนึ่งของโลก จะต้องต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทุกมุมโลกมากถึง 21.47 ล้านคนซึ่งมากกว่าลอนดอนที่เป็นจุดหมายปลายทางอันดับสอง ทั้งนี้ จุดหมายปลายทาง 10 อันดับแรกที่จะต้อนรับนักท่องเที่ยวประเภทที่มีการค้างคืนมากที่สุด ได้แก่

1.     กรุงเทพมหานคร – 21.47 ล้านคน
2.     ลอนดอน – 19.88 ล้านคน
3.     ปารีส – 18.03 ล้านคน
4.     ดูไบ – 15.27 ล้านคน
5.     นิวยอร์ก – 12.75 ล้านคน
6.     สิงคโปร์ – 12.11 ล้านคน
7.     กัวลาลัมเปอร์ – 12.02 ล้านคน
8.     อิสตันบูล – 11.95 ล้านคน
9.     โตเกียว – 11.70 ล้านคน
10.  โซล – 10.20 ล้านคน

 
ดร. ยูวา เฮดริค-หว่อง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์และประธานสถาบันที่ปรึกษาด้านวิชาการ ประจำศูนย์มาสเตอร์การ์ดเพื่อการเติบโตแบบองค์รวม ให้ความเห็นว่า “ความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั่วโลกเป็นหนึ่งในความหวังของการฟื้นตัวจากวิกฤติเศรษฐกิจปี 2008-2009 กระแสนี้สืบเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชาการคนชั้นกลางตลาดเกิดใหม่หลายแห่ง สำหรับครอบครัวคนชั้นกลาง การเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศเป็นเรื่องสำคัญเนื่องจากครอบครัวเหล่านี้มีเงินสำหรับจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น จากรายงานของเรา จะเห็นได้ว่าเมืองสำคัญทั้ง 132 เมือง ปรากฎการเพิ่มขึ้นของนักเดินทางจากทั่วโลกในช่วงปี 2009 ถึง 2016 โดยมีจำนวนมากกว่ามูลค่ามวลรวมประชาชาติของโลกถึง 2.5 เท่า แสดงให้เห็นความสำคัญของการเติบโตที่ผนวกรวมทุกภาคส่วน ซึ่งเป็นการเติบโตในรูปแบบที่ให้ประโยชน์แก่สมาชิกส่วนใหญ่ในสังคม และยังสร้างอุปสงค์ในประเทศแม้สภาพเศรษฐกิจโลกโดยรวมจะอ่อนแอ สำหรับเมืองที่เป็นจุดหมายปลายทาง กุญแจสู่ความสำเร็จในปีต่อๆไป จะอยู่ที่ความสามารถในการเข้าถึงชนชั้นกลางที่กำลังเพิ่มจำนวนมากขึ้นในเมืองที่ป้อนนักเดินทางให้แก่จุดหมายปลายทางเหล่านั้น”

 ในโอกาสนี้ อีริค ชไนเดอร์ รองประธานอาวุโส เอเชียแปซิฟิก ที่ปรึกษามาสเตอร์การ์ด กล่าวว่า “เอเชียแปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่มีการเติบโตของนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศสูงที่สุดตั้งแต่ปี 2005 และจะยังคงเติบโตต่อไปสืบเนื่องจากการเพิ่มของชนชั้นกลางในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีนและอินเดีย ซึ่งมองหาประสบการณ์การเดินทางใหม่ๆ ในภูมิภาค ส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวมีการแข่งขันกันมากขึ้น ประเทศที่ต้องการดึงดูดนักท่องเที่ยวจำเป็นต้องสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการและความชื่นชอบของนักท่องเที่ยวที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญ การท่องเที่ยวมีพลังผลักดันให้สังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมในเมืองต่างๆเกิดการพัฒนาเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นเมืองในตลาดที่พัฒนาแล้วหรือกำลังพัฒนาก็ตาม ถึงแม้ว่าการท่องเที่ยวจะก่อให้เกิดความท้าทายต่างๆ แต่ก็เป็นตัวแปรที่ทำให้เกิดการลงทุนในเมืองนั้นๆ ดังนั้น ภาคธุรกิจและภาครัฐควรจะทำความเข้าใจกับการจัดการกับโอกาสด้านการท่องเที่ยว ว่าจะจัดการอย่างไรเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่เหมาะสมและยั่งยืนในเมืองนั้นๆ”

 
เมืองในเอเชียครองตำแหน่งเมืองจุดหมายปลายทางที่มีการเติบโตสูงสุด

 
ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา โอซากาเป็นเมืองที่มีการเติบโตด้านนักเดินทางจากต่างประเทศมากที่สุด ตามด้วย   เฉินตู ซึ่งเป็นเมืองหลวงของมณฑลเสฉวนของจีน ทั้งนี้ 10 เมืองปลายทางที่มีการเติบโตสูงสุดตาม CAGR (2009-2016) คือ

1.     โอซากา – 24.15 เปอร์เซ็นต์
2.     เฉิงตู – 20.14 เปอร์เซ็นต์
3.     อาบู ดาบี – 19.81 เปอร์เซ็นต์
4.     โคลัมโบ – 19.57 เปอร์เซ็นต์
5.     โตเกียว – 18.48 เปอร์เซ็นต์
6.     ริยาดห์ – 16.45 เปอร์เซ็นต์
7.     ไทเป – 14.53 เปอร์เซ็นต์
8.     ซีอาน – 14.20 เปอร์เซ็นต์
9.     เตหะราน – 12.98 เปอร์เซ็นต์
10.  เซียะเหมิน – 12.93 เปอร์เซ็นต์

การเติบโตของโอซากาในด้านจำนวนนักท่องเที่ยวเป็นผลจากความสำเร็จในการดึงดูดนักท่องเที่ยวจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักท่องเที่ยวจากจีนและเกาหลีใต้ สำหรับเมืองในประเทศจีนทั้ง 3 เมืองคือ เฉิงตู ซีอาน และเซียะเหมิน การเติบโตของทั้งสามเมืองแสดงให้เห็นว่าจีนเป็นประเทศที่ดึงดูดนักเดินทางจากต่างประเทศได้มากขึ้น ส่วนโคลัมโบซึ่งอยู่ในอันดับที่สี่ ก็แสดงให้เห็นการฟื้นตัวของอุตสากรรมการท่องเที่ยวหลังจากสงครามกลางเมืองจบลง

ความแตกต่างระหว่าง 10 อันดับจุดหมายปลายทางสุดยอดของโลกและจุดหมายปลายทางที่มีการเติบโตสูงที่สุด แสดงให้เห็นว่าเอเชียแปซิฟิก ตะวันออกกลางและแอฟริกาเป็นภูมิภาคที่มีความสำคัญต่อสภาพเศรษฐกิจโลกมากขึ้น หลายจุดหมายปลายทางในการสำรวจมีการเติบโตที่น่าประทับใจ สะท้อนให้เห็นว่าผู้คนรู้สึกสนใจที่จะเดินทางเพื่อมาท่องเที่ยวหรือย้ายที่อยู่มากยิ่งขึ้น

ข้อมูลใหม่ๆ เกี่ยวกับจุดมุ่งหมายในการเดินทางและการใช้จ่ายในประเทศ

นับเป็นครั้งแรกที่การสำรวจชิ้นนี้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับจุดประสงค์ของนักเดินทาง: เดินทางมาเพื่อจุดประสงค์ทางธุรกิจหรือท่องเที่ยวพักผ่อน พร้อมนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับรูปแบบการใช้จ่ายของผู้มาเยือน ทั้งการรับประทานอาหาร ที่พัก และการจับจ่ายใช้สอย ผลการสำรวจประจำปี 2559 ชี้ให้เห็นว่า นักเดินทางส่วนใหญ่มาเยือนจุดหมายปลายทางระดับโลก 20 อันดับแรกเพื่อท่องเที่ยวพักผ่อนมากกว่าจุดประสงค์อื่น (กรุงเทพฯ 85.6%) ยกเว้นเซี่ยงไฮ้ ซึ่งกว่าครึ่งหนึ่งของนักเดินทางไปเพื่อจุดประสงค์ทางธุรกิจ (54.6%)

ในส่วนที่เกี่ยวกับการใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น นักท่องเที่ยวที่เดินทางไปยังเมืองจุดหมายปลายทางส่วนใหญ่ใช้เงินไปกับค่าใช้จ่ายด้านที่พัก ยกเว้นอิสตันบูล การใช้จ่ายด้านที่พักชี้ให้เห็นความหลากหลายของค่าครองชีพในเมืองต่างๆ เพราะการใช้เงินไปกับที่พักในเมืองอย่างปารีส มิลาน โรม อัมสเตอร์ดัม และเวียนนาอาจสูงถึง 40% ในขณะที่ค่าที่พักในกรุงเทพฯ โซล โอซากา เซี่ยงไฮ้และอิสตันบูลคิดเป็นน้อยกว่า 1 ใน 3 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด โซลติดอันดับเมืองที่นักท่องเที่ยวใช้เงินไปกับการช้อปปิ้งมากกว่าส่วนอื่นๆถึงร้อยละ 58.7 ตามมาด้วยลอนดอน (46.7%) โอซากา (43.4%) และโตเกียว (43.1%)

 
แนวโน้มของแต่ละภูมิภาค

แนวโน้มที่น่าสนใจทั่วโลกมีดังนี้ ดังนี้

·      ยุโรป – ลอนดอน ซึ่งอยู่ในอันดับสองในการสำรวจเมืองจุดหมายปลายทางของโลกและอยู่ในอันดับหนึ่งของทวีปยุโรป ถือเป็นเมืองที่ป้อนนักเดินทางและปริมาณการจับจ่ายใช้สอยสู่เมืองอื่นๆ ซึ่งล้วนเป็นเมืองปลายทางชั้นนำของยุโรปทั้งสิ่น ไม่ว่าจะเป็นปารีส อิสตันบูล บาร์เซโลน่า และอัมสเตอร์ดัม

·      ลาติน อเมริกา – ลิมาเป็นทั้งจุดหมายปลายทางที่มีผู้มาเยือนมากที่สุดและมีการเติบโตรวดเร็วที่สุดในภูมิภาคนี้ด้วยจำนวนผู้มาเยือน 4.03 ล้านคน (อันดับ 32 ของโลก) และมีอัตราเติบโต 9.9 เปอร์เซ็นต์ (อันดับ 15 ของโลก) ตาม CAGR อย่างไรก็ตาม การจัดอันดับการใช้จ่ายของผู้มาเยือนแบบค้างคืนกลับแตกต่างอย่างมาก โดยปันตา คานาเป็นเมืองที่มีการใช้จ่ายสูงสุดในภูมิภาคนี้ที่ 2.95 พันล้านเหรียญสหรัฐ ตามมาด้วยเม็กซิโก ซิตี้ (2.27 พันล้านเหรียญสหรัฐ)

·      ตะวันออกกลาง และแอฟริกา – ดูไบเป็นเมืองที่มีผู้มาเยือนมากที่สุดในภูมิภาคนี้ (อันดับ 4 ของโลก) ขณะที่อาบู ดาบีเป็นเมืองที่มีการเติบโตรวดเร็วที่สุดในภูมิภาคตั้งแต่ปี 2009 โดยมีอัตราการเติบโตตาม CAGR ที่ 19.81 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งทำให้สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นทั้งเมืองที่มีผู้มาเยือนมากที่สุดและเมืองที่เติบโตเร็วที่สุดในภูมิภาคเป็นปีที่สองติดต่อกัน

·      อเมริกาเหนือ – นิวยอร์ก ซึ่งอยู่อันดับ 5 ของจุดหมายปลายทางของโลก คือเมืองที่มีผู้มาเยือนมากที่สุดในภูมิภาคอเมริกาเหนือ พร้อมกับมีการใช้จ่ายของผู้มาเยือนแบบค้างคืนสูงสุดแบบทิ้งห่างเมืองอื่นที่ 18.25 พันล้านเหรียญสหรัฐ เกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่เดินทางมานิวยอร์กมาจากนอกภูมิภาคอเมริกาเหนือ นำโดยลอนดอน ปารีส เซาเปาโล และปักกิ่ง

 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 22 ก.ย. 2559 เวลา : 15:08:29
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 8:45 am