แบงก์-นอนแบงก์
EXIM BANK จ่ายค่าสินไหมบริการประกันการส่งออกให้แก่ บจก. สยาม ไดมาสเตอร์ กรณีผู้ซื้อใน UAE ไม่ชำระเงินค่าสินค้า


 


EXIM BANK จ่ายค่าสินไหมบริการประกันการส่งออกให้แก่ บจก. สยาม ไดมาสเตอร์ กรณีผู้ซื้อใน UAE ไม่ชำระเงินค่าสินค้า

นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) มอบสินไหมทดแทนจำนวน 1,679,535 บาท ให้แก่นายเจฟ ฮอดด์ กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บริษัท สยาม ไดมาสเตอร์ จำกัด ผู้ผลิตและส่งออกเส้นไหมขนแกะฟอกย้อมสำหรับทอพรมหรือเสื้อผ้าไหมพรม ซึ่งเป็นลูกค้าบริการประกันการส่งออกของ EXIM BANK และประสบปัญหาผู้ซื้อในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ไม่ชำระเงินค่าสินค้าเพราะขาดสภาพคล่องทางการเงิน ณ EXIM BANK สำนักงานใหญ่ เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2559

กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK เปิดเผยว่า ในปัจจุบัน ผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะ SMEs ยังไม่เห็นความสำคัญของการทำประกันการส่งออกเท่าที่ควร เนื่องจากกังวลเรื่องต้นทุนค่าใช้จ่าย ทั้งที่ความเป็นจริง ค่าเบี้ยประกันคิดเป็นสัดส่วนเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ของต้นทุนและให้ความคุ้มครองที่แน่นอนว่า ธุรกิจส่งออกครั้งนั้นๆ จะไม่ขาดสภาพคล่องหรืออาจถึงขั้นต้องหยุดกิจการเมื่อผลิตและส่งออกไปแล้ว ไม่ได้รับชำระเงินจากผู้ซื้อในต่างประเทศ ซึ่งการติดตามหนี้ในต่างประเทศเป็นเรื่องยุ่งยากมาก ในขณะที่ความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศยังเพิ่มสูงขึ้น โดยองค์กรรับประกันชั้นนำอย่างเอทราดิอุส (Atradius) ได้คาดการณ์ว่า สถานการณ์ความเสี่ยงการล้มละลายในประเทศพัฒนาแล้วของปีนี้และปี 2560 อยู่ในช่วงเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ปี 2552 กรณีของสยาม ไดมาสเตอร์ นับเป็นตัวอย่างของผู้ส่งออก SMEs ที่ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศโดยทำประกันการส่งออกกับ EXIM BANK มาตั้งแต่ปี 2551 ทำให้ในเบื้องต้นบริษัทได้รับการชดเชยตามอัตราคุ้มครองถึงร้อยละ 90 ของมูลค่าความเสียหายในครั้งนี้ และสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างไม่สะดุด ในขณะที่ EXIM BANK จะดำเนินการติดตามการชำระหนี้ทั้งหมดของผู้ซื้อรายนี้ต่อไป

ทั้งนี้ ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2559 (มกราคม-สิงหาคม 2559) มีผู้ส่งออกยื่นขอรับค่าสินไหมทดแทนกับ EXIM BANK รวม 12.55 ล้านบาท สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากผู้ซื้อไม่ชำระเงินค่าสินค้า 98% และผู้ซื้อล้มละลายอีก 2% แบ่งตามมูลค่าของประเภทสินค้า 50% เป็นข้าว รองลงมาได้แก่ อาหารกระป๋อง (20%) เส้นไหมสำหรับทอพรม (15%) อัญมณีและเครื่องประดับ (12%) และยางรถยนต์ (3%) แบ่งตามประเทศผู้ซื้อ ได้แก่ เยอรมนี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหรัฐอเมริกา และนอร์เวย์







 

LastUpdate 06/10/2559 15:13:22 โดย : Admin
24-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 24, 2024, 7:02 pm