เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ไทย-มัลดีฟส์ เร่งผลักดันการค้าระหว่างกัน ตั้งเป้า 200 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2561


 



นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์  เป็นประธานร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาเศรษฐกิจมัลดีฟส์ (นายโมฮัมเม็ด ซาอีด) ในการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee: JTC) ไทย-มัลดีฟส์ ครั้งที่ 2 พร้อมนำคณะภาคเอกชนเข้าร่วมกิจกรรมการจับคู่ทางธุรกิจกว่า 50 ราย ในสาขาการท่องเที่ยวและโรงแรม อาหาร อุปกรณ์ตกแต่งบ้าน และเครื่องประดับอัญมณี เป็นต้น เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2559 กรุงมาเล่ ประเทศสาธารณรัฐมัลดีฟส์

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (JTC) ไทย-มัลดีฟส์ ครั้งที่ 2 ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ทั้งสองฝ่ายยืนยันการดำเนินการตามเป้าหมายที่ผู้นำกำหนดไว้ที่ 200 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2561 เพื่อเพิ่มพูนมูลค่าการค้าระหว่างกัน และหารือความร่วมมือด้านต่างๆ ที่มีความสนใจร่วมกัน โดยฝ่ายไทยมีความยินดีที่จะเข้าไปลงทุนตามการเชิญชวนของมัลดีฟส์สำหรับสาขาท่องเที่ยว โรงแรม ก่อสร้าง การออกแบบภายใน และค้าปลีก สำหรับฝ่ายมัลดีฟส์ผลักดันให้ไทยใช้สิทธิประโยชน์จากเขตเศรษฐกิจพิเศษในการเข้ามาลงทุนสำหรับสาขาต่างๆ เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โลจิสติกส์ เทคโนโลยีสารสนเทศ อสังหาริมทรัพย์ การเงิน สุขภาพ และอุตสาหกรรมการแปรรูปทางทะเลโดยเฉพาะทูน่า เป็นต้น รวมทั้งต้องการให้ไทยเข้ามาประกอบธุรกิจการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทางทะเล นอกจากนี้ มัลดีฟส์ตกลงที่จะนำเข้าสินค้าเกษตรจากไทยโดยตรงซึ่งไม่ผ่านพ่อค้าคนกลางจากประเทศที่สาม และทั้งสองฝ่ายมีความเห็นร่วมกันว่าการซื้อสินค้าเกษตรจากสหกรณ์ในประเทศไทยโดยตรงจะทำให้ต้นทุนสินค้าลดลงซึ่งมัลดีฟส์มีความต้องการเป็นอย่างยิ่ง

 
 
 
ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวเพื่อเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวระหว่างกัน และแสวงหาแนวทางในการจัดทำบันทึกความเข้าใจในด้านแรงงาน เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ กฎหมายแรงงาน การจ้างแรงงานมีฝีมือ และระบบประกันสังคมอีกด้วย

 
ในส่วนสาขาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะแสวงหาแนวทางในการจัดทำแพคเกจทัวร์ระหว่างประเทศ โดยนักท่องเที่ยวจากประเทศต่างๆ เดินทางเข้ามารักษาพยาบาลและท่องเที่ยวในไทย และเดินทางท่องเที่ยวต่อไปยังมัลดีฟส์ซึ่งในทางกลับกันนักท่องเที่ยวจากมัลดีฟส์ก็เดินทางต่อเข้ามาในไทยเพื่อท่องเที่ยวและพักผ่อนต่อไป

 
สำหรับสาขาสุขภาพ มัลดีฟส์มีโครงการจัดตั้งสถานพยาบาลและวิทยาลัยทางการแพทย์ จึงขอให้ไทยส่งผู้เชี่ยวชาญเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการและการบริหารจัดการในสาขาดังกล่าวระหว่างกัน

 
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการนำผู้ประกอบการไทยจำนวน 50 รายเข้าร่วมกิจกรรมจับคู่ทางธุรกิจกับภาคเอกชนมัลดีฟส์ อาทิ อาหาร ผัก ผลไม้ ของใช้ในโรงแรม เฟอร์นิเจอร์ สปา เครื่องประดับแฟชั่น และอุตสาหกรรมหนัก เช่น แอร์ รถจักรยานไฟฟ้า ทรายสำหรับการก่อสร้าง อู่ต่อเรือซ่อมเรือลอยน้ำ เรือลอยน้ำผลิตไฟฟ้า และทุ่นกันกระแทกเรือ เป็นต้น และมีกลุ่มนักลงทุนที่ต้องการเข้าไปลงทุนในมัลดีฟส์ร่วมคณะด้วย เช่น ก่อสร้าง ประมง โรงแรม การจัดการขยะและน้ำเสีย และพลังงาน เป็นต้น ทำให้กิจกรรมจับคู่ทางธุรกิจครั้งนี้มีมูลค่าสั่งซื้อทันที 3.5 ล้านบาท และมูลค่าสั่งซื้อภายใน 1 ปี ประมาณ 900 ล้านบาท โดยสินค้าที่มีผู้สนใจมากที่สุด ได้แก่ สปา ของใช้ในโรงแรม ที่นอน หมอน แอร์ และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า
 
 
 
สาธารณรัฐมัลดีฟส์ เป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญอันดับ 5 ของไทยในภูมิภาคเอเชียใต้ โดยในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา (2554-2558) การค้ารวมระหว่างไทยกับมัลดีฟส์ มีมูลค่าเฉลี่ยปีละ 124 ล้านเหรียญสหรัฐ มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 9.64 ต่อปี และมีสัดส่วนการค้าเฉลี่ยร้อยละ 0.03 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของไทย โดยการส่งออกมีมูลค่าเฉลี่ย 79 ล้านเหรียญสหรัฐ มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 1.95 ต่อปี และมีสัดส่วนการส่งออกเฉลี่ยร้อยละ 0.04 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย การนำเข้ามีมูลค่าเฉลี่ย 45 ล้านเหรียญสหรัฐ มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.45 ต่อปี สินค้าที่มีศักยภาพในการส่งออกและนำเข้าสินค้าส่งออกของไทย เช่น รถจักรยานยนต์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก เครื่องนุ่งห่ม อุปกรณ์ตกแต่งบ้าน/สำนักงาน เครื่องจักรกล ผักสด/ผลไม่สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ปูนซิเมนต์ เซรามิก ผลิตภัณฑ์เหล็ก เป็นต้น และสินค้านำเข้าจากมัลดีฟส์ ได้แก่ อาหารทะเล


 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 14 ต.ค. 2559 เวลา : 16:04:45
23-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 23, 2024, 6:02 pm