เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
เอกชนเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยทุ่มเงินลงทุน 10 อุตสาหกรรมหลัก


 


สถานการณ์การลงทุนของภาคเอกชนเริ่มปรับตัวดีขึ้น  หลังรัฐบาลมีนโยบายที่ชัดเจน โดยเฉพาะการสนับสนุน 10 กลุ่มอุตสาหกรรม   โดยนางสาวกุลยา  ตันติเตมิท   รองโฆษกกระทรวงการคลัง   ยืนยันว่า การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น  โดยส่วนหนึ่งมาจาก มาตรการของรัฐบาลในการสนับสนุนการลงทุนในกลุ่ม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งเดือนมกราคม-กันยายน  2559 การขอรับการส่งเสริมใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายมีมูลค่าทั้งสิ้น 157,800 ล้านบาท  คิดเป็น  43%  ของมูลค่าการขอรับการส่งเสริมโดยรวม  โดยเป็นการขอรับการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน  4.2  หมื่นล้านบาท   อุตสาหกรรมการเกษตร 38,500 ล้านบาท    อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ 28,000 ล้านบาท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 23,000 ล้านบาท   อุตสาหกรรมท่องเที่ยว 13,100 ล้านบาท และอุตสาหกรรมการแพทย์   5,200 ล้านบาท
 
         
ทั้งนี้ในช่วงไตรมาส 4   กระทรวงการคลัง จะยังดำเนินนโยบายการคลังและการเงิน อย่างต่อเนื่อง   เพื่อผลักดันเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้ในช่วงที่เหลือของปี   โดยปัจจุบันกระทรวงการคลังยังมีอีกหลายโครงการที่อยู่ระหว่างการดำเนินงานและมีเม็ดเงินที่จะอัดฉีดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ  เช่น มาตรการสนับสนุนการเบิกจ่ายของภาครัฐในไตรมาส 4 ปี 2559 โครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ   และโครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้านเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามแนวประชารัฐประจำปีงบประมาณ 2560
         
นอกจากนี้ยังมีมาตรการการเงินการคลัง เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ระยะเร่งด่วน   เพื่อสนับสนุนธุรกิจเอสเอ็มอีให้สามารถแข่งขันได้ เช่น โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ  โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และโครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการ Micro Entrepreneurs ระยะที่ 2

ขณะเดียวกัน  การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 25  ต.ค.   ก็เห็นชอบการจัดทำงบประมาณรายจ่ายใหม่ประจำปี 2561 ตามยุทธศาสตร์ชาติ โดยแบ่งกลุ่มแผนงานออกเป็น 28 กลุ่ม   ซึ่งมีกลุ่มงานที่เพิ่มขึ้น คือ กลุ่มงานไทยแลนด์ 4.0   กลุ่มงานเกษตร และกลุ่มงานระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)
         
ซึ่งทั้ง 3 กลุ่มนี้ พล.อ.ประยุทธ์    จันทร์โอชา   นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำว่าแม้ว่าประเทศไทยจะก้าวไปสู่ยุคดิจิทัล    แต่ก็ยังจำเป็นต้องดูแลประชาชนที่เป็นรากฐานของประเทศ    ดังนั้นทั้งหมดนี้ทำเพื่อเสริมเพิ่มเติมฐานรากของประเทศให้แข็งแกร่งขึ้น   ซึ่งในการทำงบประมาณรูปแบบใหม่นี้  รองนายกรัฐมนตรีทั้ง 6 จะกำกับดูแลงานในสายงานของแต่ละคน โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีจะเป็นหัวหน้าคณะ ดูแลงานด้านงบประมาณและกลั่นกรองอีกครั้งก่อนจะส่งให้กับนายกรัฐมนตรี
 


 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 25 ต.ค. 2559 เวลา : 21:05:25
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 10:47 am