วิทยาศาสตร์
ก.วิทย์ฯ-สวทช. เดินหน้าผลัก 'งานวิจัยสู่ห้าง'ในงาน Thailand Tech Show ภูมิภาค จ.ขอนแก่น


 


(27 ตุลาคม 2559) ที่ห้องมงกุฎเพชร 1 โรงแรมโฆษะ จังหวัดขอนแก่น: นางสุวิภา วรรณสาธพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เป็นประธานเปิดงานโครงการขับเคลื่อนผลงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ “หิ้งสู่ห้าง” หรือ Thailand Tech Show ภูมิภาค ครั้งที่ 2 (ประจำภาคอีสาน) เพื่อเพิ่มโอกาสผู้ประกอบการให้เข้าถึงแหล่งรวมงานวิจัยและพัฒนาได้ง่าย ให้เกิดการขับเคลื่อนผลงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ โดยมีผลงานวิจัยจากองค์กรวิจัย สวทช. และมหาวิทยาลัยต่างๆ พร้อมถ่ายทอดสู่เชิงพาณิชย์มาร่วมแสดงผลงานและสัมมนาให้ความรู้ในการใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.)
 
 

 
 
 
 
นางสุวิภา วรรณสาธพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “New S Curve สู่ Thailand 4.0” ว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จัดเป็นหนึ่งหน่วยงานในกระทรวงเศรษฐกิจ ได้ขยายบทบาทจากเดิมเป็นผู้สร้างองค์ความรู้ด้วยการทำวิจัยและพัฒนา จะทำหน้าที่เชื่อมโยงระหว่างผู้สร้างงานวิจัยและภาคอุตสาหกรรมที่เป็นผู้ใช้งานวิจัย นอกจากนี้ยังสร้างการเชื่อมโยงระหว่างภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน อย่างเป็นรูปธรรม พร้อมผลักดันงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นจากเดิม รัฐบาลมีนโยบายในการยกระดับเศรษฐกิจของประเทศจากการผลิตในอุตสาหกรรมหนักที่ใช้แรงงานและเครื่องจักรไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้ความรู้และนวัตกรรมเป็นขับเคลื่อน หรือ “ประเทศไทย 4.0” กำหนดขีดความสามารถพื้นฐานของประเทศไทยและความต้องการของตลาดในอุตสาหกรรมเป้าหมายไว้ 5 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ 2. กลุ่มอุตสาหกรรมสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ 3. กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องมืออุปกรณ์อัฉริยะ หุ่นยนต์ และระบบเครื่องกลที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุม 4. กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตที่เชื่อมต่อและบังคับอุปกรณ์ต่างๆ ปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีสมองกลฝังตัว และ 5.กลุ่มอุตสาหกรรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และบริการที่มีมูลค่าสูง ซึ่งการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่เป็น New S-Curve นี้ ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ผ่านการขับเคลื่อนในรูปแบบของ “ประชารัฐ” หรือ Public Private Partnership (PPP) ในการรับถ่ายทอดเทคโนโลยี ควบคู่ไปกับการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่จากการลงทุนของต่างชาติในอุตสาหกรรม

 
 
 อย่างไรก็ตามการจัดงานครั้งนี้ จะเป็นการเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย ให้ก้าวไปข้างหน้าตามแนวคิด “ประเทศไทย 4.0” เพื่อให้ประเทศไทยเกิดความมั่นคงทางเทคโนโลยี ลดการพึ่งพิงจากต่างประเทศ  ซึ่ง สวทช. ร่วมกับองค์กรพันธมิตร นำผลงานวิจัยจากทุกองค์กรวิจัยและมหาวิทยาลัย เพื่อไปนำเสนอตามภูมิภาคต่างๆ ให้เป็นตลาดเทคโนโลยีที่เข้าถึงได้ง่ายในลักษณะผู้ซื้อพบผู้ขาย ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและพัฒนาในเชิงพาณิชย์ เป็นโครงการที่เชื่อมโยงภาคเอกชนให้สามารถเข้าถึงและนำผลงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่พัฒนาจากสถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัยออกสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้อย่างเป็นรูปธรรม จึงทำ “โครงการขับเคลื่อนผลงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์” ขึ้น เป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับภาคเอกชนให้เกิดการนำไปใช้ในการผลิต จำหน่าย หรือนำไปประกอบธุรกิจแบบไม่สงวนสิทธิ์ (Non-exclusive)

 
 
สำหรับงาน Thailand Tech Show ภูมิภาคครั้งนี้ มีผลงานวิจัยที่น่าลงทุนและต่อยอดเชิงพาณิชย์มากมาย ได้แก่ เทคโนโลยีแนะนำ (ราคาเดียว 30,000 บาท) จาก ศูนย์นาโนเทค สวทช. เช่น ครีมกันแดดไล่ยุง ทำจากสารสกัดธรรมชาติ ผสมผสานสารไล่ยุงและสารป้องกันแสงแดด (SPF15) ช่วยป้องกันยุงได้นานมากกว่า 6 ชั่วโมง ผลงานวิจัยอื่นๆ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น เช่น กล่องสำหรับใส่ชิ้นเนื้อ ลดการเน่าเสียของเนื้อเยื่อ, แผ่นฟิล์มต้านจุลชีพ สามารถนำส่งยาต้านจุลชีพเข้าสู่บริเวณร่องลึกรักษาโรคปริทันต์อักเสบออกฤทธิ์นานอย่างน้อย 5 วัน, ผลิตภัณฑ์ครีมขัดผิวกาย สารสกัดจากถั่วเหลือง ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวและไม่ก่อให้เกิดความระคายเคืองต่อผิวหนัง และ ปุ๋ยเพิ่มแร่ธาตุไนโตรเจนสำหรับอ้อย ที่สามารถลดการใช้ปุ๋ยยูเรียได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งช่วยเพิ่มการแตกกอของอ้อยที่ได้รับปุ๋ยยูเรียอย่างเดียวได้ 2-3 เท่าด้วย สำหรับ เทคโนโลยีไฮไลท์ (เจรจาเงื่อนไข) ก็มีจากหลายหน่วยงานมาร่วมออกบูทและพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยี ได้แก่ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) เช่น ผลิตภัณฑ์ตำรับโอสถพระนารายณ์ สูตรเนื้อครีมนวดคลายกล้ามเนื้อและเนื้อบาล์มแก้แมลงสัตว์กัดต่อย และ เซรั่มจากสารสัดโปรตีนไหม สูตรตำรับเซรั่มบำรุงผิวโดยใช้เทคโนโลยีห่อหุ้มเซริซินด้วย ลิโพโซม เพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวพรรรณใน 2 สัปดาห์ และให้ความกระจ่างใสเมื่อใช้ผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง 4 สัปดาห์ และยังมีงานวิจัยเกี่ยวกับองค์ความรู้ ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  เรื่องวัสดุปูสระจากน้ำยางธรรมชาติ     ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตร โดยใช้วัตถุดิบจากน้ำยางธรรมชาติร่วมกับวัสดุเสริมแรง และกรรมวิธีการปูเคลือบสระด้วยการฉีดพ่น ช่วยป้องกันน้ำซึมลงสู่ผิวดิน มีอายุการใช้งานมากกว่า 10 ปี

นอกจากนั้นแล้วภายในงานยังมีการสัมมนาเพื่อให้ภาคเอกชน และผู้สนใจรับรู้และรับทราบผลงานวิจัย  อีกมาก เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยในภาคเอกชน รวมทั้งการวิจัยและพัฒนาต่อยอด       ในภาคเอกชนและขับเคลื่อนผลงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรม



 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 27 ต.ค. 2559 เวลา : 15:51:34
08-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 8, 2024, 8:44 pm