กองทุนรวม
บลจ.ภัทร เปิดกองใหม่ 'PHATRA SM CAP'ชูกลยุทธ์ลงทุนในบริษัทขนาดเล็ก-กลาง ที่มีพื้นฐานแกร่ง


 


 
บลจ. ภัทร เปิดกองใหม่ ภัทร สมอล์ แอนด์ มิด แคป อิควิตี้ (PHATRA SM CAP) ตอบโจทย์ตลาดผันผวน เน้นจุดแข็งของทีมการลงทุน ทั้งการวิเคราะห์               เพื่อเฟ้นหาบริษัทที่มีพื้นฐานแข็งแกร่งแนวโน้มการเติบโตสูง รวมถึงการบริหารเชิงรุกเพื่อเพิ่มโอกาสการทำกำไร โดยกระจายการลงทุนไปยังบริษัทจดทะเบียนขนาดเล็ก-กลาง ที่จดทะเบียนใน SET หรือตลาดลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ จากข้อมูลย้อนหลังล่าสุด พบว่าบริษัทจดทะเบียนขนาดเล็ก-กลาง  มีอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 12 เปรียบเทียบกับร้อยละ 4 ของบริษัท                           จดทะเบียนใหญ่  พร้อมเปิดขาย วันที่ 8-15 พฤศจิกายน นี้

นายยุทธพล ลาภละมูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ภัทร จำกัด (บลจ. ภัทร) บริษัทในกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (Mr. Yuthapol Laplamool, Phatra Asset Managing Director, Kiatnakin Phatra Financial Group) เปิดเผยว่า การลงทุนในภาวะปัจจุบัน ได้รับผลกระทบจากความผันผวนที่สูง โดยมาจากปัจจัยทั้งจากภายในและภายนอกและคาดว่าความผันผวนสูงแบบนี้จะยังคงอยู่ไปอีกระยะหนึ่ง ในขณะที่ทิศทางการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยจะถูกขับเคลื่อนด้วยการเติบโตของการใช้จ่ายภายในประเทศเป็นหลัก โดยมาจากการใช้จ่ายของภาครัฐเป็นสำคัญ เริ่มตั้งแต่การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไปจนถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านทางการบริโภคภาคเอกชนโดยตรง อาทิเช่น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงเทศกาล (สินเชื่อกองทุนหมู่บ้าน, ส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล, ฯลฯ) รวมถึงการพื้นตัวขึ้นของราคาพืชผลทางการเกษตร ก็นับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยบวกสำหรับการบริโภคภาคเอกชนเช่นกัน

เพื่อสร้างโอกาสในการลงทุน และกระจายความเสี่ยงการลงทุน บลจ.ภัทร จึงได้จัดตั้งกองทุนใหม่ที่ชื่อว่า กองทุนเปิด ภัทร สมอล์ แอนด์ มิด แคป อิควิตี้ (Phatra Small and Mid Cap Equity: PHATRA SM CAP) ซึ่งเป็นกองทุนเปิดที่เน้นการลงทุนในบริษัทขนาดเล็กและกลางที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหรือตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ที่มีปัจจัยพื้นฐานดี มีแนวโน้มการเจริญเติบโตทางธุรกิจสูง   ตลอดจนมีอัตราส่วนการลงทุนโดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน โดยเงินลงทุนส่วนที่เหลืออาจลงทุนในตราสารทุนนอกเหนือจากที่กล่าวข้างต้น หรือหน่วยลงทุนของ กองทุนอสังหาริมทรัพย์ และ/หรือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ทรัสต์ เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์หรือโครงสร้างพื้นฐานที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน หน่วยลงทุนของกองทุนรวม ตราสารแห่งหนี้ ตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน ตราสาร ทางการเงิน และ/หรือเงินฝาก

“จากการวิเคราะห์ข้อมูลของ บลจ. ภัทร ย้อนหลัง 7 ปี (พ.ศ.2552-2558) พบว่าบริษัทขนาดเล็ก-กลาง มีการเติบโตของกำไรสุทธิสูงกว่าบริษัทที่มีขนาดใหญ่ โดยอัตราส่วนการเติบโตของกำไรสุทธิเฉลี่ยต่อปีของบริษัทจดทะเบียนขนาดเล็ก-กลาง เท่ากับร้อยละ 12 ในขณะที่อัตราส่วนการเติบโตของกำไรสุทธิเฉลี่ยต่อปีของบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่เท่ากับร้อยละ 4 ทั้งนี้ บลจ.ภัทร คาดว่า บริษัทขนาดเล็ก-กลาง โดยเฉพาะในกลุ่มพาณิชย์และกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีน้ำหนักค่อนข้างมากในกลุ่มบริษัทขนาดเล็ก-กลาง จะมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ  ทั้งนี้ การลงทุนในบริษัทจดทะเบียนขนาดเล็ก-กลาง มีความน่าสนใจ และเป็นโอกาสการลงทุนระยะยาวเพื่อเพิ่มผลตอบแทนช่วงดัชนีหุ้นไทยปรับฐาน จากการเคลื่อนไหวของดัชนีตลาดหุ้นไทยในปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ราว 1,500 จุด เมื่อเปรียบเทียบกับศักยภาพทางเศรษฐกิจและของบริษัทจดทะเบียนในประเทศไทยแล้ว ถือว่าเป็นระดับที่น่าสนใจในการเข้าไปหาโอกาสการลงทุนระยะยาวเพิ่ม” 

กระบวนการลงทุนของ บลจ. ภัทร มีการทำการศึกษา วิเคราะห์ ปัจจัยพื้นฐานโดยทีมนักวิเคราะห์ ร่วมกับทีมผู้จัดการกองทุนของบริษัทอย่างใกล้ชิดและสม่ำเสมอ เพื่อคัดสรรหุ้นที่มีพื้นฐานที่ดี นอกจากนี้ผู้ลงทุนสามารถใช้กองทุนนี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกระจายความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของการลงทุน และช่วยเพิ่มเสถียรภาพของโอกาสรับผลตอบแทนรวมในระยะยาว โดยกองทุนฯ จะเปิดเสนอขายครั้งแรก (IPO) วันที่ 8-15 พฤศจิกายน 2559 ด้วยมูลค่าโครงการ 1,000 ล้านบาท ลงทุนขั้นต่ำ 5,000 บาท”
 
นักลงทุนที่สนใจลงทุนในกองทุนเปิด PHATRA SM CAP สามารถติดต่อขอรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับนโยบายการลงทุน ความเสี่ยง หรือหนังสือชี้ชวนได้ที่ บลจ.ภัทร โทร 0-2305-9800 หรือธนาคารเกียรตินาคินทุกสาขา ทั้งนี้ การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลและทำความเข้าใจลักษณะสินค้า นโยบายการลงทุน เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงของกองทุน ก่อนการตัดสินใจลงทุน








 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 07 พ.ย. 2559 เวลา : 10:23:45
02-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 2, 2024, 9:21 am