วิทยาศาสตร์
สดร. เผยกลเม็ดเคล็ดลับเก็บภาพ 'ซุปเปอร์ฟูลมูน' อย่างไรให้เป๊ะปังอลังการ


 


สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผยเทคนิคการถ่ายภาพดวงจันทร์ในมุมมองของภาพลวงตา ชวนประชาชนเก็บภาพ 'ซุปเปอร์ฟูลมูน' ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบ 68 ปี คืนวันลอยกระทง 14 พฤศจิกายนนี้

 
 
ตัวอย่างการใช้เทคนิค Moon Illusion
ดวงจันทร์เต็มดวงในคืนวันดวงจันทร์ใกล้โลกมากที่สุดในปี 2558 (28 กันยายน 2558)
(ภาพ : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์)

นายศุภฤกษ์  คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการดาราศาสตร์ สดร. ผู้เชี่ยวชาญการถ่ายภาพดาราศาสตร์ เปิดเผยว่า ในคืนวันที่ 14 พฤศจิกายน 2559 นี้ ดวงจันทร์เต็มดวงจะปรากฏในตำแหน่งใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี หรือที่มักเรียกกันว่า “ซุปเปอร์ฟูลมูน” ความพิเศษของซุปเปอร์ฟูลมูนปีนี้ คือ ดวงจันทร์เต็มดวงจะปรากฏในตำแหน่งใกล้โลกมากที่สุดในรอบ 68 ปี ที่ระยะห่าง 356,511 กิโลเมตร ในคืนดังกล่าวดวงจันทร์จะมีขนาดปรากฏใหญ่และสว่างกว่าปกติ  สามารถสังเกตเห็นได้ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำทางทิศตะวันออกในทุกภูมิภาคของประเทศ นอกจากนี้วันดังกล่าวยังตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ซึ่งเป็นวันลอยกระทงของไทยอีกด้วย จึงอยากเชิญชวนคนไทยมาร่วมบันทึกภาพความสวยงามของปรากฏการณ์ “ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบ 68 ปี” ในครั้งนี้ ด้วยเทคนิคการถ่ายภาพดวงจันทร์ในมุมมองของภาพลวงตา หรือ “Moon Illusion”
 

 
ภาพดวงจันทร์เต็มดวงที่ใช้วัดพระธาตุดอยสุเทพเป็นวัตถุเปรียบเทียบ
(ภาพ : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์)
“ตามปกติแล้วคนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าดวงจันทร์เมื่ออยู่บริเวณขอบฟ้าจะมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าอยู่กลางท้องฟ้า แท้จริงแล้วการมองเห็นดวงจันทร์มีขนาดใหญ่เมื่อปรากฏบริเวณใกล้ขอบฟ้าเป็นเพียงภาพลวงตา เนื่องจากบริเวณขอบฟ้ามีวัตถุเปรียบเทียบ แต่ดวงจันทร์บริเวณกลางท้องฟ้าไม่มีวัตถุเปรียบเทียบ ทำให้รู้สึกว่าดวงจันทร์ที่ปรากฏกลางท้องฟ้ามีขนาดเล็ก” นายศุภฤกษ์กล่าว
สำหรับเทคนิคและวิธีการถ่ายภาพ “Moon Illusion” หรือ “ภาพลวงตาดวงจันทร์”  เป็นการถ่ายภาพดวงจันทร์ในบริเวณที่อยู่ใกล้กับขอบฟ้า หรือใกล้กับวัตถุ เช่น ต้นไม้ คน อาคาร หรือสิ่งก่อสร้างต่างๆ โดยมีหลัก 5 ประการ ดังนี้ 

 
ตัวอย่างภาพถ่าย Moon Illusion ในช่วงปรากฏการณ์ Super Full Moon (ภาพจาก Internet)

1. เลือกสถานที่ - ควรเลือกสถานที่ที่มองเห็นดวงจันทร์ทางทิศตะวันออกตั้งแต่ช่วงหัวค่ำ บริเวณนั้น ควรมองเห็นวัตถุ เช่น คน เจดีย์ บ้าน ต้นไม้ ที่ใช้เป็นวัตถุเปรียบเทียบ ตั้งกล้องให้มีระยะห่างจากวัตถุเปรียบเทียบตั้งแต่ 1 กิโลเมตร ขึ้นไป หรือใช้การวัดระยะเชิงมุมด้วยนิ้วก้อย เพื่อเทียบขนาดวัตถุกับดวงจันทร์ได้ ณ ตำแหน่งที่ถ่ายภาพ ดวงจันทร์จะมีขนาดประมาณ 0.5 องศา หรือมีขนาดใหญ่ไม่เกิน 1 นิ้วก้อยของเราเมื่อเหยียดสุดแขน 
 

 
2. เลือกเลนส์เทเลโฟกัส - ช่วงเลนส์ขนาดตั้งแต่ 300 mm. ขึ้นไป เพื่อให้ได้ภาพดวงจันทร์ที่มีขนาดใหญ่ เมื่อเปรียบเทียบกับขนาดของวัตถุบริเวณขอบฟ้า
 
3. เลือกความเร็วชัตเตอร์ - ควรใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่สัมพันธ์กับช่วงเลนส์ คือความเร็วชัตเตอร์ที่ไม่ช้าจนเกินไปจนทำให้ภาพดวงจันทร์เบลอ เนื่องจากดวงจันทร์จะเคลื่อนที่ขึ้นทางทิศตะวันออกสูงขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งใช้ทางยาวโฟกัสสูงมากเท่าไหร่ ก็ต้องเพิ่มความเร็วชัตเตอร์ขึ้นตามด้วยเช่นกัน
 
4. ปรับโฟกัสวัตถุเปรียบเทียบล่วงหน้า - ควรปรับโฟกัสวัตถุที่เป็นฉากหน้าเปรียบเทียบก่อนดวงจันทร์โผล่พ้นขอบฟ้า เพราะการโฟกัสภาพที่ระยะไกลบริเวณขอบฟ้าที่มีมวลอากาศหนาแน่น จุดโฟกัสจะเคลื่อนไหวตลอดเวลา หากเรารอให้ดวงจันทร์โผล่พ้นขอบฟ้า แล้วค่อยโฟกัสที่ดวงจันทร์ เราอาจพลาดจังหวะดีๆ ในการถ่ายภาพเทียบกับวัตถุบริเวณขอบฟ้าดังกล่าวได้
 
5. แบล็คการ์ดเทคนิค - การใช้มือบังบริเวณหน้าเลนส์บริเวณขอบภาพ ตำแหน่งของดวงจันทร์เพื่อให้แสงสว่างของดวงจันทร์ลดลง แล้วจึงกดชัตเตอร์ จะช่วยให้ได้ภาพถ่ายที่มีความสว่างต่างกันไม่มากนัก สามารถนำไปปรับแต่งในโปรแกรม Photoshop โดยการดึง Shadow บริเวณฉากหน้า และลดแสง Highlight ลงได้ง่ายขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์อื่นๆ เช่น ฟิลเตอร์ครึ่งซีกมาช่วย

 
 
จากหลัก 5 ประการ ที่กล่าวมาข้างต้น น่าจะเป็นแนวทางในการถ่ายภาพซุปเปอร์ฟูลมูนคืนวันลอยกระทงในปีนี้ได้เป็นอย่างดี จึงขอเชิญชวนนักถ่ายภาพรวมทั้งประชาชนคนไทยร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเก็บภาพความประทับใจในครั้งนี้ โดยสามารถร่วมแชร์ภาพได้ในเฟสบุ๊คของ สดร. ที่  www.facebook.com/NARITpage  นายศุภฤกษ์กล่าวปิดท้าย













 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 10 พ.ย. 2559 เวลา : 19:05:53
27-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 27, 2024, 5:49 am