เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ตั้งศูนย์นวัตกรรมรับไทยแลนด์4.0


 


ต้องยอมรับนวัตกรรม เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นและมีบทบาทมากขึ้นในอนาคต   เพื่อเป็นอาวุธในการต่อสู้กับคู่แข่งทางการค้า  และรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดของไทย  ขณะที่ผู้ประกอบการไทยจำนวนไม่น้อย   ยังไม่สามารถเข้าถึงนวัตกรรมใหม่ๆได้   นายสุวิทย์   เมษินทรีย์   รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์    จึงได้สั่งการให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาไปพัฒนาและจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมนวัตกรรม  (Innovation Driven Enterprise Center) หรือไอดีอี เซ็นเตอร์    เพื่อให้การสนับสนุนผู้ประกอบการไทยได้มีโอกาสเข้าถึงนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะนำไปใช้ในการผลิตสินค้าและบริการให้สอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่มุ่งเน้นการใช้นวัตกรรมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจของไทย
 

โดยศูนย์ส่งเสริมนวัตกรรมจะช่วยรวบรวมแนวโน้มนวัตกรรม   ที่กำลังเกิดขึ้นในโลก เน้นในสินค้าอุตสาหกรรม เป้าหมาย 10 รายการ   ได้แก่ 5 อุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ (First S-curve) คือ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร และ 5 อุตสาหกรรมอนาคต (New S-curve) คือ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร

นายทศพล ทังสุบุตร รักษาการ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา  ระบุว่า   รูปแบบการทำงานของไอดีอี เซ็นเตอร์   จะมีทีมงานนักวิจัยในสาขาต่างๆ เข้ามาทำงาน และจะทำการตรวจค้นสืบค้น ดูแนวโน้มการจดสิทธิบัตรต่างๆ ใน โลกนี้ว่าแนวโน้มการพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรม (เทคโนโลยีเทรนด์) จะไปทางไหน โดยเน้นไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ทั้ง 10 กลุ่มของรัฐบาล เมื่อเห็นแนวโน้มแล้วก็จะนำมาบอกต่อให้กับผู้ประกอบการว่าควรจะพัฒนาสินค้าและบริการไปในทิศทางไหน ที่จะตอบโจทย์ความต้องการของโลกได้ โดย ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการจัดตั้งศูนย์ และคาดว่าจะเริ่มเปิดให้บริการได้ในเดือน ก.พ. 2560
       
สอดคล้องกับมุมมองของนายวินิจฉัย   แจ่มแจ้ง  ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์  ที่เห็นว่า   เอสเอ็มอีต้องปรับตัวเดินหน้าเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม4.0  ที่ใช้เทคโนโลยีมาเป็นส่วนช่วยส่งเสริมธุรกิจให้เกิดธุรกิจ "สตาร์ทอัพ" และ "สมาร์ท เอสเอ็มอี" รองรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว   และจะต้องหานวัตกรรมมาตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่หลากหลาย  โดยเห็นว่า เอสเอ็มอีควรนำวัฒนธรรมอย่างไทยไปสร้างความได้เปรียบ ในการสร้างเอกลักษณ์และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า
 

นอกจากนี้จะต้องพัฒนาด้านระบบบริหารจัดการ เช่น  ข้อกฎหมายต่างๆ  รวมถึงการหาประโยชน์จากการใช้เทคโนโลยี   ขณะเดียวกัน จะต้องยกระดับสินค้าให้ได้ มาตรฐานสากล โดยเฉพาะการทำการค้าระหว่างประเทศ และสร้างเครือข่ายการค้าที่เข้มแข็ง    เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน  เพราะการแข่งขันในปัจจุบันเป็นรูปแบบของเครือข่ายกับเครือข่าย



 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 14 พ.ย. 2559 เวลา : 09:02:53
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 9:14 pm