วิทยาศาสตร์
สดร. ปลื้ม 'ซุปเปอร์ฟูลมูน' ดันดาราศาสตร์ไทยตื่นตัว





สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผยบรรยากาศการจัดกิจกรรมสังเกตการณ์ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบ 68 ปี คืนวันที่ 14 พ.ย. 59 ของหน่วยงานเครือข่ายดาราศาสตร์เป็นไปอย่างคึกคัก นำกล้องโทรทรรศน์และสื่อการเรียนรู้ที่ได้รับมอบจาก สดร. จัดกิจกรรมสังเกตการณ์ “ซุปเปอร์ฟูลมูนวันลอยกระทง” มีนักเรียนและประชาชนในชุมชนใกล้เคียงให้ความสนใจร่วมชมเป็นจำนวนมาก

ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า สดร. มีเครือข่ายโรงเรียนกว่า 160 แห่งใน 61 จังหวัดทั่วประเทศ ในโครงการกระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์ “77 จังหวัด เปิดฟ้าส่องโลกดาราศาสตร์เปิดโอกาสเรียนรู้ทั่วหล้า” ซึ่งได้รับมอบกล้องโทรทรรศน์และสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์จาก สดร. ร่วมจัดกิจกรรมสังเกตปรากฏการณ์ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบ 68 ปี (ที่ระยะห่างประมาณ 356,511 กิโลเมตร) ในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2559 ตั้งกล้องโทรทรรศน์ให้บริการนักเรียนและชุมชนใกล้เคียง เชิญชวนประชาชนร่วมส่องจันทร์ดวงโตแบบชัดเต็มตาและส่องวัตถุท้องฟ้าอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
 
 
 
 
 
อาทิ ดาวศุกร์ ดาวอังคาร ดาวเสาร์ ผ่านกล้องโทรทรรศน์หลายรูปแบบ บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคักไม่แพ้จุดสังเกตการณ์หลัก ทั้ง 3 แห่ง (ลานกิจกรรมหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัลเชียงใหม่ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา และหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษาฉะเชิงเทรา) ซึ่งแม้จะเป็นหน่วยย่อยเล็ก ๆ แต่ก็สร้างความตื่นตัวด้านดาราศาสตร์ให้กระจายไปในทุกพื้นที่ของประเทศ เราหวังว่ากิจกรรมดังกล่าวจะช่วยแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะดาราศาสตร์แก่ประชาชน โดยเฉพาะในหมู่เยาวชนไทยให้เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ บางหน่วยงานยังได้ร่วมกันจุดเทียนแสดงความอาลัยถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในเวลา 19.09 น. เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ของพระองค์ท่านที่มีต่อวงการดาราศาสตร์และปวงชนชาวไทยหาที่สุดมิได้
 

 
 
 
 
 
สำหรับปรากฏการณ์ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกจะเกิดขึ้นประมาณทุกๆ 13 เดือน ครั้งต่อไปตรงกับวันที่ 2 มกราคม 2561 ที่ระยะห่างประมาณ 356,565 กิโลเมตร และจะเข้าใกล้โลกใกล้กว่าปีนี้ ในอีก 18 ปี ข้างหน้า ซึ่งตรงกับวันที่ 26 พฤศจิกายน 2577 ที่ระยะห่างประมาณ 356,447 กิโลเมตร 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 15 พ.ย. 2559 เวลา : 20:14:57
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 11:57 am