เอสเอ็มอี
ITAP สวทช. หนุนผู้เชี่ยวชาญวิจัยร่วม SMEsพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมด้วยฐานเทคโนโลยีชีวภาพ


 


(30 พ.ย. 59) ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี - กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดงานแถลงข่าว “Biotechnology Lab to Market ตอน เทคโนโลยีชีวภาพ สู่นวัตกรรมไล่ยุง และผลิตภัณฑ์ความงาม” โดยการสนับสนุนของโปรแกรม ITAP สวทช. เพื่อนำเสนอผลงานวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ด้านเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) ที่เป็นการสกัดสารสกัดจากพืช ได้แก่ สมุนไพร และข้าว ให้ออกมาเป็นรูปแบบของนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ ที่ผู้ประกอบการสามารถนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้ จำนวน 2 ราย ได้แก่ นวัตกรรมสูตรน้ำไล่ยุงชนิดไมโครแคปซูล โดยบริษัท บาริแคร์ จำกัด และนวัตกรรมสารสกัดโปรตีนจากข้าวไรซ์เบอร์รี่เป็นผลิตภัณฑ์ความงาม โดยบริษัท เบลลิส บิวตี้ จำกัด
 
 

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า “สวทช. โดยโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) ดำเนินงานเพื่อพัฒนาศักยภาพของ SMEs ให้มีขีดความสามารถทางเทคโนโลยีสูงขึ้น ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยใช้กลไกการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่มีความเหมาะสมกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม การร่วมงานกับ ITAP เปรียบเสมือน SMEs ได้มีหน่วยวิจัยและพัฒนา (R&D) เฉพาะกิจ และมีผู้ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาเทคโนโลยีช่วยบริหารโครงการวิจัยให้ พร้อมทั้งเสาะหาผู้เชี่ยวชาญที่เหมาะสมกับสภาพปัญหาและหัวข้อที่ต้องการวิจัยและพัฒนาด้านนวัตกรรม
 
 
 
รวมทั้งมีเงินทุนสนับสนุนการทำวิจัย ทำให้ SMEs ลดความเสี่ยงในการทำโครงการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม ตั้งแต่เริ่มดำเนินการในปี 2536 จนถึงปัจจุบัน ITAP สวทช. ได้ทำหน้าที่เป็นพันธมิตรทางเทคโนโลยีด้วยการส่งมอบ Technology Solution ให้แก่ SMEs ไทยมาอย่างต่อเนื่องมากกว่า 3,000 ราย ช่วยเหลือผู้ประกอบการยกระดับเทคโนโลยีทั้งในระดับรายบริษัท และระดับกลุ่มอุตสาหกรรมประสบความสำเร็จ รวมถึงการยกระดับอุตสาหกรรมชุมชนด้วย และในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพหรือไบโอเทคโนโลยีเพื่อความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์เป็นสิ่งที่ สวทช. ให้ความสำคัญเสมอมา เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs แล้ว นักวิจัย และ ITAP จะสนับสนุนและให้คำปรึกษาเพื่อปลดล็อกข้อจำกัดทางธุรกิจด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ได้แก่ การวิจัยและพัฒนา การเพิ่มประสิทธิภาพและปรับปรุงการผลิต การสร้างมาตรฐานและการทดสอบ เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการเทคโนโลยีที่จะช่วยส่งเสริมให้ SMEs สามารถวิจัยและพัฒนาพร้อมทั้งนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์จนประสบสำเร็จ ขับเคลื่อนงานวิจัยสู่ภาคธุรกิจเพื่อสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจและยกระดับการแข่งขันของประเทศ”

หนุน SMEs พัฒนานวัตกรรม PASAR เพิ่มประสิทธิภาพการไล่ยุง

 

 
สวทช. โดยโปรแกรม ITAP สนับสนุนผู้เชี่ยวชาญคณะวิจัย ประกอบด้วย ดร.สรวง สมานหมู่ นักวิจัยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) รศ.ดร.ปลื้มจิตต์ โรจนพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยค้นคว้าและพัฒนายา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดร.อภิวัฏ ธวัชสิน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุขกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ ผศ.ดร.สมชาย เจียจิตต์สวัสดิ์ มหาวิทยาลัยนเรศวร แก่บริษัท บาริแคร์ จำกัด ในการร่วมกันพัฒนานวัตกรรมสูตรน้ำไล่ยุงชนิดไมโครแคปซูล ภายใต้โครงการพัฒนานวัตกรรม Polymer assisted a sustained and release (PASAR: พาซ่าร์) เพื่อใช้เป็นวัสดุฉลาดในการช่วยควบคุมการปลดปล่อยสารสกัดจากธรรมชาติและวิตามินอย่างยั่งยืน นับเป็นการใช้องค์ความรู้ด้านไบโอเทคโนโลยีการสกัดสารสกัดจากพืช สมุนไพรให้ออกมาเป็นนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพรไล่ยุง ที่ผู้ประกอบการสามารถนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้จริง

 
ดร.สรวง สมานหมู่ นักวิจัยห้องปฏิบัติการเคมีอินทรีย์ชีวภาพ ไบโอเทค สวทช. กล่าวว่า “ปัญหาที่พบบ่อยในการใช้น้ำมันหอมระเหยในการใช้เป็นผลิตภัณฑ์ไล่ยุงคือ ความเสถียรของน้ำมันหอมระเหย เนื่องจากเกิดการระเหยได้ง่าย ซึ่งเป็นผลทำให้ประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ไล่ยุงที่มีส่วนผสมของน้ำมันหอมระเหยมีประสิทธิภาพลดลงตามอายุการใช้งาน จึงได้ร่วมกับ ดร.อภิวัฏ ธวัชสิน และ ผศ.ดร.สมชาย เจียจิตต์สวัสดิ์ พัฒนา “นวัตกรรม PASAR สำหรับน้ำมันหอมระเหย” ด้วยการสร้างไมโครเอนแคปซูเลชั่นที่เป็นอนุภาคขนาดเล็กระดับนาโนเมตร (185 นาโนเมตร) ช่วยในการกักเก็บสารสกัดที่สำคัญในน้ำมันหอมระเหย ซึ่งจะช่วยเพิ่มความเสถียรของน้ำมันหอมระเหยให้มีความเสถียรสูง ไม่ให้ระเหยง่าย และสามารถปลดปล่อยสารสกัดในน้ำมันหอมระเหยออกอย่างช้าๆ และเป็นระยะเวลานาน ถือเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพที่ดีขึ้นของน้ำยาไล่ยุง โดยนวัตกรรมสูตรน้ำไล่ยุงดังกล่าวเป็นกระบวนการไมโครเอนแคปซูเลชั่นของสารสกัดจากธรรมชาติ 3 ชนิด ได้แก่ ตะไคร้หอม ลาเวนเดอร์ และยูคาลิปตัส ซึ่งเป็นสารธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพสูงในการไล่ยุง ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียในอากาศได้มีประสิทธิภาพ เช่น เชื้อ Staphylococcus และเชื้อ E. coli รวมทั้งไม่สะสมในร่างกายของผู้ใช้เมื่อใช้เป็นระยะเวลานาน นอกจากนี้ สารสกัดจากธรรมชาติเหล่านี้ไม่ได้ช่วยในการไล่ยุงโดยตรงเท่านั้น แต่จะทำหน้าที่กำบังกลิ่นที่เป็นตัวล่อยุงให้เข้ามากัด อย่างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และกรดแลคติก ซึ่งมีการสร้างขึ้นในร่างกายคนเพื่อทำให้ยุงรู้ตำแหน่งของเหยื่อด้วย”
 

รศ.ดร.ปลื้มจิตต์ โรจนพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยค้นคว้าและพัฒนายา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเพิ่มเติมถึงผลการทดสอบการใช้งานว่า “ในการทดสอบด้านความเป็นพิษต่อเซลล์ ทางกลุ่มวิจัยเลือกใช้เซลล์ผิวหนังหนังกำพร้า (ไฟโบรบลาสต์, Fibroblast) ซึ่งเป็นผิวหนังชั้นนอกสุดและเป็นด่านแรกในการสัมผัสกับสารเคมีโดยตรงเป็นตัวทดสอบ โดยเลือกวิธีมาตรฐานที่ใช้ในการวิเคราะห์การอยู่รอดของเซลล์แบบ end point measurement คือ Methly tetrazolium 3-[4,5- Dimethylthiazol -2 – yl]-2, 5-diphenyltetrazolium bromide (MTT) assay ซึ่งการวิเคราะห์ความเป็นพิษต่อเซลล์นั้นจะคำนวณจากเปอร์เซนต์การรอดชีวิตของเซลล์ เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม โดยวัดค่าจากความเข้มข้นที่ออกฤทธิ์ยับยั้งเซลล์ได้ 50% (IC50) ยิ่งค่าการยับยั้งเซลล์ยิ่งสูงยิ่งดี เพราะแสดงว่าสารละลายไม่มีความเป็นพิษต่อเซลล์ โดยเบื้องต้นกลุ่มวิจัยได้ส่งน้ำตัวอย่างที่เก็บออกมาจากเครื่องสร้างไอน้ำซึ่งมีสารที่มีประสิทธิภาพในการไล่ยุงไปทดสอบความเป็นพิษต่อเซลล์ด้วยวิธีดังกล่าว พบว่า ไม่มีความเป็นพิษต่อเซลล์ไฟโบรบลาสต์ จึงเหมาะสำหรับใช้ในการป้องกันและช่วยควบคุมการแพร่ระบาดของโรคที่มียุงเป็นพาหะ อย่างโรคไข้เลือดออก ไข้ซิกา และไข้ปวดข้อยุงลายได้เป็นอย่างดี”

ด้าน คุณชัยรัฐ หอณรงค์ศิริ ประธานกรรมการบริษัท บาริแคร์ จำกัด กล่าวว่า “การต่อยอดผลงานวิจัยจนมาเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรไล่ยุง เกิดจากความตระหนักถึงภัยที่มียุงเป็นพาหะ และการหาวิธีป้องกันแต่ไม่ “ฆ่า” จึงได้ปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญหลายๆ ด้านในการหาวิธีป้องกันยุง จนได้นวัตกรรมน้ำยาไล่ยุงซึ่งนอกจากจะมีสารสกัดจากธรรมชาติแล้ว ยังมีการเติมสารในกลุ่มไพรีทรอยด์ (สารเลียนแบบโครงสร้างของสารสกัดจากดอกเบญจมาศขาว) เพื่อใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการไล่ยุง โดยใช้ร่วมกับเครื่องสร้างไอน้ำขนาดอนุภาคระดับนาโนเพื่อการไล่ยุงในรัศมีวงกว้าง (15 ตารางฟุต) เหมาะสำหรับการใช้ป้องกันยุงในการมีกิจกรรมตามที่โล่งแจ้ง โดยทางบริษัทและคณะวิจัยมีแผนริเริ่มโครงการ “เชียงใหม่ปลอดยุง” เพื่อเป็นจังหวัดนำร่องของโครงการดังกล่าว โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในจังหวัดเชียงใหม่ อีกทั้งบริษัทมีแผนที่จะพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์จากเดิมให้สามารถใช้ในโรงพยาบาลและห้องนอนได้ โดยการเพิ่มประสิทธิภาพของน้ำยาให้สามารถฆ่าเชื้อโรคในอากาศได้ และพัฒนาเป็นสเปรย์ไว้พกพาสำหรับคนที่ใช้เดินทางและใช้ป้องกันยุงในพื้นที่ที่ไม่มีไฟฟ้าด้วย”
 

หนุน SMEs สร้างมูลค่าเพิ่มจากข้าวไรซ์เบอร์รี่ เป็นนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ความงาม
 

สวทช. โดยโปรแกรม ITAP สนับสนุนผู้เชี่ยวชาญนักวิจัยไทย โดย ผศ.ดร.สมชาย เจียจิตต์สวัสดิ์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และที่ปรึกษาด้านเทคนิค ดร.สรวง สมานหมู่ นักวิจัยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ในการพัฒนานวัตกรรมสารสกัดโปรตีนจากข้าวไรซ์เบอร์รี่ เป็นผลิตภัณฑ์ความงามครีมมาร์คหน้า และสบู่จากสารสกัดข้าว ที่ช่วยฟื้นฟูสภาพผิว และเพิ่มความกระจ่างใสแก่ผิวหน้า ร่วมกับ บริษัท แอดวาเทค จำกัด ภายใต้การทำการตลาดของบริษัท เบลลิส บิวตี้ จำกัด นับเป็นการใช้องค์ความรู้ด้านไบโอเทคโนโลยีในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ข้าวอินทรีย์ของชุมชน ให้ออกมาเป็นรูปแบบของนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ความงาม ที่ผู้ประกอบการสามารถนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้จริง รวมทั้งช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มของข้าวและรายได้ให้แก่เกษตรกรไทยได้ด้วย
 

ผศ.ดร.สมชาย เจียจิตต์สวัสดิ์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ผู้เชี่ยวชาญโครงการ กล่าวว่า “นวัตกรรมสารสกัดโปรตีนจากข้าวไรซ์เบอร์รี่ เกิดจากความตระหนักถึงการตกต่ำของราคาข้าวไทย จึงมีแนวความคิดในการต่อยอดเพื่อช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับข้าวไทย โดยเลือกข้าวไรซ์เบอร์รี่เป็นข้าวชนิดแรกในโครงการนี้ เนื่องจากข้าวไรซ์เบอร์รี่อุดมไปด้วยสารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพสูง โดยการสกัดสารสำคัญจากข้าวไรซ์เบอร์รี่ด้วยวิธีใช้เอมไซม์ ทำให้ได้สารแอนโทไซยานิน และโปรตีนสกัดจากข้าว ที่มีคุณสมบัติเมื่อทดสอบในระดับห้องปฏิบัติการแล้ว พบว่า มีความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระที่สูง และโปรตีนสกัดที่ได้จากข้าวไรซ์เบอร์รี่เมื่อไปผ่านกระบวนการไฮโดรไลซิส (Hydrolysis) เพื่อให้เป็นโปรตีนสายสั้นแล้วนั้น จะยังมีคุณสมบัติในการเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิวหน้าด้วย สำหรับน้ำที่ผ่านกระบวนการสกัดนอกจากมีสารแอนโทไซยานินปริมาณสูงแล้ว ยังมีเอมไซม์ที่ช่วยในการสกัดโปรตีนออกจากคาร์โบไฮเดรตในข้าวไรซ์เบอร์รี่ซึ่งช่วยในการขัดผิวและเพิ่มความกระจ่างใสให้แก่ผิวหน้าของอาสาสมัครอีก จึงเป็นที่มาของการต่อยอดนวัตกรรม ผนวกกับตัวเองได้ทำงานกับวิสาหกิจชุมชนที่ปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ที่สามารถควบคุมการผลิต การปลูก ได้ตั้งแต่ต้นน้ำ และผ่านมายังส่วนของนวัตกรรมการสกัดสารสำคัญในข้าวที่เป็นกลางน้ำ ตลอดจนมีบริษัทเอกชนนำไปต่อยอดทางการตลาดที่เป็นปลายน้ำ เรียกได้ว่าเป็นการผลักดันงานวิจัยออกสู่เชิงพาณิชย์ได้ตั้งแต่ต้นทางจนปลายทาง รวมทั้งยังเป็นการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนให้มีกำลังใจในการปลูกข้าวด้วย”
 

ดร.สรวง สมานหมู่ นักวิจัยห้องปฏิบัติการเคมีอินทรีย์ชีวภาพ ไบโอเทค สวทช. ให้ข้อมูลในฐานะที่ปรึกษาโครงการวิจัยว่า “โครงการวิจัยนี้เป็นโครงการวิจัยที่ดี ช่วยส่งเสริมการแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น และใช้จุดเด่นของความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยมีความอุดมสมบูรณ์ของข้าวหลากหลายสายพันธุ์ โดยเฉพาะข้าวสีที่มีสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ (Flavanoids) จำนวนมาก ซึ่งต่างจากข้าวสายพันธุ์อื่นๆ ในต่างประเทศ หากผู้ประกอบการกับนักวิจัยสามารถตอบโจทย์จากการแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรได้ ต่อไปอาจจะสามารถส่งข้าวในราคาที่เป็นกรัมแทนเกวียนออกไปขายยังต่างประเทศ ทำให้ประเทศไทยมีจุดขายที่โดดเด่นในตลาดของเครื่องสำอางและอาหารเสริมของโลกได้ ทั้งนี้ อนาคตตนอยากเห็นการต่อยอดนวัตกรรมการสกัดสารจากข้าวไรซ์เบอร์รี่เป็นผลิตอื่น และมีการสร้างเรื่องราวของงานวิจัยสารสกัดจากข้าวอย่างเป็นจริงเป็นจัง เหมือนกับโสมของประเทศเกาหลี ซึ่งทั้งรัฐบาลและเอกชนให้ความร่วมมือ และถือเป็นความภูมิใจของเกาหลี หากโครงการการนำสารสกัดจากข้าวไรซ์เบอร์รี่สามารถทำได้แบบโสมนับเป็นเรื่องน่ายินดี เกาหลีมีโสม ประเทศไทยมีข้าว ชาวต่างชาติที่เข้ามาจะได้รู้สึกชื่นชมข้าว ไม่เพียงแต่ใช้กินเป็นอาหารประจำวันเท่านั้น แต่ข้าวไทยยังมีคุณประโยชน์ด้านอื่นๆ มากเช่นกัน” 


 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 30 พ.ย. 2559 เวลา : 16:49:19
20-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 20, 2024, 5:59 am