แบงก์-นอนแบงก์
"หนี้เสีย"...ปัจจัยเสี่ยงสถาบันการเงิน


 

 

"เศรษฐกิจ" ที่ชะลอตัวลง ย่อมส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งล่าสุด บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประเมินแนวโน้มโดยรวมของธนาคารพาณิชย์ไทยในปี 2560 โดยเชื่อว่ายังคงอยู่ในภาวะที่ยากลำบาก และยังคงต้องเผชิญกับแรงกดดันจากปัจจัยเสี่ยงในด้านคุณภาพสินทรัพย์และด้านผลประกอบการต่อเนื่อง
         
โดยธนาคารพาณิชย์ไทยน่าจะได้รับผลกระทบจากภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ การเติบโตของเศรษฐกิจในระดับต่ำ และการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราการผิดนัดชาระหนี้ โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และกลุ่มลูกค้าสินเชื่อรายย่อย แต่แรงกดดันจากปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวน่าจะยังคงอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้    โดยฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนทางการเงินของธนาคารพาณิชย์น่าจะปรับตัวอ่อนแอลงมาบ้าง แต่จะยังคงอยู่ในระดับปกติสอดคล้องกับภาวะการชะลอตัวตามวัฏจักรเศรษฐกิจ
         
นอกจากนี้ ความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์ไทยอาจได้รับการบรรเทาผลกระทบจากสัดส่วนการกันสำรองหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดราย ได้ (เอ็นพีแอล) ที่อยู่ในระดับค่อนข้างสูง โดยปัจจุบัน ภาคธนาคารพาณิชย์ไทยมีสัดส่วนเฉลี่ยอยู่ที่ 127% และฟิทช์คาดว่า อัตราการผิดนัดชาระหนี้ของลูกค้าสินเชื่อน่าจะเริ่มชะลอตัวลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปในปี 2560

 

ส่วนเสียงสะท้อนจากนายธนาคารเกี่ยวกับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย  เชื่อว่า หนี้ NPL ของระบบธนาคารพาณิชย์ที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นในไตรมาส 3 เป็นเรื่องที่คาดการณ์กันไว้อยู่แล้ว  ซึ่งเป็นผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่แม้จะฟื้นตัวได้ แต่ก็ยังขยายตัวในระดับต่ำ จึงต้องใช้เวลาในการส่งต่อไปถึงภาคธุรกิจ แต่เชื่อว่าหากเศรษฐกิจขยายตัวในระดับนี้ เอ็นพีแอลโดยรวมของก็น่าจะทรงตัวอยู่ในระดับที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศออกมาประมาณ 2.89%

ขณะที่ นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เชื่อว่า  สถานการณ์เอ็นพีแอลของระบบในไตรมาส 4 ปีนี้ มีความเป็นไปได้ที่จะชะลอตัวลง หรือเพิ่มขึ้นก็ไม่สูงมากนัก เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์บางแห่งได้ทยอยตัดขายเอ็นพีแอล ขณะเดียวกันก็จะเห็นได้ถึงการพยายามในการปรับโครงสร้างหนี้ของธนาคารพาณิชย์          

ส่วนหนี้ค้างชำระเกิน 60 วันที่ยังเพิ่มขึ้นนั้น หากมีการบริหารจัดการด้านแก้ไขปรับโครงสร้างหนี้ที่ดี ก็จะทำให้บางส่วนกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ นอกจากนี้หากสินเชื่อขยายตัวได้ดีขึ้นก็จะเป็นอีกส่วนทำให้เอ็นพีแอลลดลง           


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 04 ธ.ค. 2559 เวลา : 11:56:38
18-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 18, 2024, 5:55 pm