เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
รัฐกดปุ่ม "แก้หนี้นอกระบบ" ก.พ.นี้


การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งนโยบายที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ความสำคัญ ไม่แพ้นโยบายอื่นๆ ของรัฐบาล เริ่มมีสัญญาณความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อกฎหมายการห้ามเรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยสูงกว่า 15% ต่อปี มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 16  ม.ค. 60  

 

 

โดยรายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง แจ้งว่า คลังเตรียมจัดงานเปิดตัวโครงการแก้หนี้นอกระบบอย่างเป็นทางการในวันที่ 6 ก.พ.นี้ ที่ อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการเปิดตัวโครงการนี้ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของนายกฯ ที่ประกาศทำสงครามกับหนี้นอกระบบ

 

ด้าน นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ  ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า การแก้ไขหนี้นอกระบบแบบบูรณาการ ทุกมาตรการจะดำเนินการพร้อมกันหมด ทั้งจับและลงโทษหนักกับเจ้าหนี้นอกระบบ ซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายยุติธรรมได้รวบรวมรายชื่อเจ้าหนี้นอกระบบส่งมาให้กระทรวงการคลังรับทราบแล้ว

หลังจากนั้นจะให้นาโนไฟแนนซ์ และพิโกไฟแนนซ์ ที่ตั้งขึ้นมาช่วยปล่อยกู้ลูกหนี้ ให้ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแลเรื่องแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างถาวร โดยกำหนดเป็นตัวชี้วัดผลการดำเนินงานของธนาคารด้วย โดยธนาคารออมสินจะเน้นแก้หนี้นอกระบบให้ลูกค้าทั่วไป   ส่วน ธ.ก.ส.จะเน้นแก้หนี้นอกระบบให้ลูกค้าเกษตรกร โดยมีรูปแบบสินเชื่อและดอกเบี้ยเหมือนกัน

 

สำหรับการตอบรับการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ นายชาติชาย พยุหานาวีชัย ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า  โครงการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเพื่อเดินหน้าแก้ปัญหาอย่างบูรณาการและเบ็ดเสร็จ ในส่วนของธนาคารออมสินนั้น ได้เตรียมพร้อมไว้หลายโครงการ ทั้งการให้กู้เพื่อแก้ไขหนี้นอกระบบวงเงิน 5 หมื่นบาทต่อราย โครงการบัตรพีเพิลการ์ดสำหรับผู้ที่ต้องการเงินฉุกเฉิน วงเงินไม่เกิน 3 หมื่นบาทต่อราย นอกจากนี้ ออมสินยังจะเปิดให้กลุ่มที่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) หรือกลุ่มที่ติดเครดิตบูโรเข้ามากู้ใหม่ได้ โดยจะพิจารณาจากความสามารถในการผ่อนชำระเป็นหลัก

 

ทั้งนี้ ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 ม.ค.2560 เป็นต้นไป สำหรับสาระสำคัญกฎหมายฉบับนี้ คือ การยกเลิกพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 และกำหนดให้ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ โดยปัจจุบันกฎหมายกำหนดห้ามคิดอัตราดอกเบี้ยเกิน 15% หากกระทำความผิดจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท ในกรณีที่มีการกระทำความผิดเป็นกลุ่มกระบวนการที่เป็นลักษณะนายทุน มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท และหากผู้กระทำผิดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องเพิ่มโทษเป็น 2 เท่า


LastUpdate 16/01/2560 12:55:36 โดย : Admin
24-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 24, 2024, 1:21 am