เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
รัฐหนุน "คนรุ่นใหม่" สร้างธุรกิจที่บ้านเกิด


นโยบายการพัฒนา SMEs ตามแนวทางประชารัฐ เป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญในการดำเนินการ เพื่อกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ  

 

 

โดย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์  รองนายกรัฐมนตรี  ได้เป็นประธานการประชุมแนวทางบูรณาการพัฒนา SMEs ตามแนวประชารัฐ โดยมี นายอภิศักดิ์  ตันติวรวงศ์   รมว.คลัง  นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม และผู้บริหารธนาคารของรัฐ ได้แก่ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม และผู้แทนสมาคมธนาคารไทย ร่วมการประชุม
         

 

โดยนายสมคิด ยืนยันว่า ปัจจุบันนโยบายรัฐบาลกำลังมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับกลุ่มจังหวัด ทั้งการจัดงบประมาณลงไปและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ดังนั้นนโยบายต่างๆ ในอนาคตข้างหน้าจะมาจากกลุ่มจังหวัดเป็นสำคัญ ซึ่งก็อยากให้ปรับโครงสร้างองค์กรต่างๆ เตรียมไว้รองรับ เช่น การช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ต้องมีศูนย์กลางในแต่ละจังหวัดและภูมิภาค แต่ละกลุ่มจังหวัดจะต้องมีการทำโครงสร้างรองรับ ซึ่งได้ฝากเป็นนโยบายให้กระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานของรัฐอื่นไปคิด โดยหน่วยงานที่อยู่ในกลุ่มจังหวัดจะต้องไปเชื่อมกับมหาวิทยาลัย และเอกชนอื่นๆ ที่มีบทบาทสำคัญในภูมิภาค
        
นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้ ธนาคารออมสิน และ ธนาคารกรุงไทย ออกมาตรการใหม่ ๆ เพื่อรองรับให้กับกลุ่มสตาร์ทอัพ กลุ่มเอสเอ็มอี โดยเฉพาะการสนับสนุนให้คนกลุ่มรุ่นใหม่ที่ต้องการมีธุรกิจเป็นของตนเองเมื่อจบการศึกษาแล้ว  สามารถสร้างธุรกิจในพื้นที่ที่อาศัยอยู่ ไม่ต้องเดินทางเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ เหมือนที่ผ่านมา   เพราะสามารถประกอบธุรกิจในถิ่นฐานบ้านเกิดของตนเองได้ โดยทั้ง 2 แบงก์จะต้องสนับสนุนทั้งการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การให้ความรู้ และต้องมีช่องทางการทำมาค้าขาย  

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังและกระทรวงอุตสาหกรรม จะร่วมกันจัดตั้ง "กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอี" ขึ้น ด้วยวงเงิน 20,000 ล้านบาท ที่ได้รับการจัดสรรวงเงินเพิ่มเติมงบกลางปี 2560 จากสำนักงบประมาณ โดยจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 17 ม.ค.เพื่อทำหน้าที่ เช่น ปล่อยกู้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) การร่วมทุนกับธุรกิจเอสเอ็มอี  และการสนับสนุนให้ความรู้ ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้เติบโตแข็งแรง และสร้างระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายใน 2 เดือนหลังจากนี้

 

ด้าน นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การขับเคลื่อนเอสเอ็มอี ถือเป็นโจทย์ใหญ่ในปีนี้ โดยจะมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างกระทรวงอุตสาหกรรม ทั้งกระบวนการและการดูแล ให้สามารถขับเคลื่อนเอสเอ็มอีให้สอดคล้องกับการเติบโตการพัฒนาอุตสาหกรรมระดับเอสเอ็มอีในพื้นที่ชุมชนอย่างต่อเนื่อง และแบงก์รัฐทั้ง 3 แห่ง ต้องหามาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอี 3 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มที่เริ่มทำธุรกิจใหม่ เช่น มีแนวความคิดจะสร้างธุรกิจอย่างไร กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มที่ต้องการปรับเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจ หรือปรับเปลี่ยนเครื่องจักร ต้องการซอฟท์แวร์ใหม่ และกลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มที่มีศักยภาพแต่ประสบปัญหา เช่น ยอดขายลดลง หากปล่อยไปแล้วอาจเป็นภาระกับธนาคาร ผู้ประกอบการ และวงกว้างของธุรกิจ จึงต้องหามาตรการช่วยเหลือต่อไป


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 17 ม.ค. 2560 เวลา : 02:08:45
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 10:33 am