แบงก์-นอนแบงก์
"กสิกรไทย" รับกระแส "ฟินเทค" จับมือพันธมิตร สร้างโอกาสธุรกิจ


ในขณะที่กระแสฟินเทคหรือ Financial  Technology  กำลังได้รับความนิยมไปทั่วโลก โดยเฉพาะในภาคธุรกิจการเงิน   ธนาคารกสิกรไทยได้ชื่อว่าเป็นธนาคารที่มีวิสัยทัศน์ก้าวไกล โดยจะเห็นได้จากการหนึ่งในธนาคารจำนวนไม่มาก   ที่สามารถผ่านวิกฤติการเงินในยุคต้มยำกุ้งมาได้ค่อนข้างดี  จากการปรับตัวรองรับวิกฤติที่เกิดขึ้น   ซึ่งในยุคที่ฟินเทคมาแรงนี้   ผู้บริหารธนาคารก็มั่นใจที่จะนำพาธนาคาร ให้ปรับตัวรับกับกระแสที่เกิดขึ้น

 

โดย นายพิพิธ  เอนกนิธิ  กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า การพัฒนาอย่างรวดเร็วของดิจิทัลเทคโนโลยี  ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายมิติ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและทัศนคติของผู้บริโภค   การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ไม่ได้ส่งผลแค่ประเทศไทยเท่านั้น แต่มีผลกระทบไปทั่วโลก ซึ่งเห็นได้ว่าแต่ละประเทศใช้ศักยภาพด้านดิจิทัลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพัฒนาสังคม รวมถึงคุณภาพชีวิตของประชากรในประเทศ เห็นได้จากภาครัฐมีการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคภายในประเทศ เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป ภาคการเงินก็เช่นเดียวกัน โลกยุคดิจิทัลได้เปิดโอกาสให้ผู้เล่นรายใหม่ (FinTech) ทั้งในและต่างประเทศ เข้ามามีส่วนร่วมในธุรกิจหลากหลายประเภท ซึ่งเกิดจากนำระบบการเงินล้ำยุคด้วยเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามา ทำให้ผู้บริโภคได้รับความสะดวกสบาย   ลดเวลา ลดค่าใช้จ่าย และยังมีความปลอดภัยในการใช้บริการมากขึ้น
         
และอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจโลก คือ การรวมตัวกันของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่ก่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายของแหล่งเงินทุน ที่ดึงดูดนักลงทุนจากนานาประเทศที่ต่างเข้ามามองหาโอกาสทางธุรกิจ ส่งผลให้มีอัตราการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของ GDP ในภูมิภาคนี้สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และเมื่อผนวกกับประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในเอเชีย เช่น จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ (ASEAN+3) ทำให้มีขนาดของ GDP เป็น 1 ใน 4 ของ GDP โลก ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 18.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่งผลให้เอเชียเป็นอีกภูมิภาคหนึ่งที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจเทียบเท่ากับสหภาพยุโรปหรืออเมริกา
         

 

โดยธนาคารกสิกรไทยในฐานะสถาบันการเงินที่เตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในทุกยุคทุกสมัย ความท้าทายใหม่ในครั้งนี้ คือ  การปรับกลยุทธ์เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า ทั้งในส่วนของลูกค้าบุคคลและลูกค้าผู้ประกอบการ สำหรับลูกค้าบุคคลผู้บริโภคมีทางเลือกในการใช้บริการด้านดิจิทัลไลฟ์สไตล์มากขึ้น เห็นได้จากตัวเลขการใช้ mobile internet ที่มีมากกว่าจำนวนประชากร ธนาคารจึงปรับกลยุทธ์เพื่อสร้างความแตกต่างผ่านการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ เช่น การเป็นธนาคารแห่งแรกที่ได้ให้บริการบัตรเครดิต ธนาคารบนโทรศัพท์มือถือแห่งแรกของไทยผ่านบริการธนาคารบนโทรศัพท์มือถือ K-Mobile Banking นอกจากจะเป็นผู้นำในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีแล้ว ยังเป็นผู้นำในตลาดจากจำนวนผู้ใช้ Mobile Banking เป็นอันดับหนึ่งของประเทศ
         
ในส่วนของลูกค้าผู้ประกอบการ ธนาคารได้พัฒนาระบบใหม่ๆ รวมถึงสร้างความร่วมมือด้านเทคโนโลยีต่างๆ กับพันธมิตรและผู้เล่นรายใหม่ (FinTech) เพื่อตอบสนองความต้องการทางธุรกิจที่หลากหลาย เช่น ในปัจจุบันลูกค้าของธนาคารสามารถซื้อขายเงินทุกสกุลในอาเซียนได้ และสามารถโอนเงินหลากหลายสกุลถึงกันได้โดยตรง โดยไม่ต้องผ่านธนาคารตัวแทนหลายธนาคาร ทำให้ลดระยะเวลาการชำระเงิน ลดค่าใช้จ่าย และลดต้นทุนในการดำเนินงานได้ และยังได้ให้บริการหนังสือค้ำประกัน (Letter of Guarantee หรือ LG) ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ช่วยลูกค้าธุรกิจออกหนังสือค้ำประกัน และต่ออายุผ่านระบบออนไลน์ได้ 24 ชั่วโมง 7 วัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพไม่พลาดโอกาสทางธุรกิจ และช่วยลดต้นทุนทั้งด้านเวลาและค่าใช้จ่าย
         

 

ในด้านธุรกิจในต่างประเทศของธนาคาร จากการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนตัวเลขการค้าระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียนกับ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ธนาคารได้เตรียมพร้อมในการรองรับการขยายตัวของธุรกิจระหว่างประเทศ จากการเข้าไปตั้งสาขาและสำนักงานตัวแทน การจับมือพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนในต่างประเทศกว่า 70 ราย เพื่อนำเอาดิจิทัลเทคโนโลยีต่าง ๆ มาตอบโจทย์ความต้องการทางธุรกิจในแต่ละประเทศ
         
แต่ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญที่สุด ที่ธนาคารจะขับเคลื่อนไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงในโลกยุคดิจิทัล คือ การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ทางธุรกิจขององค์กร เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ รวมถึงการปรับเปลี่ยนภายในองค์กรเอง ทั้งการจัดการทรัพยากรบุคคล รวมถึงกระบวนการสรรหาพนักงาน ซึ่งต้องสรรหาพนักงานให้ตรงกับตำแหน่งงานมากที่สุดและสามารถปรับตามวัฒนธรรมขององค์กรได้ พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์โลกในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังต้องปรับระบบวัดความสามารถของพนักงาน (KPIs) ให้เหมาะสม และวัดผลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และการปรับเปลี่ยนทัศนคติของพนักงานและองค์กรให้ปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์การแข่งขันในปัจจุบัน เพื่อตอบสนองทุกความต้องการของลูกค้า

    
 


บันทึกโดย : วันที่ : 18 ม.ค. 2560 เวลา : 21:41:18
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 6:45 pm