เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
สภาพัฒน์ คาด "จีดีพี" ปี 60 โต 3-4% ขณะปี 59 โต 3.2% เพิ่มเป้าส่งออกปีนี้ขยายตัว 2.9%


สภาพัฒน์ เผยจีดีพีปี 59 โต 3.2%  หลังรายได้เกษตรกรฟื้น - การใช้จ่ายและลงทุนภาครัฐฯ โต  ส่วนส่งออกทั้งปีขยายตัว 0% - นำเข้าติดลบ 4.7% ส่วนปี 60 คงเป้าจีดีพีโต 3-4% รับภาคส่งออกสดใส - การลงทุนรัฐฯ และเอกชนยังดีต่อเนื่อง  การท่องเที่ยวที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี พร้อมเพิ่มเป้าส่งออกปีนี้ขยายตัว 2.9% จาก 2.4% 
 
   

นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. เปิดเผยว่า ในปี 2559 เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 3.2% ตามที่คาดการณ์ไว้ ขณะที่ไตรมาส 4 ที่ผ่านมา ขยายตัวได้ 3% จากไตรมาส 3 ที่ขยายตัว 3.2%  ด้านการส่งออกทั้งปีขยายตัวได้ 0% ส่วนไตรมาส 4 ขยายตัวได้ 3.6% การนำเข้าทั้งปีติดลบ 4.7% และไตรมาส 4 ขยายตัวได้ 6.7% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั้งปี 2559 ขยายตัวได้ 0.2% ด้านไตรมาส 4 ขยายตัวได้ 0.7% ด้านดุลการค้าในปี 2559 เกินดุล 35,752 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ไตรมาส 4 เกินดุล 6,633 ล้านดอลลาร์ 
    

สำหรับในไตรมาส 4 ของปี 2559  การใช้จ่ายภาคครัวเรือนขยายตัวได้ 2.5% ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวได้ 3% โดยมีแรงสนับสนุนจากการเริ่มปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้เกษตร และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ด้านการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลเพิ่มขึ้น 1.5% ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงในไตรมาสก่อนที่ 5.2% สอดคล้องกับมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ ซึ่งส่งผลให้อัตราการเบิกจ่ายในไตรมาสนี้อยู่ที่ 32.1% สูงกว่าเป้าหมาย 30% 
    

ด้านการลงทุนภาครัฐในไตรมาส 4/2559 ขยายตัวได้ 8.6% เป็นผลจากการลงทุนของรัฐวิสาหกิจและการลงทุนของรัฐบาลที่ขยายตัวได้ดีต่อ เนื่อง ด้านการลงุทนของภาคเอกชนลดลง 0.4% สำหรับทั้งปี 2559 การลงทุนภาครัฐขยายตัวได้ 9.9% ส่วนการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้ 0.4% ส่วนมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนผ่านคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ อยู่ที่ 584.4 ล้านบาท

   

สำหรับในปี 2560 ทางสภาพัฒน์คงเป้าหมายคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ของไทยจะขยายตัวได้ 3-4% โดยคาดการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวได้ 2.5% ด้านการลงทุนภาครัฐจะขยายตัวได้ 14.4% ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวได้ 2.8% การบริโภคภาครัฐขยายตัว 2.6% 
    

ด้านการส่งออกในปี 2560 จะขยายตัวได้ 2.9% เพิ่มขึ้นจากการประมาณการครั้งก่อนที่คาดขยายตัวได้ 2.4% ด้านการนำเข้าคาดขยายตัวได้ 5.5% เพิ่มขึ้นจากการประมาณการครั้งก่อนที่คาด 4.5% ขณะที่ดุลการค้าคาดว่าจะเกินดุล 32.2 พันล้านดอลลาร์ ลดลงจากการประมาณการครั้งก่อนที่คาด 33.7 พันล้านดอลลาร์ ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดคาดเกินดุล 39.5 พันล้านดอลลาร์ ลดลงจากประมาณการครั้งก่อนที่คาด 42.1 พันล้านดอลลาร์ ส่วนอัตราเงินเฟ้อคาดอยู่ที่ 1.2-2.2% จากเดิมคาด 1.0-2.0% 
    

“แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปี 2560 จะมาจากการฟื้นตัวของภาคการส่งออกที่มีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งจะเป็นแรงขับเคลื่อนให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนภาคเอกชนปรับตัว ดีขึ้น เช่นเดียวกับการผลิตภาคเกษตรที่มีแนวโน้มฟื้นตัว จากปัญหาภัยแล้งสิ้นสุดลง ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้รายได้และการใช้จ่ายภาคครัวเรือนในภาคเกษตรปรับ ตัวดีขึ้น รวมทั้งแรงขับเคลื่อจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูงต่อ เนื่องจากปีที่ผ่านมา และรายได้จากการท่องเที่ยวที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี”นายปรเมธี กล่าว  
     

ทั้งนี้ ในการประมาณการการลงทุนภาคเอกชนที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.5% โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของภาคการส่งออกที่คาดว่าจะทำให้กำลังการผลิตส่วนเกินเริ่มปรับตัวลดลงอย่างช้าๆ และกระตุ้นความต้องการลงทุนใหม่เพื่อขยายกำลังการผลิตได้มากขึ้น ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดีและนักลงทุนมีความ เชื่อมั่นทางธุรกิจต่อเศรษฐกิจในปัจจุบันและอนาคต 
    

ขณะที่การลงทุนภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวในเกณฑ์สูงที่ 14.4% เนื่องจากการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปีงบประมาณ 2560 วงเงิน 190,000 ล้านบาท และแนวโน้มความคืบหน้าของโครงการลงทุนภาครัฐที่จะทำให้มีการเบิกจ่ายจากกรอบงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจในปี 2560 มากขึ้น โดยเฉพาะแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งและโครงการที่อยู่ระหว่างการประกวด ราคา 11 โครงการวงเงิน 532,651 ล้านบาท เป็นต้น 
    

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยในปี 2560 ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตามอง คือ ระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกมีความผันผวน ซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ทั้งทิศทางและนโยบายของประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐ ทั้งในกลุ่มนโยบายด้านการลดภาษีและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จะเป็นปัจจัยเสี่ยงด้านบวก และในกลุ่มนโยบายด้านการค้า การลงทุน ความมั่นคง เป็นต้น แนวโน้มผลการเจรจาและความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสหราชอาณาจักรและสหภาพ ยุโรป ซึ่งคาดว่าจะเริ่มในช่วงปลายเดือนมีนาคมนี้ ความคืบหน้าของการเจรจาในการแก้ไขปัญหาของกรีซ 
    

สำหรับในปี 2560 สศช.คาดว่า ค่าเงินบาททั้งปีจะเฉลี่ยอยู่ที่ 35.5-36.5 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าจากปี 59 ที่อยู่ที่ 35.3 บาทต่อดอลลาร์ ตามแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไปของธนาคารกลาง สหรัฐในปี 2560 ซึ่งคาดว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้ง แต่สำหรับประเทศไทยนั้น มองว่า ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็ว โดยการพิจารณาการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้นจะต้องดูอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และความเข้มแข็งของประเทศ 
    

“ของไทยเองต้องดูการขยายตัวของเศรษฐกิจ และความเข้มแข็งว่ามีความพร้อมแค่ไหน แม้ว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจจะดีขึ้น แต่เชื่อว่าภาครัฐ โดยภาคการคลังยังต้องติดตามดูแล และไม่ถอยนโยบายภาคการคลังเร็วจนเกินไป เพื่อให้เกิดผลดีต่อความเชื่อมั่น ด้านนโยบายการเงินจะต้องดำเนินไปด้วยการสอดคล้องกับภาคการคลัง และจะต้องสนับสนุนการฟื้นตัวด้วย ดังนั้นจึงมองว่า ไทยอาจไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยเร็วในปีนี้ เพราะจะต้องดูหลายอย่างประกอบการพิจารณาในการขึ้นอัตราดอกเบี้ย”นายปรเมธี กล่าว
   

ด้านราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในปี 2560 จะอยู่ที่ 47-57 ดอลลาร์ต่อบาเรล เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ที่อยู่ที่ 41.4 ดอลลาร์ต่อบาเรล โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการบรรลุข้อตกลงเพื่อลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบของ กลุ่มประเทศ OPEC และ Non-OPEC ที่จะลดกำลังการผลิตลง 1.8 ล้านบารเรลต่อวัน การเพิ่มขึ้นของปริมาณความต้องการใช้น้ำมันตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โลก


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 20 ก.พ. 2560 เวลา : 11:25:13
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 6:11 am