แบงก์-นอนแบงก์
EXIM BANK เปิดบริการใหม่ "สินเชื่อส่งออกพลัส" สินเชื่อเพื่อเงินทุนหมุนเวียน พร้อมประกันการส่งออกฟรี สนับสนุน SMEs บุกตลาดใหม่


 

EXIM BANK เปิดบริการใหม่ "สินเชื่อส่งออกพลัส : EXIM Export Credit Plus" สินเชื่อที่ให้เงินทุนหมุนเวียน แถมให้ประกันการส่งออกฟรี สนับสนุน SMEs บุกตลาดส่งออกใหม่ๆ หรือขยายการส่งออกในตลาดเดิมอย่างมั่นใจ ช่วยกระตุ้นการเติบโตของภาคการส่งออกไทยในปี 2560 ชี้ิภาคการส่งออกของไทยในปีนี้ มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องติดต่อกันเป็นปีที่ 2 เป็นผลจากเศรษฐกิจโลกและราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่เริ่มฟื้นตัว ขณะที่ตลาดใหม่หลายแห่งยังมีศักยภาพและมีความต้องการสินค้าส่งออกจากไทยอยู่มาก

 

 

นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า EXIM BANK เปิดให้บริการใหม่ล่าสุด "สินเชื่อส่งออกพลัส" (EXIM Export Credit Plus) ซึ่งเป็นสินเชื่อที่ให้เงินทุนหมุนเวียนพร้อมประกันการส่งออก เพื่อช่วยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs บุกตลาดส่งออกใหม่ๆ หรือขยายการส่งออกในตลาดเดิมอย่างมั่นใจว่าส่งสินค้าออกไปแล้วได้รับเงินที่แน่นอน

 

โดยผู้ประกอบการส่งออกสามารถยื่นขอสินเชื่อส่งออกพลัสนี้ได้ทั้งในรูปแบบสกุลเงินบาทหรือเงินดอลลาร์สหรัฐ วงเงินสูงสุด 50 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยปีแรก 4.5% ต่อปี และปีที่สองคิดอัตราดอกเบี้ยไพร์มเรทของธนาคาร (6.25% ) ลบ 1% หรือเท่ากับ 5.25% โดยใช้หลักประกันเพียง 25% พร้อมรับกรมธรรม์ประกันการส่งออกชดเชยสูงสุด 90% ของความเสียหายที่เกิดขึ้นกรณีไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าจากผู้ซื้อในต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยปิดความเสี่ยงของผู้ประกอบการ SMEs ที่อาจประสบปัญหาเงินทุนหรือธุรกิจหยุดชะงัก เนื่องจากผู้ซื้อในต่างประเทศไม่ชำระเงินค่าสินค้า

 

"บริการสินเชื่อส่งออกพลัสที่ออกใหม่นี้ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการด้านเงินทุนและการบริหารความเสี่ยงให้แก่ผู้ส่งออก และสนับสนุนให้ SMEs บุกตลาดใหม่ ช่วยกระตุ้นการเติบโตภาคการส่งออกของประเทศไทยในปี 2560 โดยตั้งเป้าปีนี้ 3,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นจำนวนรายลูกค้าประมาณ 600-700 ราย ซึ่งจะช่วยสนับสนุนธุรกรรมการส่งออก ได้ถึง 10,000 ล้านบาท"นายพิศิษฐ์กล่าว

 

 

อย่างไรก็ตาม การยื่นขอสินเชื่อส่งออกพลัส นี้ ผู้ประกอบการจะต้องส่งข้อมูลของผู้ซื้อสินค้าในต่างประเทศมาให้ EXIM BANK วิเคราะห์ถึงความเสี่ยงด้วย ทั้งในตัวประเทศที่จะส่งออกไปและในแง่ตัวบริษัทที่สั่งซืื้อสินค้า เพื่อจะวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ ซึ่งในบางราย หาก EXIM BANK พิจารณาแล้ว บริษัทผู้สั่งซื้่อสินค้ามีเครดิตที่ีไม่ดี หรืออยู่ในประเทศที่ถูกแซงชั่นทางการค้า ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 6 ประเทศ อาทิ เลบานอน อัฟกานิสถาน อิรัก อิหร่าน เวเนซุเอล่า และเกาหลีเหนือ EXIM BANK ก็จะปฎิเสธการรับประกันภัยให้ หรือในบางรายเครดิตทางการเงินของผู้ซื้อในต่างประเทศ เมื่อวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนแล้วมีเครดิตที่ต่ำก็อาจจะจ่ายชดเชยความเสียหายที่ 85% ของมูลค่าความเสียหายที่เิกิดขึ้นจากการไม่ได้รับชำระค่าสินค้า

 

"การให้บริการสินเชื่อส่งออกพลัสของ EXIM BANK เป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการในด้านการปิดความเสี่ยงจากการไม่ได้รับเงินชำระค่าสินค้า โดยหากผู้ประกอบการมาใช้บริการสินเชื่อเพื่อการส่งออกของเรา และยอมให้เราตรวจสอบผู้ซื้อในต่างประเทศว่าเขามีเครดิตทางการเงินเพียงพอที่จะชำระค่าสินค้าในล็อตนั้นๆ เราก็จะแถมบริการรับประกันการส่งออกให้ไปเลยฟรีๆ จากปกติต้องมีการเสียค่าธรรมเนียมในการเช็คข้อมูลประวัติผู้ซื้อในต่างประเทศประมาณ 2,000-3,000 บาท แล้วแต่ประเทศ แต่ถ้าผู้ประกอบการอยากเสี่ยง ไม่อยากให้เรารับประกันส่งออกหรือเข้าไปตรวจเครดิตของผู้ซื้อในต่างประเทศ อ้ัตราดอกเบี้ยก็จะถูกคิดในอัตราที่แพงขึ้น กล่าวคือ อัตราดอกเบี้ยไพร์มเรทของธนาคาร ที่ 6.25% เพราะความเสี่ยงสูงขึ้นจากการที่เราไม่รู้จักผู้ซื้อ หากมีปัญหาสะดุดเกิดขึ้น ผู้ประกอบการไม่ได้รับชำระค่าสินค้า ก็อาจจะกระทบมายังธนาคารที่มีโอกาสไม่ได้ชำระเงินค่าสินเชื่อคืนมาด้วย ฉะนั้นหากใช้สินเชื่ออย่างเดียว โดยไม่มีการเช็คลูกค้าฝั่งโน้น หรือธนาคารเช็คข้อมูลเครดิตแล้วไม่ดี แต่ยังยืนยันจะส่งออกและขอสินเชื่อกับธนคาร ดอกเบี้ยก็จะไม่ใช่อ้ัตราดอกเบี้ยพิเศษที่ลบ 1% หรือเท่ากับ 5.25% แต่จะถูกชาร์จที่ 6.25% ไปเลย"นายพิศิษฐ์ระบุ

 

นายพิศิษฐ์ยังกล่าวเตือนผู้ประกอบการส่งออกด้วยว่า ในปีนี้ผู้ประกอบการส่งออกจะต้องระมัดระวังในเรื่องของค่าเงินด้วยที่มีแนวโน้มจะผันผวนจากความไม่แน่นอนในเรื่องการเคลื่อนย้ายเงินทุนของโลก โดยเฉพาะการเคลื่อนย้ายเงินทุนของประเทศใหญ่ๆ ทางการค้า ที่อาจะทำให้ค่าเงินบาทสวิงค่อนข้างมาก แม้มองแนวโน้มค่าเงินบาทน่าจะอ่อนค่าลงก็ตาม แต่มีแนวโน้มที่จะยังคงผันผวนอยู่

 

 

กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวต่อถึงภาวะการส่งออกของไทยในปีนี้ เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้น โดยเป็นการฟื้นตัวที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีก่อน และยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในปีนี้ ซึ่งเป็นผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะตลาดใหม่และราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ ในขณะที่ตลาดหลักอย่างยุโรป จีน และญี่ปุ่น ยังคงชะลอตัว ส่วนตลาดสหรัฐอเมริกามีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น แต่ยังต้องจับตาความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมืองภายใน ฉะนั้นหากมองถึงทิศทางการส่งออกของโลกแล้ว โอกาสของผู้ส่งออกไทยโดยเฉพาะ SMEs ยังมีอยู่ หากได้รับการสนับสนุนทางการเงินและเครื่องมือบริหารความเสี่ยงทางการค้า ระหว่างประเทศ

 

ทั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) ระบุว่า ในปี 2558 SMEs มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย ช่วยสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(GDP) ของไทยได้มากถึง 41% หรือ 5.6 ล้านล้านบาท สร้างมูลค่าส่งออกได้มากถึง 27% ของมูลค่าส่งออกรวมของไทย หรือประมาณ 2 ล้านล้านบาท และก่อให้เกิดการจ้างงานได้มากถึง 80% ของการจ้างงานรวม หรือประมาณ 10.8 ล้านคน

 

นายพิศิษฐ์กล่าวต่อไปว่า สำหรับแนวโน้มการเคลมประกันการส่งออกทั่วโลก ขณะนี้มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2558 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 28% ขณะที่แนวโน้มการเคลมประกันการส่งออกในส่วนของ EXIM BANK เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยย้อนหลัง 3 ปี เพิ่มขึ้น 20% จึงเป็นทิศทางที่ดีที่ผู้ประกอบการส่งออกโดยเฉพาะ EXIM BANK เริ่มมีความตระหนักถึงความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศโดยเฉพาะการชำระค่า ซื้อสินค้าจากผู้ซื้อในต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยปิดความเสี่ยงของการไม่ได้รับเงินค่าชำระสินค้าถึง 90% ของความเสียหายที่เกิดขึ้น ที่ผ่านมา EXIM BANK จึงพัฒนาบริการรับประกันการส่งออกมาอย่างต่อเนื่อง จนมาถึงบริการล่าสุด "สินเชื่อส่งออกพลัส" ที่ให้ทั้งเงินทุนหมุนเวียนแถมรับประกันการส่งออกให้ฟรีด้วย

 

"ที่ผ่านมา EXIM BANK ใช้จุดแข็งและบริการที่แตกต่างของธนาคารในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ส่งออก โดยเฉพาะ SMEs ที่เป็นฟันเพื่องขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างไม่สะดุด เติบโตอย่างมั่นคง และแข่งขันได้ในระยะยาว นำไปสู่การเติบโตของภาคการส่งออกและการพัฒนาประเทศของไทย ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางกาค้าและการเมืองของโลก"กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวปิดท้าย

 

 


 

 

 


บันทึกโดย : วันที่ : 23 ก.พ. 2560 เวลา : 11:49:09
24-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 24, 2024, 6:32 am