เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
พาณิชย์ดึง บสย.กระตุ้นใช้ "พ.ร.บ.หลักประกันธุรกิจ"


แม้รัฐบาลจะพยายามช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุนให้ได้ง่ายขึ้นเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง โดยเฉพาะการออก พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ เพิ่มหลักทรัพย์ที่ใช้ในการค้ำประกัน ตั้งแต่เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2559 ที่ผ่านมา แต่การเข้าถึงแหล่งทุนของเอสเอ็มอีก็ยังมีอุปสรรค

 

 

โดย นางอภิรดี ตันตราภรณ์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลและบังคับใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ.2558 เร่งดำเนินการหารือ 3 ฝ่าย ระหว่างกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง และสมาคมธนาคารไทย   เพื่อกำหนดมาตรการให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้โดยตรง และมีการใช้หลักทรัพย์ชนิดใหม่ตามกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจมีประสิทธิภาพมากขึ้น
         

 

 

โดยได้เชิญ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บสย.เข้ามาช่วยเสริมทัพหลักประกันทางธุรกิจ ให้บสย.เป็นผู้ค้ำประกันสินเชื่อให้เอสเอ็มอี เพื่อง่ายต่อการเข้าถึงแหล่งเงินกู้สถาบันการเงิน ซึ่งขณะนี้ได้หารือถึงความเป็นไปได้ในรูปแบบการค้ำประกัน และปัจจุบันกรมได้จัดระบบการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจให้มีความสะดวก รวดเร็ว แบบ เรียลไทม์ สามารถยื่นขอจดทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ รวมถึงกำลังพัฒนาระบบให้สามารถรับชำระเงินค่าธรรมเนียมผ่านระบบอีเพย์ เมนต์ด้วย คาดว่าจะเปิดบริการในเดือนพฤษภาคมนี้
         
นางอภิรดีกล่าวว่า  ข้อมูลเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา มีเอสเอ็มอียื่นคำขอจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ รวม 118,887 คำขอ  มูลค่าทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกัน 1,688,534 ล้านบาท โดยบัญชีเงินฝากธนาคารใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันมากที่สุด คิดเป็น 57.61% มูลค่า 972,776 ล้านบาท รองลงมา คือ อสังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ เช่น สินค้าคงคลัง วัตถุดิบ เครื่องจักร รถยนต์ เรือ เครื่องบิน คิดเป็น 21.66% มูลค่า 365,741 ล้านบาท และสิทธิเรียกร้องประเภทอื่นๆ เช่น ลูกหนี้การค้า สัญญาจ้าง สัญญา ซื้อขาย สัญญาเช่าซื้อ คิดเป็น 17.12% มูลค่า 289,157 ล้านบาท

ขณะที่ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ธนาคารทหารไทย ระบุว่า แม้ภาครัฐจะออก พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ มาร่วม 7-8 เดือนแล้ว แต่กฎหมายนี้ยังไม่ได้ช่วยให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในหลักประกันใหม่ ขณะเดียวกันธนาคารพาณิชย์เองก็พิจารณาปล่อยกู้จากหลักทรัพย์ชนิดใหม่น้อย รวมถึงขั้นตอนการนำสินทรัพย์เข้าไปจดทะเบียน หลักประกันทางธุรกิจกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ยังมีความล่าช้าและไม่สะดวกเพียงพอ
         

 

นายสยาม ประสิทธิศิริกุล ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า การผลักดันการใช้ พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ ให้ประสบความสำเร็จอาจต้องใช้เวลาอีกพอสมควร และยอมรับว่าธนาคารยังปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าที่ใช้หลักทรัพย์ใหม่ๆ ตาม พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจไม่มาก เนื่องจากขาดความชัดเจนของข้อมูล และการตีมูลค่าของหลักทรัพย์มาประกอบพิจารณาการปล่อยสินเชื่อ  


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 01 มี.ค. 2560 เวลา : 13:41:40
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 1:57 am