เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ปลัดพาณิชย์ กระตุ้นผู้ส่งออกเนื้อสัตว์ทำหน้าที่ครัวโลก


นางสาววิบูลย์ลักษณ์   ร่วมรักษ์   ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า  ในขณะนี้มีข่าวไปทั่วโลกว่า ประเทศผู้นำเข้าสินค้าไก่รายใหญ่ ได้แก่ สหภาพยุโรป เกาหลีใต้ จีน และชิลี ได้ ออกมาตรการระงับการนำเข้าเนื้อสัตว์ รวมทั้ง สินค้าไก่ จากบราซิลเป็นการชั่วคราว หลังจากตรวจพบปัญหาการใช้วัตถุดิบที่มีปัญหาใน  การผลิตเนื้อสัตว์ส่งออก และมีการติดสินบนเจ้าหน้าที่ตรวจสุขอนามัยสินค้าก่อนการส่งออก ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างการส่งออกสินค้าเนื้อสัตว์ในตลาดโลกอย่างแน่นอน


เนื่องจากบราซิลเป็นประเทศผู้ส่งออกเนื้อสัตว์รายใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก (ในปี 2559 บราซิลมีการส่งออกสินค้าเนื้อสัตว์มากเป็นลำดับที่ 2 รองจากสหรัฐอเมริกา)  และจากเหตุการณ์ดังกล่าว คาดว่าผู้นำเข้าจะต้องเร่งหาตลาดใหม่มาทดแทนการนำเข้าสินค้าจากบราซิล   เพื่อป้องกันภาวะการขาดแคลนสินค้า จึงนับเป็นโอกาสอันดีของไทย ที่จะทวงคืนส่วนแบ่งในตลาดส่งออกเนื้อสัตว์บางส่วนจากคู่แข่งหลักอย่างบราซิล   เพื่อเติมเต็มความต้องการ   ของตลาดที่ขาดหายไป

ปัจจุบัน สินค้าเนื้อสัตว์ของไทยที่มีศักยภาพการส่งออก ได้แก่ ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และไก่แปรรูป โดยในปี 2559 มีมูลค่าการส่งออก 2,547 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเป็นสินค้าส่งออกอันดับที่ 4 ในกลุ่มสินค้าอาหารส่งออก รองจาก อาหารทะเล ข้าว และผักผลไม้ ในขณะที่สินค้าเนื้อสัตว์ประเภทอื่นยังมีการส่งออกไม่มากนัก   โดยหลังจากไม่พบการเกิดไข้หวัดนกในไทยตั้งแต่ปลายปี 2551 สินค้าเนื้อไก่จากไทย  ก็เริ่มเป็นที่ต้องการของตลาดโลกมากขึ้นและมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ประเทศคู่แข่งหลายรายยังคงประสบปัญหาการระบาดของไข้หวัดนก ส่งผลให้ประเทศคู่ค้าต่าง ๆ ทยอยยกเลิกมาตรการห้ามนำเข้าสัตว์ปีกสดจากไทย เช่น สหภาพยุโรป เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สิงคโปร์

อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มประเทศที่มีการประกาศระงับนำเข้าเนื้อสัตว์จากบราซิล ไทยสามารถส่งออกสินค้าไก่สดไปได้เพียงบางตลาดเท่านั้น คือ สหภาพยุโรป เกาหลีใต้ และฮ่องกง สาหรับตลาดชิลีและจีนยังคงต้องมีการเจรจาเพื่อขอเปิดตลาดนำเข้าต่อไป

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า  เป็นโอกาสอันดีของไทยที่จะทำหน้าที่เป็น “ครัวโลก” อย่างเต็มที่ โดยผู้ส่งออกของไทยต้องเร่งหาตลาดและกลุ่มลูกค้า   รวมถึงเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับคำสั่งซื้อและความต้องการของตลาดต่างประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น  ทั้งในส่วนของการเพิ่มกำลังการผลิตและความสามารถในการป้อนสินค้าออกสู่ตลาดต่างประเทศได้ทันต่อความต้องการของตลาดปลายทาง   และควรเพิ่มความเข้มงวดด้านสุขอนามัยตลอดห่วงโซ่การผลิตสินค้า เพื่อให้ได้สินค้าที่มีมาตรฐานสากลตามที่ตลาดต้องการ

โดยในระยะยาว ผู้ประกอบการควรเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มและความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ให้มากขึ้น เพื่อหลีกหนีการแข่งขันด้านราคาจากคู่แข่ง ควบคู่กับสร้างความเชื่อมั่นในเรื่องความปลอดภัย  ในการบริโภคเนื้อสัตว์ของไทยอย่างต่อเนื่อง เฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกอย่างเข้มงวด  และส่งเสริมการขับเคลื่อนแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดีในภาคการผลิต
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 24 มี.ค. 2560 เวลา : 22:12:32
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 4:34 pm