หุ้นทอง
TPIPP ย้ำความเชื่อมั่นคาดเซ็นสัญญาขายไฟฟ้าโรงใหม่ให้กฟผ.ได้ทันกำหนด


TPIPP ผู้ประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ (RDF) และโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้งที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย   รวมถึงธุรกิจสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติ (NGV) ตอกย้ำความเชื่อมั่นนักลงทุน ชูศักยภาพการบริหารธุรกิจโรงไฟฟ้าและผลการดำเนินงานย้อนหลังปี 2557-2559 เติบโตแข็งแกร่งทั้งกำไรสุทธิและรายได้ รวมถึงให้อัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้นสูง 21%

 

ขณะที่โรงไฟฟ้าใหม่ 3 โรงที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ 70 MW คาดจะเซ็นสัญญาขายไฟฟ้าให้ กฟผ. ได้ทันกำหนด 7 ก.ย.นี้ ขณะที่โรงไฟฟ้าถ่านหิน-โรงไฟฟ้าถ่านหินและพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ หากแล้วเสร็จจะขายไฟฟ้าให้แก่ บมจ.ทีพีไอ โพลีน ซึ่งเป็นบริษัทแม่ พร้อมย้ำคาดว่าทั้ง 3 โรง เริ่ม COD ได้ภายในไตรมาส 4 ปีนี้ หนุนการเติบโต


 
 
นายวรวิทย์  เลิศบุษศราคาม  รองผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายโรงงาน บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP เปิดเผยว่า บริษัทฯ มีความมั่นใจในศักยภาพการบริหารธุรกิจโรงไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพและโอกาสการเติบโตที่แข็งแกร่งในอนาคต โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีก 3 โรงที่จังหวัดสระบุรี คาดว่าจะแล้วเสร็จและเริ่ม COD ได้ทั้งหมดภายในไตรมาส 4 ปีนี้  ซึ่งจะมีกำลังการผลิตติดตั้งรวมเพิ่มขึ้นอีก 290 MW รวมเป็น 440 MW ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ 70 MW  ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จจะส่งผลดีต่อผลการดำเนินงานที่มีโอกาสเติบโตก้าวกระโดด
 
เนื่องจากจะนำกำลังการผลิตติดตั้งไปรวมกับโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้ง 30 MW ที่มีอยู่เดิม เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ 100 MW เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ. จำนวน   90 MW โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างขออนุมัติรายงาน EIA ซึ่งเชื่อมั่นว่าบริษัทฯ จะลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ.ได้ทันกำหนดภายในวันที่ 7 กันยายน 2560 โดยจะได้รับส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ที่ 3.50 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง เพิ่มเติมจากค่าไฟฟ้าพื้นฐาน เป็นระยะเวลา 7 ปีนับจากวันที่เริ่มซื้อขายไฟฟ้า

ขณะเดียวกัน บริษัทฯ อยู่ระหว่างก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน 150 MW และก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินและพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ 70 MW ซึ่งได้ทำสัญญาจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ บมจ.ทีพีไอ โพลีน ที่เป็นบริษัทแม่ของ TPIPP เพื่อนำไปใช้ในกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ อย่างไรก็ตาม สำหรับโรงไฟฟ้าโรงไฟฟ้าถ่านหินและพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ 70 MW ถูกออกแบบให้สามารถผลิตไฟฟ้าสำรองแก่โรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะโรงอื่นๆ ได้ในกรณีที่ต้องหยุดผลิตกระแสไฟฟ้า เพื่อให้บริษัทฯ ยังคงผลิตไฟฟ้าจำหน่ายให้แก่ กฟผ. และไม่ส่งผลกระทบต่อการได้รับส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder)

ทั้งนี้ ถ้าเปรียบเทียบค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ (RDF) ถือว่ามีต้นทุนต่ำกว่าโรงไฟฟ้าจากขยะทั่วไป โดยโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ 70 MW ของบริษัทฯ ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ใช้เงินลงทุนประมาณ 3,300 ล้านบาท หรือเฉลี่ย MW ละ 47.14 ล้านบาท ต่ำกว่าโรงไฟฟ้าจากขยะทั่วไปที่ใช้เงินลงทุนค่าก่อสร้างประมาณ 100 ล้านบาทต่อ MW

 “เราขอให้ความเชื่อมั่นกับนักลงทุน เนื่องจากบริษัทฯ เป็นผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและยังเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจทางด้านนี้ จึงมีประสบการณ์สามารถบริหารโรงไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังสามารถพัฒนาเทคโนโลยีในการคัดแยกขยะได้เอง จึงส่งผลให้บริษัทฯ สามารถผลิตเชื้อเพลิง RDF ที่นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าที่สามารถให้ค่าความร้อนถึง 4,200 kcal/kg ซึ่งจะส่งผลดีต่อประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าและอัตรากำไรขั้นต้นที่ดี ดังนั้น จึงอยากให้นักลงทุนเชื่อมั่นในศักยภาพการบริหารธุรกิจของเรา” นายวรวิทย์ กล่าว

นายภัคพล  เลี่ยวไพรัตน์  รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบัญชีและการเงิน TPIPP กล่าวว่า ผลการดำเนินงานของ TPIPP ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2557-2559) เติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง โดยมีกำไรสุทธิ 379.07 ล้านบาท 493.36 ล้านบาท และ 1,824.25 ล้านบาทตามลำดับ ขณะที่รายได้รวมอยู่ที่ 2,152.49 ล้านบาท 2,794.83 ล้านบาท และ 4,433.32 ล้านบาทตามลำดับ นอกจากนี้ ยังให้อัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) 21% ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่ดีและสะท้อนถึงการเติบโตที่มั่นคงอย่างต่อเนื่องและความสามารถบริหารจัดการโรงไฟฟ้าที่ดีตลอดจนการควบคุมต้นทุนในกระบวนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
               
ทั้งนี้ หากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าอีก 3 โรงแล้วเสร็จและเริ่ม COD ได้ภายในไตรมาส 4 ปีนี้ตามที่คาดไว้ บริษัทฯ จะสามารถรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าใหม่ทันที ซึ่งจะส่งผลดีต่อแนวโน้มผลการดำเนินงานของ TPIPP ตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 4 นี้เป็นต้นไป รวมถึงจะส่งผลดีต่อการเติบโตที่มั่นคงในอนาคต  

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 27 มี.ค. 2560 เวลา : 16:04:43
27-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 27, 2024, 8:47 am