เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
จับตา "หนี้ NPL" ไตรมาส 2 กดดันแบงก์พาณิชย์


ตัวเลขหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ได้สร้างแรงกดดันต่อธนาคารพาณิชย์อย่างมากในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา โดยสะท้อนจากการเทขายหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์หลังมีการประกาศผลประกอบการ

 

แต่ตัวเลขดังกล่าว นายวิรไท  สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เชื่อว่า แนวโน้มสัดส่วนหนี้ NPL ต่อสินเชื่อรวมของระบบธนาคารพาณิชย์จะเพิ่มหรือลด น่าจะอยู่ที่ว่าอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมใด  เพราะข้อมูลที่ออกมาในเดือน มี.ค.2560 หรือไตรมาสแรกปีนี้  แม้เอ็นพีแอลจะเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ก็ไม่ต่างจากที่ ธปท.เคยประเมิน จึงไม่มีประเด็นที่น่ากังวล รวมทั้งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นจะมีผลดีต่อNPLให้ลดลงนั้น แต่น่าจะใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง

 

ขณะที่ นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย (TMB) ยอมรับว่า แนวโน้มไตรมาส 2/60 หนี้NPL น่าจะยังเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1/60 จากภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงชะลอตัว  แต่ธนาคารจะพยายามควบคุม NPL ในปีนี้ให้อยู่ในระดับ 2.5% และธนาคารยังคงตั้งสำรองในระดับสูง หรือที่ 2,241 ล้านบาท เพื่อทำให้อัตราส่วนสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) เฉลี่ยทั้งปีนี้ อยู่ที่ 140-150% จากสิ้นเดือน มี.ค.60 ที่อยู่ในระดับ 144%

 

ด้าน นายผยง  ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย หรือ KTB  ก็ระบุว่าหนี้ NPL ของธนาคารในไตรมาส 2/60 ยังเพิ่มต่อเนื่อง จากกลุ่มโรงสีข้าว เป็นหลัก ซึ่งเป็น NPL สูงถึง 7,000 ล้านบาท เนื่องจากลูกค้าไม่ระบายสินค้าออกมาสู่ตลาด ทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ให้กับธนาคารได้ ซึ่งขณะนี้ธนาคารได้ให้สินเชื่อกับผู้ส่งออกเพื่อมาซื้อข้าวของลูกค้ากลุ่มดังกล่าว พร้อมการเร่งเจรจาและปรับโครงสร้างกับลูกหนี้  ซึ่งยังต้องใช้เวลา

แต่ขณะเดียวกันธนาคารก็กำลังศึกษาแนวทางการขายหนี้ออกไปเหมือนกับธนาคารพาณิชย์แห่งอื่นเพื่อลด NPL แต่ธนาคารในฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจจึงต้องรอบคอบเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาหรือข้อผิดพลาด เนื่องจากมีกฎระเบียบ ข้อบังคับ เช่น การขายหนี้ออกไปราคาต้อง ไม่ต่ำกว่าหลักประกัน

ส่วนนโยบายการตั้งสำรองนั้น ยังต้องอยู่ในระดับสูงต่อไป เพื่อรองรับความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจ และ รักษาอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ( coverate ratio) ปีนี้ให้อยู่ในระดับ 120% จากปัจจุบันอยู่ที่ 112%

ทั้งนี้ ธปท.ได้รายงาน NPLไตรมาสแรกปีนี้ว่า  NPLก่อนกันสำรอง (Gross NPL) อยู่ที่ 4.05 แสนล้านบาท หรือ 2.95% ของสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า 1.87 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 4.85% ส่วนเอ็นพีแอลสุทธิที่หักกันสำรองแล้ว (Net NPL) 1.87 แสนล้านบาท หรือ 1.38% ของสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า 8,852 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 4.97% โดยในจำนวนนี้เป็นเอ็นพีแอลของธนาคารพาณิชย์ในประเทศ 4 แสนล้านบาท หรือ 3.1% ของสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า 1.91 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 5.03%


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 03 พ.ค. 2560 เวลา : 13:56:33
24-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 24, 2024, 5:48 pm