เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
สหรัฐฯคงสถานะ PWL ไทย 10 ปีซ้อน


ในที่สุดสหรัฐฯก็ประกาศผลการจัดสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศคู่ค้า ตามกฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ ประจำปี 2559  โดยสหรัฐฯยังคงจัดให้ไทยเป็นประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ (Priority Watch List PWL) หลังจากที่อยู่บัญชี PWLมาตั้งแต่ปี 2550 แต่ได้ระบุในรายงานว่า พร้อมที่จะทบทวนสถานะของไทยให้ดีขึ้นในปีนี้ หากไทยมีความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯ

 

โดย นางอภิรดี ตันตราภรณ์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า แม้ไทยจะคงอยู่ในสถานะเดิม แต่เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นว่า มีความแตกต่างจากช่วงหลายปีที่ผ่านมา  โดยรายงานปีนี้ สหรัฐฯตระหนักถึงเจตจำนงที่แน่วแน่ในระดับนโยบายของไทย โดยเฉพาะกรณีที่นายกรัฐมนตรีได้กล่าวต่อสาธารณชนถึงความสำคัญของการคุ้มครอง และป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาบ่อยครั้ง ตลอดจนมีการกำหนดโรดแม็ปทรัพย์สินทางปัญญาระยะ 20 ปี  ที่รวมถึงเรื่องการปราบปรามการละเมิด การบูรณาการระหว่างหน่วยงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมุ่งเน้นเป้าหมายการสืบสวนจับกุมผู้กระทำความผิดมากขึ้น

 

ส่วนข้อกังวลของสหรัฐฯ เช่น ปัญหาการละเมิดทั้งในท้องตลาดและการละเมิดออนไลน์ และปัญหางานค้างการจดทะเบียนสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้า  โดยเห็นว่า ไทยได้ดำเนินการในทิศทางที่เหมาะสมแล้ว โดยเฉพาะการเพิ่มจำนวนผู้ตรวจสอบของกรมทรัพย์สินทางปัญญา แต่บางเรื่องต้องทำความเข้าใจเพิ่มเติมกับสหรัฐฯ เช่น กฎหมายลิขสิทธิ์ประเด็นการคุ้มครองมาตรการทางเทคโนโลยี  การคุ้มครองข้อมูลการบริหารสิทธิ และการป้องกันการแอบถ่ายภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์นั้น สหรัฐฯมองว่าการบังคับใช้กฎหมายของไทยไม่มีประสิทธิภาพ ไม่จริงจัง ทำให้ยังมีการละเมิดอยู่มาก ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาเคยเปิดรับฟังความคิดเห็นแล้ว แต่ไม่มีเจ้าของลิขสิทธิ์รายใดเสนอข้อมูลว่ามีปัญหาอุปสรรคแต่อย่างใด

นอกจากนี้ สหรัฐฯยังมีความกังวลกรณีร่างกฎหมายความปลอดภัยทางไซเบอร์ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่เข้าถึงข้อมูลการติดต่อสื่อสารของภาคเอกชน กรณีการให้ความคุ้มครองข้อมูลผลการทดสอบยาและเคมีภัณฑ์เกษตร ที่สหรัฐฯ และกรณีกำหนดมาตรการด้านสาธารณสุขที่สหรัฐฯ เน้นย้ำว่าควรมีกระบวนการที่โปร่งใสและเปิดโอกาสให้เจ้าของลิขสิทธิ์มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น ในการนี้กระทรวงพาณิชย์จะรายงานผลการจัดสถานะต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อทราบด้วย อย่างไรก็ตาม ไทยจะยังคงเดินหน้าปราบปรามการละเมิดอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เพื่อให้หลุดจากบัญชี PWL อย่างเดียว แต่เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับต่างชาติ ซึ่งจะส่งผลต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนด้วย

 

ด้านมุมมองภาคเอกชนในเรื่องดังกล่าว  นายบัณฑูร วงศ์สีลโซติ รองประธานคณะกรรมการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การที่ไทยยังติดอยู่ในบัญชี PWL เป็นปีที่ 10 แสดงให้เห็นว่า สหรัฐฯ ยังไม่พอใจกับการแก้ไขปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของไทย และเรื่องดังกล่าวเป็น 1 ในประเด็นที่สหรัฐฯ จะนำไปตรวจสอบสาเหตุการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ ที่มีต่อไทยใน 90 วัน โดยขณะนี้ผ่านมากว่า 30 วันแล้ว และอีกประมาณ 60 วันจะทราบผล ซึ่งตนมีความกังวลถึงความเสี่ยงที่สหรัฐฯ จะตอบโต้การค้าไทยโดยใช้มาตรการอย่างใดอย่างหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ในการเตรียมตัวเจรจากับสหรัฐฯ ในกรณีขาดดุลการค้าไทย เพื่อลดแรงกดดันและให้สถานการณ์คลี่คลายไปในทางที่ดี ตนมองว่า ไทยต้องลดมาตรการกีดกันสินค้าสหรัฐฯ เช่น ถั่วเหลือง, ฝ้าย, ผลิตภัณฑ์นม, ข้าวโพด, มันฝรั่ง, หัวหอม เป็นต้น

 

นายสมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ กล่าวว่า การที่ไทยยังติดอยู่ในบัญชี PWL ต่อเนื่องเป็นปีที่ 10 ในสมัย นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ นั้น นับได้ว่าเป็นความเสี่ยงต่อการเจรจาต่อรองการค้า หรือเจรจาเรื่องต่าง ๆ กับสหรัฐฯ อย่างสูง เพราะประธานาธิบดีทรัมป์เป็นผู้คาดเดาได้ยาก ดังนั้นหน่วยงานภาครัฐและเอกชนต้องทำการบ้านให้มากขึ้น


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 03 พ.ค. 2560 เวลา : 14:15:32
16-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 16, 2024, 4:55 pm