แบงก์-นอนแบงก์
กสิกรไทย พลิกโฉมโมบาย แบงกิ้ง ลุยเจาะลูกค้ารายย่อยและเอสเอ็มอี


กสิกรไทยพลิกโฉมโมบาย แบงกิ้ง ด้วยแนวคิด “เปลี่ยนให้ทุกเรื่องง่ายขึ้น” เน้นพัฒนาฟีเจอร์ทำธุรกรรมทางการเงินล้ำยุค ให้พร้อมจบได้ด้วยตัวเองบนสมาร์ทโฟน ลุยเจาะกลุ่มลูกค้ารายย่อยและลูกค้าเอสเอ็มอี เปลี่ยนชื่อและโลโก้ของแอพพลิเคชั่นธนาคารบนมือถืออันดับ 1 K-Mobile Banking PLUS เป็น K PLUS พร้อมเปิดตัว  K PLUS SME ครั้งแรกของแอพพลิเคชั่นสำหรับลูกค้าเอสเอ็มอีโดยเฉพาะ ตั้งเป้าสิ้นปีลูกค้า 7 ล้านราย

 
นายพัชร  สมะลาภา  รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มลูกค้าที่หันมาใช้บริการโมบาย แบงกิ้งมากขึ้น และจะเป็นช่องทางทำธุรกรรมทางการเงินอันดับหนึ่ง โดยมีจำนวนบัญชีผู้ใช้ทั้งระบบธนาคารพาณิชย์ของไทยในปี 2559  เติบโตขึ้น 50% สอดคล้องกับเทรนด์ไลฟ์สไตล์ “ดิจิทัล โมบิลิตี้” (Digital Mobility) ของคนในปัจุบันที่ไม่อยู่นิ่ง ต้องการความสะดวกและจัดการทุกสิ่งได้ด้วยตัวเองผ่านสมาร์ทโฟน ประกอบกับพฤติกรรมของลูกค้าที่เปิดรับการใช้งานและพบว่ารายการใช้งานต่าง ๆ สามารถช่วยบริหารจัดการการเงินให้สะดวกและง่ายมากขึ้น
 
ธนาคารกสิกรไทยยังคงตั้งเป้ารักษาความเป็นผู้นำอันดับ 1 ด้านดิจิทัล แบงกิ้งอย่างต่อเนื่อง จึงเร่งพัฒนานวัตกรรมบริการด้านดิจิทัลให้เต็มรูปแบบมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะโมบาย แบงกิ้ง ที่ได้ก้าวมาเป็นช่องทางอันดับ 1 ในการทำธุรกรรมการเงินของลูกค้าจะเน้นสร้างประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้แก่ผู้บริโภค ด้วยการพัฒนาฟีเจอร์ภายใต้แนวคิด “เปลี่ยนให้ทุกเรื่องง่ายขึ้น” ทำให้ลูกค้าปรับเปลี่ยนการใช้งานได้ง่ายตามความต้องการ ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้าจบทุกความต้องการด้านการเงินได้บนสมาร์ทโฟนเครื่องเดียว และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การมีมาตรการในการรักษาความปลอดภัยทางข้อมูลขั้นสูง

ล่าสุด ธนาคารกสิกรไทยได้รีแบรนดิ้งแอพพลิเคชั่นธนาคารบนมือถืออันดับ 1 โดยเปลี่ยนชื่อและโลโก้ของ K-Mobile Banking PLUS ใหม่ให้ง่ายต่อการจดจำเป็น K PLUS ซึ่งปัจจุบัน ในไตรมาส 1 ปี 2560 มียอดผู้ใช้แล้วกว่า 5 ล้านคน เติบโตขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 65% และเป็นผู้ใช้งานอย่างสม่ำเสมอถึง 80% โดยมีจำนวนการทำธุรกรรมในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้น 102% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ของปีก่อน

นอกจากความง่ายในการใช้งานแอพฯ แล้ว ยังเพิ่มความสะดวกที่ทำให้ลูกค้าสามารถทำธุรกรรมการเงินได้ทุกที่ ทุกเวลา เช่น การขอออกบัตรเดบิตผ่าน K PLUS แล้วรอรับบัตรได้เลยที่บ้าน หรือซื้อประกันเดินทางระหว่างประเทศได้ ทั้งนี้ ธนาคารมีแผนเพิ่มลักษณะการใช้งานที่ให้ลูกค้าสามารถทำธุรกรรมได้โดยไม่ต้องไปที่สาขา เช่น การเปิดบัญชีกองทุน ซื้อขายสับเปลี่ยนกองทุน อายัดบัตรเครดิต โอนเงินต่างประเทศ การขอรายการเดินบัญชีย้อนหลัง 2 ปีได้ทันที ซึ่งคาดว่ารายการใช้งานเหล่านี้จะทำให้มีผู้ใช้งานธนาคารบนมือถือเพิ่มขึ้นเป็น 7 ล้านคนในสิ้นปีนี้
 
สำหรับกลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการ หรือเอสเอ็มอี  ธนาคารได้เปิดตัวแอพพลิเคชั่นบนมือถือ K PLUS SME เป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าเอสเอ็มอีอย่างแท้จริง เนื่องจากในปัจจุบันปัญหาของผู้ประกอบการส่วนใหญ่ คือ มีความต้องการตรวจสอบยอดเงินเข้าออกบัญชีเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นเงินที่เข้ามาจากการโอนเงินหรือการรับจ่ายเช็ค โดยเฉพาะเรื่องเช็คคืนเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการให้ความใส่ใจเป็นพิเศษเพราะต้องการรักษาเครดิตกับคู่ค้า ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีแอพพลิเคชั่นไหนที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการดังกล่าวได้  
           
ธนาคารจึงได้พัฒนาช่องทางการทำธุรกรรมผ่านแอพพลิเคชั่นสำหรับธุรกิจที่สามารถใช้ได้ทั้งบัญชีบุคคลธรรมดา บัญชีร่วม  และบัญชีนิติบุคคล อีกทั้งยังสามารถเพิ่มบัญชีได้สูงสุดถึง 25 บัญชี ทำให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงข้อมูลและบริหารจัดการธุรกิจได้ด้วยตนเองอย่างสะดวก รวดเร็ว  มีฟีเจอร์สำคัญที่แตกต่างจากแอพพลิเคชั่นอื่น ๆในตลาด ทั้งยังช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถบริหารสถานะเช็คทั้งขารับและขาจ่าย พร้อมการแจ้งเตือนในกรณีที่เช็คมีปัญหา มีรายงานสินเชื่อที่จะรวบรวมข้อมูลรายงานสินเชื่อทุกประเภท ทั้งโอดี ตั๋วสัญญาใช้เงิน เงินกู้ หรือหนังสือค้ำประกัน รวมถึงสามารถดูการเคลื่อนไหวบัญชีแบบเรียลไทม์เพื่อช่วยให้ชีวิตธุรกิจง่ายขึ้นอย่างแท้จริง
 
 
 
นายพัชร กล่าวในตอนท้ายว่า ธนาคารมุ่งผลักดันให้มีการใช้ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น โดยได้แต่งตั้งเจ้าหน้าที่แนะนำบริการด้านดิจิทัล หรือ Digital Service Officer (DSO) เพื่อประจำในสาขาทั่วประเทศ ทำหน้าที่ในการให้คำแนะนำการใช้ผลิตภัณฑ์และบริการด้านดิจิทัลของธนาคารให้กับลูกค้า ในขณะที่บทบาทของสาขาที่มีอยู่ประมาณ 1,100 สาขา จะเน้นการให้บริการการเงินส่วนบุคคลหรือสำหรับธุรกิจ โดยจะนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้กับลูกค้า เช่น e-Application เพื่อให้ลูกค้าสมัครใช้บริการและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้เร็วขึ้น ลดเวลาการกรอกเอกสาร และลดการเก็บเอกสารของธนาคาร เป็นต้น
 

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 08 พ.ค. 2560 เวลา : 21:04:07
23-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 23, 2024, 2:33 pm