แบงก์-นอนแบงก์
"คลีนิคแก้หนี้" หวังช่วยสร้างวินัย-ลดภาระรายย่อย


การแก้ปัญหาเรื่องหนี้สินให้กับรายย่อยที่เป็นลูกหนี้สถาบันการเงิน เป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำได้ง่ายดาย  ซึ่งในที่สุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)  จึงได้หารือกับธนาคารพาณิชย์  โดยมีข้อสรุปร่วมกัน  ในการตั้ง"คลินิกแก้หนี้" เคลียร์ปัญหาหนี้ไร้หลักประกันที่มีเจ้าหนี้หลายราย  หลังพบสถานการณ์หนี้ครัวเรือนรุนแรงขึ้น  

ล่าสุด ธปท. ได้ลงนามความร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ 16 แห่ง และ บริษัทบริหาร สินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) หรือ แซม ทำโครงการแก้ไขปัญหาหนี้ส่วนบุคคล ที่ไม่มีหลักประกันหรือคลินิกแก้หนี้  โดยให้แซม เป็นตัวกลางในการช่วยแก้ปัญหาให้กับลูกหนี้ที่มี เจ้าหนี้หลายราย ซึ่งจะมีส่วนในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนของประเทศ โดยเริ่มวันที่ 1 มิ.ย.นี้
         
สำหรับธนาคารที่เข้าร่วมโครงการ ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ กรุงไทย กรุงศรีอยุธยา กสิกรไทย เกียรตินาคิน ซิตี้แบงก์ สาขากรุงเทพฯ ซีไอเอ็มบีไทย ทหารไทย ทิสโก้ ไทยเครดิตเพื่อรายย่อย ไทยพาณิชย์ ธนชาต ยูโอบี ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ธนาคารแห่งประเทศจีน(ไทย) และธนาคารไอซีบีซี (ไทย)
         
 
 
 
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธปท. กล่าวว่า  โครงการคลินิกแก้หนี้ เป็นเหมือนโครงสร้างพื้นฐาน ที่ช่วยแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนที่รุนแรงขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา  แม้ว่าจากข้อมูลล่าสุดหนี้ภาคครัวเรือนได้ปรับลดลงบ้าง จากระดับ 81.2%ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ในปี 2558 มาอยู่ที่ ระดับ 79.9% ในสิ้นปี 2559 แม้จะหักเงินกู้ไปประกอบธุรกิจที่มีอยู่ 20% ออก ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับสูง
          
นอกจากนี้ยังมีหลายประเด็นที่น่ากังวล ซึ่งจากผลศึกษาของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ้งภากรณ์ และบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติพบว่า คนไทยเริ่มเป็นหนี้เร็วขึ้น และเป็นหนี้เสียตั้งแต่อายุยังน้อย โดยครึ่งหนึ่งของคนอายุประมาณ 30 ปี มีหนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้สินเชื่ออุปโภคบริโภค หรือ personal loan หนี้บัตรเครดิต
          
ขณะที่คนไทยที่มีหนี้เสียหรือ มีหนี้ค้างชำระมากกว่า 90 วัน พบว่าเป็น กลุ่มที่ลูกหนี้ที่อยู่ช่วงอายุ 29-30 ปี มีอัตราส่วนถึง 1 ใน 5 ซึ่งส่วนนี้ยังไม่ได้ นับรวมหนี้นอกระบบ หนี้สหกรณ์ ออมทรัพย์ หนี้กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา  (กยศ.) ซึ่งมีอัตราการผิดนัดชำระหนี้สูงเช่นกัน
 
โดยพบว่าค่ากลาง ของหนี้ต่อหัวได้เพิ่มขึ้น จาก 7 หมื่นบาทในปี 2553 เป็น 1.5 แสนบาท ในปี 2559 และ 16% ของคน ที่มีหนี้ หรือประมาณ 3 ล้านคน มีหนี้ที่มีสถานะค้างชำระเกินกว่า 90 วัน สะท้อนถึง การขาดวินัยและการขาดทักษะในการบริหารจัดการเงิน
          
ทั้งนี้โครงการคลินิกแก้หนี้ ในช่วงแรกจะครอบคลุม เฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคล ที่ไม่มีหลักประกัน มีเจ้าหนี้ที่เป็นธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วมโครงการตั้งแต่ 2 ราย ขึ้นไป และมีสถานะเป็นหนี้เสียคือค้างชำระมากกว่า 90 วัน ก่อนวันที่ 1 พ.ค. 2560  ซึ่งบริษัทข้อมูลเครดิตเบื้องต้นพบว่า อาจจะ มีลูกหนี้ในกลุ่มนี้ประมาณ 5 แสนราย ยอดเงินรวมกันมากกว่า 1 แสนล้านบาท
        
นายปรีดี ดาวฉาย  ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า โครงการนี้จะนำหนี้เสีย ของลูกค้าหลายสถาบันมาแก้ปัญหาใน คราวเดียวกัน โดยมีแซม เป็นคนบริหารจัดการ ให้ลูกค้าผ่อนชำระยาวตามจำนวนเงินที่เหมาะสมแต่ละราย คิดดอกเบี้ย ไม่เกิน 7% ต่อปี จากปัจจุบันเพดานดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้บัตรเครดิตอยู่ที่ 20% ส่วนสินเชื่อบุคคลอยู่ที่ประมาณ 28%
          
อย่างไรก็ตามในช่วงเวลาที่เข้า โครงการก็จะจะก่อหนี้ไม่ได้ ยกเว้นเป็น เรื่องฉุกเฉินที่ได้มีการยกเว้นให้ ซึ่งใน ช่วงแรกอาจจะใช้สาขาของแซมไปก่อน แต่ต่อไปอาจจะใช้เครือข่ายสาขาของแบงก์ด้วย ในส่วนของกสิกรไทย มีลูกหนี้ที่มีคุณสมบัติเข้าร่วมโครงการได้ 6-7 หมื่นราย วงเงิน รวม 3-4 พันล้านบาท 
      
ทั้งนี้คุณสมบัติของผู้เข้าร่วมโครงการ ต้องเป็นบุคคลธรรมดา มีเงินเดือนประจำ มีหนี้ค้างชำระเกิน 90 วัน ตั้งแต่ 2 ธนาคารขึ้นไป ก่อนวันที่ 1 พ.ค. มียอดหนี้เงินต้นค้างชำระไม่เกิน 2 ล้านบาท อายุไม่เกิน 65 ปี และต้องเต็มใจไม่ก่อหนี้เพิ่มในช่วงที่เข้าโครงการ
         
ส่วนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการ จะไม่มีการลดเงินต้นให้  ส่วนดอกเบี้ยค้างชำระ เบี้ยปรับ ค่าธรรมเนียมล่าช้า ก่อนเข้า โครงการ จะยกให้เมื่อลูกหนี้ชำระหนี้ เสร็จสิ้น ต้องชำระงวดแรก ณ วันทำสัญญา  โดยอัตราดอกเบี้ยจะคิดไม่เกิน 7% เวลาชำระไม่เกิน 10 ปี  และลูกหนี้ต้องไม่ก่อหนี้ใหม่ภายใน 5 ปี หากมีเหตุจำเป็น ขอผ่อนผันการชำระหนี้เป็นการชั่วคราวได้ ขณะเดียวกันจะจัดให้ลูกหนี้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับความรู้การเงิน การวางแผนและการการออมและการใช้จ่าย
     
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 18 พ.ค. 2560 เวลา : 21:12:04
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 1:42 pm