แบงก์-นอนแบงก์
CIMBTคงเป้าจีดีพี3.2%ห่วงลงทุนเอกชนชะลอ- เสนอ3นโยบายเร่งศก.โต


ดร.อมรเทพ  จาวะลา  ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน)(CIMBT) เปิดเผยว่า ธนาคารยังคงเป้าหมายอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยปีนี้ที่ระดับ 3.2%  แม้ภาคการส่งออกจะเติบโตได้สูงกว่าที่คาดไว้   จากราคาสินค้าเกษตรที่ฟื้นตัวขึ้น แต่ก็เชื่อว่าในครึ่งปีหลังก็น่าจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง  เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรและปิโตรเลียมจะไม่เปลี่ยนแปลงจากปีก่อนมากนัก  ขณะที่ปัจจัยที่น่าเป็นห่วงได้แก่ การลงทุนภาคเอกชนที่ยังไม่ฟื้นและยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัวที่ชัดเจน เนื่องจากความเชื่อมั่นที่ยังไม่เกิดและอุปทานส่วนเกินที่ยังมีอยู่มาก 


ดังนั้นรัฐบาลต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับเอกชน โดยการส่งสัญญาณให้ชัดเจนว่าโครงการการลงทุนของรัฐยังมีต่อเนื่องไปจนถึงรัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งในปี 2561  ซึ่งจะช่วยให้ความมั่นใจดีขึ้น แต่หากการเมืองไม่เป็นไปตามโรดแมฟ จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นเอกชนลดลงจะทำให้เศรษฐกิจไทยโตต่ำเป็นระยะเวลานานในลักษณะรูปตัว L โอกาสเศรษฐกิจไทยจะโตมากกว่าร้อยละ 4 ในช่วงปลายปี 2561 คงจะเป็นไปได้ยาก
      
ส่วนอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยนั้น มองว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)จะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 1.50%ไปจนถึงปลายปีนี้   เนื่องจากเศรษฐกิจไทยที่ยังเติบโตได้ช้า และหากอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯจะเพิ่มขึ้นอีกสองครั้งไปสู่ระดับ 1.50%เท่ากับไทยในช่วงปลายปีนี้ ก็ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ไทยต้องขยับดอกเบี้ยหนี้สหรัฐฯ  โดยคาดว่าในช่วงปลายปีเงินบาทจะอยู่ที่ระดับ 35.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จากเดิมที่คาดการณ์ที่ 36.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ  

 
 
นายอมรเทพกล่าวอีกว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงอีกเรื่องคือผลข้างเคียงหลังจากไทยคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำมาเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้เกิดความเสี่ยงจากการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงได้ อาทิ การชวนเชื่อหรือหลอกลวงให้ประชาชนไปลงทุนในสิ่งที่ได้ผลตอบแทนสูง ทำให้สูญเสียรายได้ที่เก็บออมมาทั้งชีวิตมากขึ้น   ดังนั้น กนง.ควรทมีการทบทวนนโยบายดอกเบี้ยเพื่อจัดสมดุลเศรษฐกิจ ไม่ให้ก่อปัญหาด้านใดด้านหนึ่งที่จะลามเป็นวิกฤติได้ในระยะยาว

ทั้งนี้ซีไอเอ็มบีไทยยังได้เสนอนโยบาย “3ลด”  เร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยในอนาคต เพื่อให้เศรษฐกิจไทยสามารครถเติบโตได้เหนือ 4% และก้าวพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลางไปได้ ได้แก่ 1.ลดขนาดภาครัฐให้อยู่ในกรอบการกระจายรายได้และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของสาธารณะ เพี่อลดภาระรายจ่าย และเพิ่มบทบาทให้ภาคเอกชนมากขึ้น ซึ่งจะทำให้รัฐสามารถปรับลดภาษีได้โดยไม่กระทบกับหนี้สาธารณะ และช่วยในการกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนได้ด้วย

2.ลดกฎระเบียบในการทำธุรกิจให้คล่องตัว เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของเอกชน และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจไทยในเวทีโลก ไม่เช่นนั้นแล้วนักลงทุนต่างชาติอาจยังลังเลที่จะใช้ไทยเป็นฐานการผลิตได้ และ3.ลดกำแพงกั้นเพื่อนบ้าน โดยเปิดประเทศให้กว้างและลึกขึ้น เพื่อสร้างความเข้มแข็งของไทยอย่างยั่งยืน
 

LastUpdate 05/06/2560 15:11:11 โดย : Admin
24-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 24, 2024, 7:24 pm