แบงก์-นอนแบงก์
ยกระดับความร่วมมือ "ไทย-เมียนมา"


ฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ระบุว่า  "น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า” คำเปรียบเปรยดังกล่าวคงจะไม่เกินไปนักหากจะใช้แทนความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและเมียนมาที่มีความแนบแน่นขึ้นเป็นลำดับตลอด 10 ปีที่ผ่านมา  สะท้อนได้จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด ทั้งในมิติด้านการค้าและการลงทุน


แม้ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศดำเนินไปอย่างราบรื่นตลอดมา แต่ด้วยบริบทการค้าการลงทุนของโลกยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทั้งเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศที่มีความไม่แน่นอนสูง ประกอบกับมีการใช้มาตรการกีดกันทางการค้ามากขึ้น ปัจจัยดังกล่าวทำให้ไทยและเมียนมาจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่ง “ยกระดับ” ความร่วมมือทางเศรษฐกิจจากการเป็นเพียง “ผู้ซื้อและผู้ขาย” ที่ต่างฝ่ายต่างมองประโยชน์ของตนเป็นที่ตั้ง สู่การเป็น “หุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ” (Economic Cooperative Partners) ที่จะสร้างประโยชน์ทางการค้าการลงทุนร่วมกันในลักษณะ Win-Win Strategy ผ่านการเชื่อมโยงจุดแข็ง (Connecting the Strengths) และปิดจุดอ่อน (Closing the Weaknesses) ซึ่งกันและกัน 

ไทยและเมียนมาต่างมีจุดแข็งและจุดอ่อนที่แตกต่างกันแต่สามารถเติมเต็มกันได้อย่างลงตัว สะท้อนได้จากความพร้อมในแง่ปัจจัยการผลิตที่นำมาใช้ผลิตสินค้าและบริการซึ่งจะก่อให้เกิดความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจไปด้วยกัน  

โดยพบว่าเมียนมามีจุดแข็งในด้านที่ดิน (ทรัพยากรธรรมชาติ) และแรงงานราคาถูกที่มีอยู่จำนวนมาก ขณะที่ไทยก็มีจุดเด่นในด้านทุน (เครื่องจักร และเทคโนโลยีการผลิต) และผู้ประกอบการที่มีความเข้มแข็งในหลายอุตสาหกรรม ปัจจัยเกื้อหนุนข้างต้นถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น อาทิ เสื้อผ้าและรองเท้า และอุตสาหกรรมที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติเป็นวัตถุดิบหลัก อาทิ เกษตรแปรรูป พลังงาน

ซึ่งควรมองหาลู่ทางเข้าไปลงทุนในเมียนมาเพื่อเชื่อมโยงจุดแข็งของทั้งสองประเทศเข้าด้วยกันผ่านการยกระดับห่วงโซ่อุปทานในขั้นตอนที่แต่ละฝ่ายเชี่ยวชาญ ในขณะที่ภาครัฐของทั้งสองประเทศกำลังร่วมกันพัฒนาเศรษฐกิจทั้งในด้าน Hard Side อาทิ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางคมนาคมเพื่อเชื่อมโยงทั้งสองประเทศเข้าด้วยกัน และด้าน Soft Side อาทิ การขจัดอุปสรรคทางการค้าการลงทุนระหว่างกันให้เหลือน้อยที่สุด ตลอดจนการร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ของบุคลากรทั้งสองประเทศ เพื่อเติมเต็มศักยภาพซึ่งกันและกัน  ยิ่งไปกว่านั้น  ไทยและ   เมียนมาถือเป็นจิกซอว์ชิ้นสำคัญในการเชื่อมโยงกลุ่มประเทศ CLMVT (ประกอบด้วย กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย) เข้าด้วยกัน  เนื่องจากทั้งสองประเทศมีจุดแข็งทางภูมิศาสตร์ในการเป็นสะพานเชื่อมไปยังตลาดศักยภาพหลายแห่ง กล่าวคือ เมียนมาถือเป็น Super Highway ไปสู่ตลาดที่มีประชากรมากที่สุดในโลกอย่างจีนและอินเดีย

ขณะที่ไทยเองก็เป็นจุดเชื่อมของ 4 ตลาดที่มีเศรษฐกิจขยายตัวสูงที่สุดในโลกอย่างกลุ่มประเทศ CLMV ทำให้หากมีการสร้างความเชื่อมโยงภายใต้ยุทธศาสตร์ CLMVT อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นผ่านการพัฒนาเส้นทางตามแนวระเบียงเศรษฐกิจ (Economic Corridors) ต่างๆ โดยล่าสุดประเทศไทยมีโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor) ครอบคลุม 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา เพื่อเชื่อมโยงกับ Economic Corridors เดิม โดยเฉพาะ Southern Economic Corridor และโครงการเส้นทางสายไหมเส้นใหม่ (One Belt One Road) ของจีน ซึ่งจะช่วยขยายเครือข่ายตลาดการค้าการลงทุนและการแลกเปลี่ยนปัจจัยการผลิตระหว่างกัน อันจะช่วยยกระดับการผลิตจากเดิมที่ต่างคนต่างผลิตไปสู่การที่ทุกประเทศเข้ามามีส่วนร่วมในห่วงโซ่การผลิตของอนุภูมิภาคร่วมกัน
 
แนวทางข้างต้นถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่จะช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองและหนุนให้การค้าการลงทุนภายในอนุภูมิภาค CLMVT แข็งแกร่งมากขึ้น และเติบโตไปด้วยกันอย่างมั่นคงภายใต้บริบทการค้าการลงทุนของโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 09 มิ.ย. 2560 เวลา : 17:38:19
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 7:14 am