แบงก์-นอนแบงก์
ออมสิน-ธรรมศาสตร์โมเดล สำเร็จลุล่วงยกระดับภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างบูรณาการ


ณ หอประชุมบุรฉัตร ธนาคารออมสินสำนักงานใหญ่ ได้มีพิธีส่งมอบงานกิจกรรมเสริมสร้างและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งเกิดจากความร่วมมือกันระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับ ธนาคารออมสิน (ออมสิน – ธรรมศาสตร์โมเดล) โดยมี นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน และ รองศาสตราจารย์ ดร.พิภพ อุดร คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการรบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมในพิธี


นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ตามที่ธนาคารออมสิน ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสริมสร้างและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อพัฒนาระบบเศรษฐกิจในระดับชุมชน ในรูปแบบ “ออมสิน-ธรรมศาสตร์โมเดล” ซึ่งได้มีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกันไปเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2559 โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้นำนักศึกษาหลักสูตรควบปริญญาตรี-ปริญญาโททางการบัญชีและบริหารธุรกิจ จำนวน 64 คน เข้าร่วมการพัฒนากลุ่มผู้ประกอบการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (โอทอป) กลุ่มวิสาหกิจชุมชน จำนวน 6 กลุ่ม ในช่วงตั้งแต่ต้นปี 2560 เป็นต้นมา ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี นักศึกษาสามารถนำความรู้ความสามารถจากกิจกรรมในครั้งนี้ไปพัฒนาตามความเหมาะสมในโอกาสต่างๆ ต่อไป

สำหรับกลุ่ม กลุ่มโอทอป-วิสาหกิจชุมชนที่ธนาคารฯ ได้คัดเลือกเข้าร่วมโครงการทั้ง 6 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรมหาสวัสดิ์ และ กลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์จากฟักข้าว อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม, กลุ่มอาชีพแปรรูปข้าวสาร และกลุ่มหัตถกรรมชุมชนตำบลพงตึก อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี, กลุ่มแม่บ้านบ้านท่ากระดาน หมู่ 2 และกลุ่มขนมบ้านทุ่งนา อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี ซึ่งนักศึกษาหลักสูตรปริญญาตรี-ปริญญาโททางการบัญชีและบริหารธุรกิจ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าร่วมกิจกรรม เพื่อให้ศึกษาวิเคราะห์และพัฒนาองค์ความรู้ทางธุรกิจมาประยุกต์ใช้ในการวางแผนและแก้ไขปัญหา ประกอบด้วย จัดการด้านทรัพยากร รูปลักษณ์ผลิตภัณฑ์ และตราสินค้า พัฒนากระบวนการผลิต ทำแผนการเงิน และจัดทำบัญชี การวางแผนการตลาด และช่องทางการจัดจำหน่าย

ขณะเดียวกัน กิจกรรมทั้งหมดนี้ จะทำให้ประชาชนในชุมชนสามารถส่งเสริมองค์ความรู้นี้ พร้อมๆ กับยกระดับความสามารถในการบริหารจัดการ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ หรือบริการต่างๆ ที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นจากทุนของชุมชน จนก้าวสู่ความพร้อมที่จะแข่งขันเพื่อพัฒนา ที่สำคัญคือ องค์ความรู้ที่ได้สามารถสร้างเป็นฐานข้อมูลในการพัฒนาและส่งเสริมกิจกรรมกลุ่มองค์กรชุมชน เพื่อนำภูมิปัญญาท้องถิ่นไปเผยแพร่และขยายผลต่อไป

 “ตลอด 5 เดือนที่ผ่านมาของกิจกรรมนี้ จากการร่วมเรียนรู้ ร่วมปฏิบัติ ร่วมพัฒนาระหว่างนักศึกษาและชาวบ้านสมาชิกในกลุ่ม ช่วยให้กลุ่มโอทอปและวิสาหกิจชุมชนทั้ง 6 แห่ง มีพัฒนาการอย่างเห็นได้ชัด เช่น ทำให้มีช่องทางการตลาดตรงตามความต้องการของกลุ่ม รู้จักวิธีการจดบันทึกรายได้-ค่าใช้จ่าย อย่างเป็นระบบ เกิดความร่วมมือกันในชุมชน โดยบางกลุ่มมีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 340% ซึ่งธนาคารออมสินในฐานะที่ดูแลลูกค้าในระดับฐานราก จะสนับสนุนและต่อยอดเพื่อให้กลุ่มเหล่านี้มีพัฒนาการต่อไป ขณะเดียวกัน ธนาคารออมสินต้องขอบคุณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เข้ามาร่วมโครงการที่ดีนี้ เพราะสามารถดึงความคิดและศักยภาพของนักศึกษาคนรุ่นใหม่ออกมาใช้กับการดำเนินชีวิตจริงๆ ของประชาชนผู้ประกอบอาชีพด้วย” ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าว

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 09 มิ.ย. 2560 เวลา : 19:46:33
27-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 27, 2024, 8:59 am