เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
สคร. ดันกฎหมายร่วมทุนใน EEC สู่มาตรฐานสากล


นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในฐานะรองประธานอนุกรรมการจัดทำระเบียบการร่วมทุนเอกชนในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อนุกรรมการจัดทำระเบียบการร่วมทุนฯ) เปิดเผยว่า วันนี้ (วันที่ 6 กรกฎาคม 2560) คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (คณะกรรมการนโยบาย EEC) ในการประชุมครั้งที่ 2/2560 ได้เห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการนโยบาย EEC เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และกระบวนการในการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน พ.ศ. .... (ระเบียบ EEC Track) ตามที่ สคร. ได้ยกร่างขึ้น เพื่อยกระดับกฎหมายร่วมทุนในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ให้เป็นมาตรฐานสากล มีความโปร่งใส และรวดเร็วมากขึ้น พร้อมสนับสนุนให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนพัฒนา EEC 


โดยผ่านหลักการ 5Cs 
1. Certainty การสร้างความชัดเจนในการพัฒนาโครงการและมาตรการส่งเสริมให้เอกชนร่วมลงทุนใน EEC
2. Consolidation การบูรณาการการทำงานร่วมกันของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อลดความซ้ำซ้อน ไม่จำเป็น
3. Concurrence การดำเนินการคู่ขนานพร้อมรับฟังความคิดเห็นภาคเอกชนและภาครัฐในทุกขั้นตอน เพื่อสร้างความเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัฐและเอกชน (Public-Private Partnership) ที่แท้จริง
4. Check & Balance การเปิดเผยข้อมูล โปร่งใส และตรวจสอบได้ โดยให้รายงานและเปิดเผยข้อมูลโครงการให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน และสาธารณะ รวมทั้งให้นำแนวทางและวิธีการในการดำเนินการป้องกันการทุจริตหรือข้อตกลงคุณธรรมมาใช้ด้วย
5. Commitment การกำหนดหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการที่ชัดเจนเพื่อให้เกิดความมุ่งมั่นและรับผิดชอบในความสำเร็จของโครงการ

ทั้งนี้ ระเบียบ EEC Track จะใช้เฉพาะกับโครงการ PPP ที่สำคัญและมีความพร้อมตามแผนการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC Project List) เท่านั้น ส่วนโครงการ PPP อื่นยังต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 (พ.ร.บ. ร่วมลงทุนฯ ปี 2556) เช่นเดิม 

นางปานทิพย์ ศรีพิมล ที่ปรึกษาด้านพัฒนารัฐวิสาหกิจ ในฐานะอนุกรรมการและเลขานุการคณะอนุกรรมการจัดทำระเบียบการร่วมทุนฯ กล่าวเสริมว่า วันนี้คณะกรรมการนโยบาย EEC ได้กำหนดโครงการ EEC Project List จำนวน 4 โครงการ ได้แก่ 1) โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก (Aerotropolis) วงเงิน 310,383 ล้านบาท 2) โครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน วงเงิน 215,100 ล้านบาท 3) โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะ 3 วงเงิน 155,834 ล้านบาท และ 4) โครงการท่าเรือมาบตาพุด ระยะ 3 วงเงิน 10,154 ล้านบาท รวมวงเงินลงทุนทั้งสิ้น 691,471 ล้านบาท

ผู้อำนวยการ สคร. กล่าวทิ้งท้ายว่า ปัจจุบัน สคร. อยู่ระหว่างปรับปรุง พ.ร.บ. ร่วมลงทุนฯ ปี 2556 เพื่อให้เกิดความชัดเจน คล่องตัว โปร่งใส และสามารถสนับสนุนให้โครงการร่วมลงทุนเกิดได้รวดเร็วและเป็นมาตรฐานสากลมากขึ้นเช่นเดียวกับระเบียบ EEC Track ที่ สคร. ได้ยกร่างขึ้น

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 06 ก.ค. 2560 เวลา : 21:12:38
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 10:14 pm