อสังหาริมทรัพย์
เอสซีจี เปิดตัว "Open Innovation Center" ต่อยอดธุรกิจจากทั่วโลก เสริมขีดความสามารถแข่งขันอุตสาหกรรมไทยสู่อาเซียน


เอสซีจี ตอกย้ำวิสัยทัศน์ผู้นำองค์กรนวัตกรรมอย่างยั่งยืนในอาเซียน เปิดตัว “Open Innovation Center” ศูนย์กลางการเปิดรับความร่วมมือด้านงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมกับภาครัฐ-เอกชน-การศึกษาทั่วโลก หวังเกิดเครือข่ายสร้างสรรค์นวัตกรรม พร้อมผลักดันงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เพื่อตอบสนองความต้องการและยกระดับคุณภาพชีวิตผู้บริโภค

 

การเปิดตัว “Open Innovation Center” ของเอสซีจี ถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสสำคัญของเหล่านักวิจัย ทั้งผู้ที่เคยมีความร่วมมือกับเอสซีจีอยู่แล้ว หรือผู้ที่มีแนวคิดใหม่ๆ ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่ออนาคต ตลอดจนผู้ที่ต้องการนวัตกรรมเพื่อใช้ในการพัฒนาหรือแก้ปัญหาของธุรกิจ เพราะเอสซีจีมีทั้งทรัพยากร เครื่องมือปฏิบัติการ ตลอดจนวิธีการทำงานที่เป็นระบบ มีประสิทธิภาพ และเป็นการทำงานร่วมกันกับผู้เชี่ยวชาญ จึงมีความรวดเร็วกว่าวิธีการทำ R&D ทั่วไปที่พร้อมเปิดกว้างให้ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมเป็น Solution Partner ในการพัฒนาเทคโนโลยี กระบวนการผลิต และผลิตภัณฑ์

 

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวในพิธีเปิด Open Innovation Center ของเอสซีจี ว่า “การจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการผนึกกำลังของทุกภาคส่วน ภายใต้การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของโลกที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นที่มาของโมเดลการขับเคลื่อน “ไทยแลนด์ 4.0” เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจไทยมีศักยภาพที่จะสามารถปรับเปลี่ยนจากประเทศรายได้ปานกลางเป็นประเทศรายได้สูง จากเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยประสิทธิภาพเป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม และจากยุคของสังคมที่เน้นองค์ความรู้สู่ยุคของสังคมที่เน้นการยกระดับคุณภาพชีวิต ซึ่ง Open Innovation Center ของเอสซีจีแห่งนี้ สามารถเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนสำคัญจากภาคเอกชน ที่จะช่วยทำให้เป้าหมายดังกล่าวของประเทศเกิดขึ้นได้จริง”

ดร.อรรชกา สีบุญเรือง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า “การวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ถือเป็นกระบวนการสำคัญในการผลักดันประเทศไทยให้สามารถเข้าสู่โครงสร้างเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ได้จริง ซึ่งการเปิดตัว Open Innovation Center จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน ในการร่วมกันต่อยอดองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อนำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรม และยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยให้มีความพร้อมเข้าสู่การแข่งขันอย่างทัดเทียมในภูมิภาคอาเซียน”

 

ด้าน นายชลณัฐ ญาณารณพ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี และประธานคณะทำงาน SCG Innovation Committee กล่าวว่า ด้วยความรู้ความสามารถของบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาในเอสซีจีที่มีกว่า 1,800 คน และการให้ความสำคัญกับงาน R&D ดังกล่าวโดยวางแผนทุ่มงบประมาณปีละกว่า 6,000 ล้านบาท ประกอบกับประสบการณ์และความเข้าใจในกลุ่มลูกค้าจากการดำเนินธุรกิจมายาวนาน ทั้งในตลาดประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน ทำให้มั่นใจได้ว่า Open Innovation Center มีศักยภาพที่จะเสริมความแข็งแกร่งของการพัฒนานวัตกรรมให้กับทั้ง 3 กลุ่มธุรกิจของเอสซีจี รวมไปถึงพาร์ทเนอร์ที่สนใจ เพื่อสร้างสรรค์สินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (HVA) ได้รวดเร็วขึ้น พร้อมตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลายมากขึ้นได้ดียิ่งขึ้น

“R&D เป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้แก่เอสซีจี โดยในปี 2559 ที่ผ่านมา เอสซีจีมียอดขายจากกลุ่ม HVA ถึง 1.6 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 38% ของรายได้จากการขายรวม วันนี้เรายังคงเดินหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้ง โดยนำความเชี่ยวชาญด้านการสร้างสรรค์นวัตกรรมมาพัฒนาเป็น Open Innovation Center ด้วยความมุ่งหวังจะใช้เป็นศูนย์กลางที่เปิดกว้างให้เกิดความร่วมมือด้าน R&D ระหว่างเอสซีจี กับทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษาของทั้งไทยและต่างประเทศ เพื่อดึงศักยภาพของแต่ละภาคส่วนมาแลกเปลี่ยนกันในการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อยกระดับสินค้าและบริการที่สามารถส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ผู้บริโภค” นายชลณัฐ กล่าว

นอกจากนี้ Open Innovation Center ยังเปิดพื้นที่สนับสนุนการทำ R&D อย่างเป็นระบบให้แก่เครือข่ายสตาร์ทอัพจากทั่วโลกที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property) ในการดำเนินงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Sci-Tech) เพื่อร่วมพัฒนานวัตกรรมที่มีศักยภาพสูงกับเอสซีจี ในกลุ่ม Materials, Clean Tech และ Sensor & IoT ก่อนนำไปสู่การต่อยอดธุรกิจร่วมกันในอนาคตอีกด้วย

 

Open Innovation Center ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 1,600 ตร.ม. ในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ชุมชนที่เป็นศูนย์กลางด้าน R&D ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ซึ่งมีนักวิจัยอยู่รวมกันกว่า 5,000 คน ภายในศูนย์ฯ แบ่งออกเป็น 4 โซนหลัก ได้แก่ โซนจัดแสดงผลงาน (Exhibition) เพื่อต่อยอดการวิจัยระหว่างนักวิจัยเอสซีจีและพันธมิตร,โซนห้องสัมมนาและห้องประชุม (Conference) เพื่อใช้เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักวิจัย,ห้องปฏิบัติการ (Laboratory) เพื่อให้ผู้พัฒนาเทคโนโลยีที่อยู่ในความสนใจของเอสซีจีใช้วิจัยและพัฒนา และโซนออฟฟิศ สำหรับนักวิจัยและทีมประจำศูนย์ของเอสซีจี

ทั้งนี้ Open Innovation Center กำหนดขอบข่าย 60 กลุ่มเทคโนโลยี (Technology Platform) ที่สนใจและพร้อมหาความร่วมมือ สอดคล้องกับ 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ 1.) ธุรกิจซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง 2.) ธุรกิจเคมิคอลส์ และ 3.) ธุรกิจแพคเกจจิ้ง ที่เอสซีจีมีความเชี่ยวชาญ ทั้งองค์ความรู้ ประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจ และการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าอย่างแท้จริง เพื่อนำพากลุ่มเป้าหมายที่ต้องการร่วมมือกับเอสซีจี เข้าสู่โปรแกรมการทำ R&D อย่างเป็นระบบร่วมกันและพัฒนาไปเป็นนวัตกรรม ทั้งในรูปแบบของการส่งเสริมประสิทธิภาพกระบวนการผลิต หรือก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ ภายใต้จุดมุ่งหมายเพื่อการดำเนินธุรกิจร่วมกันอย่างยั่งยืนต่อไป

 

“เอสซีจี มุ่งหวังให้ Open Innovation Center สร้างประโยชน์กับทุกภาคส่วน ทั้งการผลักดันงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรม และการสร้างความยั่งยืนให้กับภาคธุรกิจด้วยการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ การเปิดโอกาสให้ภาคการศึกษาได้มีประสบการณ์ในการทดลองใช้นวัตกรรมต่างๆ กับผู้บริโภคโดยตรง ด้วยค่าใช้จ่ายที่น้อยกว่า รวมทั้งการสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจไทยและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยสู่ระดับอาเซียน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของภาครัฐด้วย” นายชลณัฐ กล่าวทิ้งท้าย


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 20 ก.ค. 2560 เวลา : 05:59:10
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 12:29 am