แบงก์-นอนแบงก์
บล.ไทยพาณิชย์ คาดตลาดเคลื่อนไหวในกรอบแคบ เชื่อเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง


บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) คาดการณ์ว่า ตลาดหุ้นไทยจะปรับตัวขึ้นในกรอบแคบ ในช่วงไตรมาส 3/60 โดยมองเป้าหมายดัชนีที่ 1,650 จุดก่อนที่ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 1,700 จุดในไตรมาสสุดท้ายของปี โดยเสนอแนะกลยุทธ์การลงทุน คือ การหมุนออกจากกลุ่มที่มี Valuation แพง ไปยังกลุ่มที่มี Valuation ถูกกว่า และ/หรือ ไปยังบริษัทที่ราคาหุ้นปรับขึ้นช้ากว่าหุ้นในกลุ่มเดียวกัน โดยมี Top Picks สำหรับไตรมาส 3/60 ได้แก่ BDMS, CHG, PTT, IRPC, KCE, และ SVI


นายอิสระ  อรดีดลเชษฐ์  ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์กรลงทุน สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มจะเติบโตในอัตราที่ชะลอตัวลงเล็กน้อย หลังจากเติบโตดีมากในไตรมาส 1/60 โดยเห็นสัญญาณการชะลอตัวลงในสหรัฐฯ และจีน  อย่างไรก็ดี โมเมนตัมการเติบโตที่ชะลอตัวลงในสหรัฐฯ คาดว่าจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวเมื่อพิจารณาจากตลาดแรงงานที่อยู่ในภาวะแข็งแกร่ง และสัญญาณการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศในระยะหลังนี้ สถานการณ์เช่นนี้ทำให้มีแนวโน้มสูงที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด จะสามารถคงแนวโน้มการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น รวมถึงการเริ่มปรับลดขนาดงบดุลลงตามที่ได้ส่งสัญญาณไว้ก่อนหน้า ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจจากยูโรโซนยังคงดูสดใส และคาดว่าจะมีโมเมนตัมเชิงบวกที่แข็งแกร่งจากการใช้จ่ายอุปโภคบริโภคและการลงทุน โดยความไม่แน่นอนทางการเมืองในยูโรโซนไม่ได้เป็นปัจจัยคุกคามสำคัญต่อแนวโน้มเศรษฐกิจยูโรโซนอีกต่อไป

SCBS ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มแข็งแกร่งมากขึ้น แม้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังไม่ได้เกิดขึ้นในวงกว้าง อย่างไรก็ตามโมเมนตัมการเติบโตในปัจจุบันปรับตัวดีขึ้นในอัตราที่น่าพอใจโดยที่เศรษฐกิจไทยนั้นขยายตัวแข็งแกร่งกว่าคาดในไตรมาส 1/60 กระตุ้นให้สำนักวิจัยต่างๆ เริ่มปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสำหรับปีนี้และปีหน้า ปัจจัยสำคัญที่ช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจเติบโตยังคงเป็นการใช้จ่ายอุปโภคบริโภค การลงทุนภาครัฐ รวมถึงการส่งออกสินค้าและบริการ  อย่างไรก็ตามการฟื้นตัวของปัจจัยดังกล่าวในปัจจุบันยังไม่เพียงพอที่จะลดกำลังการผลิตส่วนเกินลงสู่ระดับที่กระตุ้นให้เกิดการลงทุนภาคเอกชนรอบใหม่

การที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของไทยนั้นเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ มาตั้งแต่ช่วงต้นปีท่ามกลาง EPS ที่ปรับตัวดีขึ้นในช่วงที่ผ่านมา  ทำให้ valuation ของตลาดไทยไม่ได้แพงอีกต่อไป เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต และเมื่อเทียบกับตลาดอื่นๆ ในภูมิภาค  SCBS คาดว่า ตลาดจะปรับตัวขึ้นได้ในกรอบแคบๆ ในไตรมาส 3/60 โดยชื่นชอบกลุ่มหรือหุ้น laggard ที่มีปัจจัยเฉพาะตัวสนับสนุนให้กำไรเติบโต

หุ้น Top Picks ประจำไตรมาส 3/60 เมื่ออิงกับการคัดเลือกหุ้น laggard และมุมมองแบบ Bottom-up จากนักวิเคราะห์ของ SCBS  ทำให้บริษัทเลือกหุ้นในกลุ่มการแพทย์ พลังงาน และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็น อุตสาหกรรมเด่นสำหรับไตรมาส 3/60 ซึ่งประกอบด้วยบริษัท BDMS, CHG, IRPC, KCE, PTT, และ SVI โดยแต่ละตัวมีไฮไลท์ โดยสรุปดังนี้

·      บมจ. กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS): ราคาหุ้นร่วงแรงเกินไปจากกำไรที่ชะลอตัวลงในไตรมาส 1/60  Core EPS จะปรับตัวดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้จากการควบคุมต้นทุน ตามด้วยการขยายตัว 20% ในปี 2561 จากผลการดำเนินงานโรงพยาบาลเดิมที่ดีขึ้นและโรงพยาบาลใหม่ที่ขาดทุนลดลง

·      บมจ. โรงพยาบาลจุฬารัตน์ (CHG): ราคาปรับตัวลงลึกจากการชะลอตัวของผู้ป่วยเงินสดในไตรมาส 1/60  Core EPS มีแนวโน้มดีขึ้นจากการปรับเพิ่มอัตราเหมาจ่ายรายหัวในระบบประกันสังคม (ไตรมาส 3/60) และจะขยายตัวได้ 31% ในปีหน้า

·      บมจ. ไออาร์พีซี (IRPC): ราคาหุ้น IRPC ลดลงมาแล้ว 11% จากกลางเดือน เม.ย. เทียบกับหุ้นโรงกลั่นตัวอื่นๆ ที่ราคาลดลง  -2% ถึง -5%  GRM น่าจะปรับตัวดีขึ้น ในภาวะราคาน้ำมันต่ำและความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น

·      บมจ. เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ (KCE): หุ้น laggard Play ในอุตสาหกรรมที่อยู่ในวัฏจักรขาขึ้น กำไรมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในครึ่งหลังของปีและขยายตัวได้ 34% ในปี 2561 จากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นจากอุตสาหกรรมรถยนต์ และต้นทุนทองแดงที่ดีขึ้น

·      บมจ. ปตท. (PTT): ราคาหุ้น PTT ที่ลดลงมาแล้ว 10% จากยอดสูงเดือน ม.ค. 60 น่าจะเป็นโอกาสซื้อ  SCBS ชื่นชอบที่บริษัททำธุรกิจแบบครบวงจรและมีสัดส่วนกำไรจากธุรกิจที่มีเสถียรภาพอย่างสาธารณูปโภคเพิ่มขึ้น

·      บมจ. เอสวีไอ (SVI): ราคาหุ้นพลาดโอกาสในการวิ่งขึ้นพร้อมกับกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ในช่วงที่ผ่านมา เพราะอยู่ในกระบวนการควบรวมกิจการหลังจากเข้าซื้อกิจการครั้งใหญ่ในยุโรป กำไรจะเติบโตอย่างแข็งแกร่งในครึ่งปีหลัง เมื่อรับรู้ประโยชน์จากการควบรวมกิจการ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้กำไรเติบโต 61% ในปี 2560 และ 21% ในปี 2561

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 20 ก.ค. 2560 เวลา : 15:25:57
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 10:05 am